การทุ่มทุนกว่า 188,000 ล้านบาท ซื้อหุ้นแม็คโครของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จากกลุ่มบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี (เอสเอชวี) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัทในเครือ ถือเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญล่าสุดของธนินท์ เจียรวนนท์ ในการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการปรับกระบวนทัพยึดทุกช่องทางค้าปลีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมหาศาล
แม้วงการค้าปลีกมองดีลครั้งนี้เป็นการลงทุนที่แพงมาก แต่สำหรับซีพีถือเป็นการลงทุนที่สามารถต่อยอดหลายชั้น เนื่องจากเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ เนื้อดิบๆ กึ่งปรุงสุก ปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และการเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร
ขณะที่แม็คโครเป็นผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์ค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตัวเอง (Cash & Carry) มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ร้านค้าปลีก ร้านโชวห่วย โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจจัดเลี้ยง (โฮเรก้า) สถาบันการศึกษา และสำนักงานต่างๆ ในรูปแบบสมาชิกจำนวนมากกว่า 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ และยังไม่มีคู่แข่งชัดเจน แม้บิ๊กซีเริ่มขยายสาขา “บิ๊กซีจัมโบ้” แห่งแรกที่สำโรง เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มร้านค้าปลีกและผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองตลาดและยังไม่มีแผนขยายสาขาใหม่
การซื้อหุ้นแม็คโครจึงเท่ากับการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการให้ซีพีทันที เฉพาะในประเทศไทยเกือบ 3 ล้านคน ยอดขายมากกว่า 100,000 ล้านบาททันที ไม่รวมตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายสาขาภายใต้แบรนด์ “แม็คโคร” ได้ทันที เป็นการแก้ปัญหาการขอไลเซนส์กับ “เซาท์แลนด์” บริษัทแม่เซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ดูเหมือนต้องรอเวลาอีกนานหลายปี
กรณีการขอสิทธิ์ทำตลาดในประเทศจีน 3 มณฑล ได้แก่ เจ้อเจียง ยูนนาน ซุนเจียง ซึ่งยื่นไปก่อนหน้านี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเร็วในปี 2557 หรืออย่างช้าไม่มีกำหนด
หากดูมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท และผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดย 2555 มียอดขาย 112,140 ล้านบาท เติบโต 15% เทียบปี 2554 มีรายได้ 96,000 ล้านบาท กำไรสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 3,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36%
ขณะเดียวกัน ตามแผนปี 2556 สยามแม็คโครเตรียมขยาย 3 สาขาในจังหวัดมุกดาหาร, สตูล และตราด ภายใต้งบลงทุน 1,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยสาขาละ 500 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร จากที่มีอยู่ 57สาขาในปัจจุบัน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 สาขา ต่างจังหวัด 46 สาขา และตั้งเป้าขยายสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอิ่มสะดวก “เซเว่น-อีเลฟเว่น” กล่าวว่า บริษัทได้สิทธิในการขยายสาขาภายใต้แบรนด์แม็คโครในทุกประเทศของเอเชีย ยกเว้นอินเดียที่ติดเรื่องไลเซนส์ โดยวางเป้าหมายสำคัญ คือการรุกขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสู่ทุกประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งจีน โดยเฉพาะแถบประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า
ทั้งนี้ แม็คโครจะเป็นช่องทางกระจายสินค้าจากไทยไปทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อขยายฐานผู้บริโภคที่มีมากกว่า 600 ล้านคน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าหลักของเครือซีพี
