แม้สมรภูมิเครื่องดื่มน้ำอัดลมกำลังขับเคี่ยวกันอย่างรุนแรงใน 4 แบรนด์หลัก ล่าสุด โค้กออกมาประกาศชัยชนะกวาดส่วนแบ่งในตลาดรวม ทั้งน้ำดำและน้ำสีที่มีมูลค่า 44,000 ล้านบาท มากกว่า 55% ขณะที่ “เสริมสุข” โค่นอดีตพันธมิตรขึ้นอันดับ 2 ส่วนแบ่ง 19% เขี่ย “เป๊ปซี่” ตกไปอยู่ในอันดับ 3 ซึ่งมี “บิ๊กโคล่า” จ้องแซงทางโค้งอยู่ตลอดเวลา
แต่ปรากฏการณ์ที่น่าจับตาไม่ใช่แค่การช่วงชิงตลาดด้วยกลยุทธ์หลากหลายชนิด กลับเป็นยุทธศาสตร์การขยายแนวรบใหม่ การแหกกฎสู้ยักษ์เจ้าตลาด “โค้ก-เป๊ปซี่” และมองเป้าหมายขนาดใหญ่ของกลุ่มอาเจกรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มครบวงจรสัญชาติเปรู ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาสร้างฐานในเอเชีย และประกาศเป้าหมายต้องก้าวขึ้นเป็นบริษัทข้ามชาติระดับโลกภายในปี 2563 ซึ่งเป็นการเดินเกมแนวเดียวกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ที่กำลังเร่งขยายพอร์ตสินค้าเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ในตลาดอาเซียนและเอเชีย ทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลม
“เอส” ชาพร้อมดื่ม “โออิชิ” และเพิ่งฮุบหุ้นใหญ่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มขนาดใหญ่ระดับโลก เฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือ “เอฟแอนด์เอ็น” เข้ามาเสริมทัพได้อีก
ปัจจุบัน อาเจกรุ๊ปได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัทเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ อันดับ 10 ของโลก ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาด ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีส่วนแบ่งการตลาด 0.5% โดยมีโคคา-โคลา อยู่ในอันดับ 1 ส่วนแบ่งตลาด 23.1% และเป๊ปซี่ โค 10.7% ขณะที่ “บิ๊กโคล่า” แบรนด์หลักของอาเจ กรุ๊ป ติดอันดับ 4 ในตลาดน้ำดำของโลก
ฐานหลักอยู่ในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เช่น โคลัมเบีย เปรู เวเนซุเอลุา เม็กซิโก เอกวาดอร์ บราซิลและเริ่มรุกสู่ตลาดเอเชีย เข้ามาตั้งฐานในไทยเมื่อปี 2549 จากนั้นขยายไปยัง อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งล่าสุด ไทยถือเป็นตลาดที่สามารถสร้างยอดขายเติบโตสูงสุด ตามด้วยอินโดนีเซียที่กำลังมาแรงมาก
ฆอร์เก้ โลเปซ ดอริกา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจ กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทแม่อาเจ กรุ๊ป ประเทศเปรู ยังยึดนโยบายการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจแห่งภูมิภาค โดยวางแผนขยายไลน์สินค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นและภายใน 2-3 ปี จะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกในอาเซียน เช่น ลาว พม่า มาเลเซีย และกัมพูชา
ทั้งนี้ การเปิดตัวเครื่องดื่มน้ำอัดลมกลุ่มน้ำสีแบรนด์ “บิ๊ก” ตัวใหม่ล่าสุด “บิ๊ก จิงเจอร์ พายแอปเปิ้ล” ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ โดยพยายามใช้นวัตกรรมที่แตกต่างจากกลุ่มน้ำสีเดิมที่มีเพียงน้ำแดง น้ำเขียว น้ำส้ม หรือแม้กระทั่งเลมอนไลม์ เหมือนคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นสี การผสมผสานกลิ่นขิงกับสับปะรด เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง คนรุ่นใหม่
