วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ทางเลือก + ทางรอด Medical Hub

ทางเลือก + ทางรอด Medical Hub

ว่ากันว่ามูลค่าธุรกิจ Health Care ทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ตีเป็นเงินได้ราว 17 ล้านล้านดอลลาร์ ยิ่งผนวกกับแนวโน้มที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าตลาดให้กับธุรกิจด้านนี้ ทำให้ “ผู้เล่น” รายใหญ่ในหลายประเทศต้องปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย พบว่าในปี 2555 มีชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในไทยกว่า 2 ล้านครั้ง สร้างรายได้เข้าประเทศราว 121,658 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ หรือ Medical Hub โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์

อีกส่วนสำคัญมาจากการปรับตัวของ รพ.เอกชน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวอย่างมากในช่วง 3-5 ปีมานี้ โดยเฉพาะก้าวที่ร้อนแรงของเครือ รพ.กรุงเทพ หรือกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ทุ่มเงินกว่า 700 ล้านบาท ซื้อหุ้น รพ.กรุงธน (KDH) เพิ่มเติมในสัดส่วน 24.94% จากกลุ่มสุขพันธ์โพธาราม เมื่อ 31 ม.ค. 2556 ส่งผลให้ BGH จะถือหุ้นใน KDH เป็น 44.96%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า แม้ รพ.กรุงธนมีขนาดเพียง 150 เตียง แต่ก้าวเล็กๆ นี้ช่วยเสริมศักยภาพให้ BGH เข้มแข็งขึ้นได้ เพราะ รพ.กรุงธนทั้ง 2 สาขาล้วนอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี อันเป็นทำเลเป้าหมายของ BGH โดยคาดกันว่าในอีกไม่ช้า รพ. กรุงธนจะถูกรีแบรนด์เป็น “สมิติเวช ธนบุรี” ซึ่งจะเป็นการปิดตำนานของ รพ. อายุกว่า 30 ปีแห่งนี้โดยสมบูรณ์

จริงๆ แล้ว การซื้อกิจการ รพ.อื่นไม่ใช่เรื่องใหม่ของ BGH รองประธานกรรมการ “วิชัย ทองแตง” เคยกล่าวถึงยุทธศาสตร์การเติบโตเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของหมอปราเสริฐ ปราสาทองโอสถ ว่า มีอยู่ 2 โมเดล คือ การสร้าง รพ.ในหัวเมือง และการควบรวมกิจการ (Merge & Acquisition)

ระหว่างเส้นทางการเติบโตกว่า 40 ปีของกลุ่ม BGH ในช่วงทศวรรษหลังจะเห็นว่ามีการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” เช่น การซื้อกลุ่ม รพ.สมิติเวช เมื่อปี 2547 และการควบรวมกับ รพ.พญาไทและเปาโล เมื่อ เม.ย. ปี 2554 ซึ่งถือเป็นดีลใหญ่ที่สุดดีลหนึ่ง เพราะต้องใช้เม็ดเงินสูงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยหลังการควบรวมกิจการครั้งนั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของ BGH ทะลุไปถึง 1.2-1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น BGH ก็โตถึงเกือบ 2 เท่า

ช่วง 5 ปีหลัง BGH ไล่ซื้อกิจการ รพ. และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างไม่ยั้ง จนได้รับฉายา “จอมเทกโอเวอร์” ก่อนหน้าดีล รพ.กรุงธน BGH ก็เพิ่งทุ่มซื้อกิจการ รพ.ปัญญาเวช ในกลางปี 2555 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เพื่อยึดหัวหาดภาคอีสานตอนบนเพื่อรับผู้รับบริการจากลาว โดย “ปัญญาเวช” ถือเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของเมืองอุดรธานี ขณะเดียวกันก็ยังมีหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 34% ใน รพ.เอกอุดร อีก รพ.ชื่อดังของอุดรฯ

ปัจจุบัน อาณาจักรของ BGH มี รพ.ในเครือ 6 แบรนด์ ด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่ม รพ.กรุงเทพ กลุ่ม รพ.สมิติเวช กลุ่ม รพ.รอยัล (ในประเทศกัมพูชา) กลุ่ม รพ.พญาไท กลุ่ม รพ.เปาโลฯ และล่าสุด คือกลุ่ม รพ.กรุงธน

อัฐ ทองแตง ผู้บริหาร รพ.พญาไท ให้ภาพ Positioning ของแต่ละแบรนด์ไว้ว่า “พญาไท” เน้นความเป็นพรีเมียม และโฟกัสลูกค้าในประเทศ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี “สมิติเวช” ดูแลลูกค้าฝั่งตะวันออก รามคำแหง ศรีนครินทร์ สมุทรปราการ และโฟกัสที่ลูกค้าต่างประเทศ โดยจะมีการปรับภาพลักษณ์ให้ดูอินเตอร์ฯ ยิ่งขึ้น “บีเอ็นเอช” ดูแลลูกค้า “เกรดเอ” ในพื้นที่ใจกลางเมือง

ส่วน “เปาโลฯ” จะเน้นลูกค้ากลุ่มบีลบ (B-) ลงมา เนื่องจากรับประกันสังคมด้วย และเน้นเป็น รพ.รักษาทั่วไป หากต้องรับรักษาเฉพาะด้านหรือเป็นคนไข้หนัก ที่นี่จะส่งต่อให้ รพ.กรุงเทพ ขณะที่ “กรุงเทพ” จะโฟกัสลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น โดย รพ.ที่อยู่ตามหัวเมืองและปริมณฑลจะใช้แบรนด์ “กรุงเทพ” และเน้นให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหมด 