“เราจะเอาจุดเด่น จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรมาสร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการเข้าสู่ยุคเออีซี ซีพีออลล์มีจุดแข็งและความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรทั้งระดับพนักงาน และผู้บริหาร เอื้อต่อการขยายธุรกิจของศูนย์ค้าส่งแม็คโครทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ผู้ผลิตไทย สินค้าไทย โอทอปและเอสเอ็มอี จะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดของแม็คโคร เป็นช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้า ทำการตลาดได้อย่างมีระบบไปทั่วทั้งภูมิภาค ดีลนี้เมื่อซื้อแล้วต้องไม่แพง ภายใน 2-3 ปีน่าจะคุ้มมูลค่าการลงทุน”
อันที่จริง ก่อนหน้าการซื้อขาย บริษัทแม่แม็คโครตั้งบริษัทที่ปรึกษาเพื่อขายกิจการแม็คโครในประเทศไทย มีการติดต่อทาบทามผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ทั้งซีพี เครือเซ็นทรัลของกลุ่มจิราธิวัฒน์, เบอร์ลี่ยุคเกอร์ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี และบิ๊กซีที่มีบริษัท Casino Guichard-Perrachon ประเทศฝรั่งเศส ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มจิราธิวัฒน์
บรรดานักวิเคราะห์ต่างพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กซี” เนื่องจากแนวทางการขยายธุรกิจต้องการบุกทุกช่องทางการจำหน่ายและเครือเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” จากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น กระโดดเข้าสู่สงครามคอนวีเนียนสโตร์ ท้าทายผู้นำตลาดอย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น”อย่างร้อนแรง
ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลเร่งสร้างเครือข่ายค้าปลีกขยายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าอย่างกว้างขวาง เริ่มจากกลุ่มหลัก ห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน เซน และลารีนาเซนเต
กลุ่มดิสเคาต์สโตร์ ได้แก่ บิ๊กซี ซึ่งมีรูปแบบร้านถึง 6 รูปแบบ คือไฮเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ตั้งแต่ 4,000-6,000 ตารางเมตร มีจำนวน 114 สาขา, บิ๊กซีมาร์เก็ต พื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จำนวน 19 สาขา, มินิบิ๊กซี เจาะพื้นที่ชุมชน และจับมือกับ “บางจาก” เพื่อรุกเข้าสู่ช่องทางในปั๊มน้ำมัน พื้นที่ 300 ตารางเมตร จำนวน158 สาขา, จัมโบ้ พื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร 1 สาขาที่สำโรง และจัมโบ้สเตชั่น 1 สาขาที่พัทยา
ตามแผนลงทุนในปีนี้ บิ๊กซีเพิ่มงบลงทุนเป็น 8,000 ล้านบาท จากปีก่อนๆ เฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาท ขยายสาขาใหม่ในทุกรูปแบบ แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา, บิ๊กซีมาร์เก็ต 13 สาขา, มินิบิ๊กซี 150 สาขา, ร้านขายยา “เพียว” 50 สาขา และบิ๊กซีจัมโบ้สเตชั่น 3 สาขา โดยเน้นตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดใกล้แนวชายแดน ซึ่งสามารถขยายฐานลูกค้าครอบคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้าน
กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์และท็อปส์ ซึ่งท็อปส์ถือเป็นหัวหอกหลักในการขยายตลาด โดยเฉพาะท็อปส์เดลี่ เน้นเจาะพื้นที่ชุมชน ตลาดสด มีแผนขยายเพิ่มอีก 52 แห่ง
กลุ่มร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ แฟมิลี่มาร์ท ตั้งเป้าเปิดอีก 200 สาขา ครบ 1,000 สาขาภายในปีนี้ และเพิ่มเป็น 3,000 สาขาภายในปี 2560 ยอดขายจะเพิ่มจาก 15,000 ล้านบาท เป็น 60,000-70,000ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด
กลุ่มร้านอาหาร ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้แอนส์, เปปเปอร์ลันช์, เบียร์ดปาปาส์, ชาบูตง, โคลด์สโตนครีมเมอรี่, ริว ชาบูชาบู, เดอะเทอเรส, โยชิโนยะ และโอโตยะ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสเปเชียลสโตร์ ได้แก่ พาวเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต, บีทูเอส, โฮมเวิร์ค, ไทวัสดุ, ออฟฟิศเมท