ที่สำคัญ นำเสนอการดื่มแบบค็อกเทลและม็อกเทลที่แตกต่างจากทุกค่าย ซึ่งฆอร์เก้กล่าวว่า เป็นการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ในช่องทางใหม่ๆ ทดลองตลาดและหากประสบความสำเร็จ ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตสินค้าไลน์ใหม่เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงได้
“เราเป็นน้ำอัดลมที่บุกตลาดค็อกเทลอย่างชัดเจน ซึ่งบิ๊กจิงเจอร์ พายแอปเปิ้ล เป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยคนไทย รสชาติเพื่อคนไทย และสามารถเป็นฐานขยายไปยังอีก 20 ประเทศที่อาเจเข้าไปทำตลาด เพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศในเขตร้อน มีพฤติกรรมการดื่มไม่แตกต่างกันมากนัก” ฆอร์เก้กล่าว
ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำสีกลายเป็นสมรภูมิตัวใหม่ของเครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยเฉพาะการที่ “เสริมสุข” ต้องการปรับสัดส่วนการทำตลาดน้ำดำและน้ำสีเท่ากัน 50:50 จากปกติตลาดรวมมักแบ่งสัดส่วนน้ำดำ 65-70% น้ำสี 30-35% ตามแนวโน้มการดื่มที่ผู้บริโภคเริ่มมองน้ำดำเป็นเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนและมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น
สำหรับเป้าหมายในไทย อาเจกรุ๊ปยืนยันตามแผนเดิม คือ ผลักดันแบรนด์บิ๊กโคล่าก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาดน้ำดำภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 20-25% จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 16-17% ปีนี้ขยับเพิ่มเป็น 18-19% และมองไกลไปถึงการเป็นเจ้าตลาดในเอเชียด้วย
ต้องยอมรับว่า ช่วง 7 ปี การทำตลาดในไทยแบบรุกเงียบ เริ่มจากตลาดต่างจังหวัดแล้วเข้าสู่เมือง ใช้จุดขายเรื่องราคาถูกกว่าเจ้าตลาดและการแหกกฎในฐานะน้ำดำไร้กาเฟอีนที่สามารถขยายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กนักเรียน บวกกับกลยุทธ์การตลาด “สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง” ใช้นักเตะชื่อดังระดับโลกเข้ามาสร้างกิจกรรมและสร้างภาพลักษณ์อินเตอร์มากขึ้น ส่งผลให้ฐานตลาดในเอเชียเติบโตเกินคาดทุกประเทศ 300-400% โดยเฉพาะไทยกลายเป็นประเทศที่มียอดขายสูงสุดของทั่วโลก แซงหน้าเม็กซิโก
นั่นทำให้ “ไทย” กลายเป็นฐานตลาดที่สำคัญและสามารถเปิดตัวสินค้าตามยุทธศาสตร์การเน้นจุดขายด้านนวัตกรรม รวมทั้งแก้จุดอ่อนด้านกลยุทธ์ที่ผ่านๆ มา เพราะนอกจาก “บิ๊กโคล่า” แล้ว สินค้าตัวอื่นของอาเจที่เคยทำตลาดในไทย เช่น น้ำอัดลมกลุ่มน้ำสี “โอโร่” น้ำดื่ม “เซียโล่” แม้ใช้โอกาสจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เปิดตัวและเจาะตลาด แต่ปัจจุบันยังไม่ช่วงชิงส่วนแบ่งได้มากนัก หรือชาดำพร้อมดื่ม “คูลที” ที่เปิดตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ล่าสุดเริ่มหายไปจากตู้แช่
ฆอร์เก้ระบุว่า บริษัทแม่ยังเดินหน้าการขยายสินค้าไลน์อื่นๆ เข้ามาในตลาดไทย โดยเฉพาะน้ำดื่มและเครื่องดื่มเกลือแร่ “สปอเรด” ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง “เบียร์” ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เนื่องจากตลาดเบียร์ในไทยมีการเติบโต การแข่งขันสูง แต่น่าสนใจมาก จึงต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมอีกระยะหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ อาเจกรุ๊ปเคยระบุถึงแผนการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศไทย งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยถือเป็นแผนขั้นต่อไปในการขยายธุรกิจใหม่ต่อจากเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ภายในปี 2558 พร้อมๆกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