นอกจาก 6 แบรนด์นี้ BGH ได้ทุ่มทุนจนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยไม่มีส่วนในการบริหาร ใน รพ.เอกชนชื่อดังของเมืองไทยอีก 2 แห่ง คือ “รามคำแหง (RAM)” ซึ่ง BGH ถือหุ้น 38.24% และมีหุ้น 23.88% ใน “บำรุงราษฎร์ (BH)” โดยบางฝ่ายคาดว่า BGH น่าจะพยายามเก็บหุ้นต่อเนื่องเพื่อนำทั้ง 2 เครือเข้ามารวมในพอร์ตของตนให้ได้ เหมือนที่ทำกับกลุ่ม รพ.กรุงธน จนสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ผู้ค้านว่า ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 2 เครือน่าจะ “ขัดขืน” จนถึงที่สุด 

นอกจากนี้ BGH ยังมีการซื้อกิจการในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุปกรณ์และธุรกิจด้านการแพทย์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด ผู้ผลิตยา เป็นต้น เรียกได้ว่าครอบคลุมธุรกิจการแพทย์อย่างครบวงจร

“ยังบอกไม่ได้ว่าจะซื้อใครอีก แต่ถ้าเจออะไรดีๆ เราไม่รีรอที่จะเข้าไปลงทุนหรือซื้อกิจการแน่นอน เพราะนโยบายเราคือคิดเร็วทำเร็วก่อนโอกาสจะหลุดไป” นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ กล่าว

ไม่เพียงเฉพาะ BGH ยังมี รพ.ขนาดกลางอีกหลายแห่งที่ผลักดันการเติบโต ด้วยยุทธศาสตร์ที่คล้าย BGH เช่น กลุ่ม รพ.รามคำแหง (RAM) ซึ่งจับขั้วกับกลุ่ม รพ.วิภาวดี (VIBHA) ในลักษณะ “ร่วมทุน” ทางตรง และถือหุ้นแบบ “ไขว้” ของโรงพยาบาลในเครือ เป็นต้น

ปัจจุบัน รพ.เอกชนในประเทศไทยมีราว 280 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีเครือข่าย ซึ่งแน่นอนว่า หลังการเปิดเสรี AEC ที่เปิดทางให้มีต่างชาติเข้ามาแข่งขันมากขึ้น หลาย รพ.เหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการปลีกตัวอย่างโดดเดี่ยวจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ทางรอดคือการรวมพลังเครือข่ายในการให้บริการ

อย่างไรก็ดี เคยมีคนกล่าวว่า เครือข่าย รพ.เอกชนในประเทศไทยอาจมีภาพ 2 ด้านที่ขัดแย้งกัน คือ มิติธุรกิจกับมิติทางสังคม ในด้านธุรกิจ การควบรวมกิจการถือเป็น “ทางลัด” ในการเติบโต ซึ่งจะส่งผลให้ รพ.ไทยสามารถยืนหยัดต่อสู้ในระดับภูมิภาคได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น

ปัจจุบัน BGH ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดของไทย ณ ปัจจุบัน ด้วยขนาดและจำนวนเตียงของ BGH ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจาก IHH (Integrated Healthcare Holdings Sdn Bhd) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กองทุน Khazanah ของรัฐบาลมาเลเซีย 

ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นบวกกับนโยบาย Medical Hub ทำให้ธุรกิจ รพ.เอกชน มีแนวโน้มไปสู่การสร้างเครือข่ายหรือรวมกลุ่มกันมากขึ้น ซึ่งจะสร้างข้อได้เปรียบสำคัญทางธุรกิจ คือ การลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากมีอำนาจต่อรองในการซื้อครั้งละปริมาณมาก

การรวมกลุ่มยังสร้างอำนาจในการกำหนดตลาดอีกด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นกังวลว่า เมื่อ BGH สามารถรวบรวมเครือข่าย รพ. (ทั้ง รพ.ที่มีส่วนบริหารและ รพ.ที่แค่ถือหุ้น) ไว้ในมือได้เป็นจำนวนมาก ย่อมมีอำนาจในการกำหนดหรือ “ชี้นำ” อัตราค่าบริการของตลาด

อันที่จริง การแสวงหากำไรและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ถือหุ้น นับเป็นเรื่องปกติของธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกับบริษัทมหาชน แต่ในมิติทางสังคม ธุรกิจ รพ. เป็นเรื่องการบริการทางการแพทย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบเชิงโครงสร้างของระบบสาธารณสุขไทย ทั้งแง่ของทรัพยากรทางการแพทย์และบุคลากร โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถทางการแพทย์สูง

ว่ากันว่า มีแพทย์เก่งๆ จำนวนไม่น้อยที่ถูกดูดเข้า รพ.เอกชน ยิ่งประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลน “ทรัพยากรมีค่า” เหล่านี้มากเท่าไร และยิ่งการแข่งขันในธุรกิจรุนแรงมากเท่าไร การแย่งชิง “ทรัพยากร” จากภาคเอกชนก็ยิ่งมากขึ้น

รพ.เอกชนส่วนใหญ่รองรับเฉพาะคนที่มีรายได้สูงที่ยอมจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบายที่มากกว่า บริการที่ดีกว่า และความพึงพอใจที่มากกว่าในด้านประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นคนไทยส่วนน้อยและชาวต่างชาติ ขณะที่ รพ.รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ กลับต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์อย่างรุนแรง 

ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีการส่งเสริมให้ธุรกิจ รพ.เอกชนของไทยให้เข้มแข็ง เพื่อมุ่งสู่การเป็น Medical Hub ภาครัฐยังมีสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ นั่นคือ ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐานดีเท่าที่ควรไปพร้อมกัน