แบรนด์ Moly care หนึ่งในแบรนด์เอสเอ็มอีไทย ที่มีความฝันจะก้าวไปสู่ตลาด AEC ได้เตรียมตัวล่วงหน้ามาเป็นเวลา 5 ปี โดยใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์เป็นยุทธศาสตร์รุกและรับในเวลาเดียวกัน
ความคืบหน้าในการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ทั้ง 10 ประเทศที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 เริ่มจากธุรกิจการค้า (trading) ได้สร้างความกระตือรือร้นให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยเริ่มมองหาโอกาสอย่างต่อเนื่อง
แม้ในประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านราย ทว่ายังมีจำนวนน้อยที่ให้ความสนใจการเปิดเสรีการค้าภายใต้ความร่วมมือ AEC อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้และไม่รู้สภาพการแข่งขันว่าจะเผชิญกับสิ่งใด
ในขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่เห็นโอกาส แต่เอสเอ็มอีอย่างบริษัท โมลี จำกัด กลับเตรียมตัวล่วงหน้ามาเป็นเวลา 5 ปี และมีเป้าหมายชัดเจนที่จะออกไปขยายและเติบโตในตลาด AEC
บริษัท โมลี จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือหุ้นโดยครอบครัวกาญจนบัตร 100 เปอร์เซ็นต์ ให้บริการภายใต้แบรนด์โมลี แคร์ บริการล้างสี ดูดฝุ่น ขัดเคลือบสี ซักเบาะ พรม ล้างรถยนต์ครบวงจร
บริษัทโมลีเกิดขึ้นจากการต่อยอดธุรกิจ บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจมา 30 ปี ในฐานะตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคลือบสี ล้างรถ ยี่ห้อคาร์แลค ประเทศเยอรมนี รวมถึงให้บริการ บำรุงรักษารถยนต์
บริษัท คาร์แลค (ไทย-เยอรมัน) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท คาร์แลค จำกัด ประเทศเยอรมนี ถือหุ้นร้อยละ 10 ส่วนอีกร้อยละ 90 ถือหุ้นโดยครอบครัวคนไทย กลุ่มกาญจนบัตร
จุดเริ่มต้นของธุรกิจเริ่มจากเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยี่ห้อคาร์แลค และเปิดศูนย์บริการล้างรถยนต์คาร์แลค มาเป็นเวลา 21 ปี เป็นธุรกิจที่อยู่เบื้องหลัง การค้าขายรถยนต์ที่ต้องยอมรับว่ามีลูกค้ารู้จักและไม่รู้จัก แต่บริษัทก็มีประสบการณ์ร่วมงานใหญ่ๆ ที่พอจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ เห็นว่ามีลูกค้าให้การยอมรับไม่น้อย อาทิ รับเป็นผู้ดูแลรถยนต์ในงานแสดงสินค้ามอเตอร์โชว์ หรือดูแลรถยนต์ของพระราชอาคันตุกะที่เข้าร่วมเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 60 ปีที่ผ่านมา
ประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวง ธุรกิจรถยนต์ รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คาร์แลคที่ได้รับความนิยมในประเทศเยอรมนี ทำให้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจโดยต่อยอดจากฐานธุรกิจเดิม
ความคิดในการขยายธุรกิจเริ่มเห็นเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากทายาทรุ่น 2 เข้ามาสืบทอดกิจการโดยมีกฤษฎ์ กาญจนบัตร กรรมการผู้จัดการเข้ามาดูแลเมื่อปี 2546 หลังจากจบบริหาร ธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และไปเรียน Business Communication ที่ New south Wales University ประเทศออสเตรเลีย
แนวคิดขยายธุรกิจให้เติบโตโดยการ ต่อยอดจากฐานจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และศูนย์บริการล้างรถคาร์แลคที่มีอยู่เดิม แต่บริษัทต้องการรูปแบบการให้บริการมีมาตรฐาน จึงทำให้กฤษฎ์เข้าเรียนเพิ่มเติม กับกรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์ เริ่มตั้งแต่เรียนระดับพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจไปจนถึงระดับการศึกษาความก้าวหน้าของ ธุรกิจ ในหลักสูตร Business to Business: B to B
ระยะเวลา 3 ปีที่ได้เรียนรู้พร้อมกับ ทำงานไปด้วยจึงรู้ว่าบริษัทขาดการบริหารจัดการสาขา เช่น เจ้าของร้านไม่สามารถทิ้งร้านได้ มาตรฐานการให้บริการยังไม่ดีเท่าที่ควร
แต่หลังจากเข้าร่วมหลักสูตรเรียนรู้กับกรมพัฒนาการค้า พบว่าการให้บริการในรูปแบบแฟรนไชส์สามารถตอบโจทย์ได้หลายอย่าง อาทิ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แตกต่างกัน หากกรณีพนักงานลาออกก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่ระบบแฟรนไชส์จะช่วยสร้างมาตรฐานการทำงานไม่ติดขัด โดยไม่ต้องมีหัวหน้างานดูแลตลอดเวลา เพราะหัวใจสำคัญของ ระบบแฟรนไชส์ให้ยึดระบบการทำงานมากกว่าการยึดติดบุคคล รวมไปถึงการจัดการบริหารที่มีแบบแผนชัดเจน