ในปี 2556 กลุ่มเซ็นทรัลเตรียมงบลงทุน 38,000 ล้านบาท ขยายการลงทุนใน 5 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่งธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอาหาร โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกถึง 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เติบโตสูงสุด ได้แก่ เปิดห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 5 แห่ง ใน จ.กาญจนบุรี, อุบลราชธานี, สกลนคร, สระบุรี และสุรินทร์, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า 3 สาขา ใน จ.อุบลราชธานี, เชียงใหม่, หาดใหญ่ ขยายศูนย์การค้าเฟสติวัลภูเก็ต เฟส 3 และเปิดเซ็นทรัล แอมบาสซี่ รวมทั้งขยายร้านในกลุ่มสเปเชียลสโตร์อีก 350 แห่ง รวมถึงลงทุนสาขาร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ อีก 90 แห่ง ไม่รวมงบซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศอีกหมื่นกว่าล้านบาท
ด้านซีพีปรับโครงสร้างกลุ่มค้าปลีกอย่างเข้มข้นในช่วง 1-2 ปี เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าภายในประเทศและต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ โดยสร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ จัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มร้านอาหาร (Restuarant) ได้แก่ เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” ร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรบูตะ สเต๊กปลา ร้านสแน็กทูโก โดยเชสเตอร์กริลล์เปิดแล้ว 177 สาขา ธุรกิจห้าดาว 5,200 จุด ซีพีคิทเช่น 8 สาขา
ส่วนร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรบูตะ สเต๊กปลา ร้านสแน็กทูโก อยู่ในขั้นทดลองเปิดในศูนย์อาหาร “ซีพีฟู้ดเวิลด์” ซึ่งถือเป็นฟู้ดคอร์ทโมเดลใหม่ที่ซีพีกำลังปลุกปั้นให้ติดตลาดในไทยก่อนไปบุกต่างประเทศ
ค้าปลีกอีกกลุ่มของซีพี Food Retail หรือร้านขายอาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน ได้แก่ ร้านซีพีเฟรชมาร์ท มี 660 สาขา ซึ่งล่าสุดเพิ่มสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มเข้ามาจำหน่ายในร้าน ทั้งนม เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และเบียร์ ตู้เย็นชุมชน 7,000 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ทพลัส ซึ่งเปลี่ยนชื่อจาก “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” ตั้งเป้าขยายล็อตแรก 50 แห่ง และซีพีฟู้ดเวิลด์ 3-5 สาขา
สำหรับเซเว่น-อีเลฟเว่น ถือเป็นค้าปลีกรูปแบบแรกของซีพีที่ซื้อไลเซนส์จากบริษัทเซาท์แลนด์ ล่าสุดปูพรมทั่วประเทศทุกพื้นที่กว่า 7,000 สาขา และตั้งเป้าขยายปีละ 550 สาขา ให้ครบ 10,000 สาขาภายในปี 2561-2562 ทิ้งห่าง “แฟมิลี่มาร์ท” ที่เครือเซ็นทรัลวางไว้ 3,000 สาขา
และเมื่อซีพีมี “แม็คโคร” เข้ามาเติมเต็มและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายค้าปลีกด้านอาหารที่สอดรับกันทำให้การบริหารต้นทุนต่างๆ ลดลง ซื้อสินค้าได้ถูกลง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น
แต่การรุกเข้าสู่ค้าปลีกขนาดใหญ่อีกครั้งถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งใหญ่ จาก 25 ปีก่อน ซีพีออลล์เป็นผู้ชักชวนให้แม็คโครเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยและร่วมถือหุ้น 51% สุดท้ายก็ขายหุ้นทิ้ง
ซีพีลงทุนเปิดดิสเคาต์สโตร์ “โลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์” แต่สุดท้ายเจอวิกฤตต้องขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้ “เทสโก้” กลุ่มค้าปลีกจากประเทศอังกฤษ
วันนี้ ธนินท์ใช้สัมพันธ์อันแนบแน่นกับอดีตประธานเอสเอชวีที่ให้สัญญากันไว้ว่า หากแม็คโครต้องการขายหุ้นหรือกิจการให้นึกถึงซีพีออลล์เป็นรายแรกจนได้ “แม็คโคร” เข้ามาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน เฉือนชนะคู่แข่ง กินรวบตลาดโชวห่วย กวาดยอดขายมากกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายหน้าร้านไม่แพ้กัน คงไม่อยู่เฉย ปล่อยชัยชนะในสงครามค้าปลีกรอบใหม่ไปง่ายๆ แน่
Related Stories:
1. ซีพียกเครื่องธุรกิจค้าปลีกปรับกระบวนทัพโกอินเตอร์
2. 7-11 ชิงทำเลบุกแหลก ขยายธุรกิจใหม่กินรวบ
3. 7-11 สู้ศึกรอบด้าน สงครามคอนวีเนียนสโตร์
4. “Kitchen of Myanmar” และนโยบาย 3 ประโยชน์ของซีพี