จากข้อมูลพอร์ตสินค้ากลุ่มเบียร์ อาเจกรุ๊ปเริ่มเปิดตัวทำตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2550 มีโรงงานผลิตที่เปรู เน้นการจำหน่ายในเปรูและส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ โคลัมเบีย อเมริกา และสเปน โดยใช้แบรนด์ “ฟรังก้า” (Franca) ทำตลาด มียอดขายเป็นสัดส่วน 5% ของรายได้บิ๊กโคล่าทั่วโลก
นอกจากฟรังก้าแล้ว ในพอร์ตยังมีอีก 3 แบรนด์ คือ คลับ (Club) ทรีส ครูซีส (Tres cruces) และคาเรล (Caral) โดยฟรังก้าและคลับจัดอยู่ในเซกเมนต์เบียร์อีโคโนมี เทียบกับแบรนด์ช้าง ลีโอ ส่วนทรีส ครูซีส และคาเรล อยู่ในกลุ่มพรีเมียม
อย่างไรก็ตาม ภายใต้พอร์ตสินค้าของอาเจกรุ๊ปต้องถือว่า “ครบวงจร” ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ เบียร์ และนอนแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำดื่ม น้ำผลไม้ ชาพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่และเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งนโยบายของบริษัทแม่เปรูต้องการขยายการจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดอาเซียนและเอเชีย โดยมีไทยเป็นฐานหลักในฐานะประเทศที่สร้างยอดขายบิ๊กโคล่าเติบโตสูงสุด
วรัญพัชร์ วริยานันทกุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโสของแบรนด์บิ๊ก บริษัท โคล่า เรียล เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดผลิตภัณฑ์บิ๊กโคล่าในอนาคตจะหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดคนเมืองมากขึ้น เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง จากเดิมเน้นการขายในร้านค้าปลีกในต่างจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากตลาดในกรุงเทพฯ เป็นตลาดใหญ่
เหตุผลสำคัญ คือต้องการใช้แบรนด์บิ๊กโคล่าต่อยอดสินค้าแบรนด์ “บิ๊ก” ตัวอื่นๆ เพื่อการทำตลาดที่แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มาและเป็นก้าวการขยายเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ในเออีซี
หากเทียบกับค่ายไทยเบฟฯ ที่เร่งเดินหน้าขยายตลาดในอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ และ 6 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
สินค้าในพอร์ตของไทยเบฟฯ ทั้งกลุ่มสุรา เบียร์ เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม โซดา กลุ่มชาพร้อมดื่ม “โออิชิ” เครื่องดื่มน้ำอัดลม “เอส” เครื่องดื่มชูกำลัง “แรงเยอร์” เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้ และยังมีเครื่องดื่มในเครือเอฟแอนด์เอ็นอีกหลายตัว เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ 100 PLUS, ชาผลไม้ F&N SEASONS, น้ำผลไม้ F&N FRUIT TREE FRESH, นมถั่วเหลือง F&N NUTRISOY, ซาสี่, นมตราหมี, ไมโล
ถือเป็นสองยักษ์ในสมรภูมิที่สร้างความร้อนแรงขั้นเทพได้ไม่แพ้กัน
แบรนด์สินค้าของกลุ่ม “อาเจ” |
|
เครื่องดื่มน้ำอัดลม |
บิ๊กโคล่า (Big Cola), บิ๊กเฟรช (Big Fresh), เคอาร์ (KR), โอโร่ (ORO) |
น้ำดื่ม |
เซียโล่ (cielo), บิ๊ก Aqua Vital |
น้ำผลไม้ |
พลัพ (Plup), บิ๊ก ฟรุตทัล (Big Frutales), บิ๊ก ซีตรัส (Big Citrus), ซีฟรุต (Cifrut) |
เบียร์ |
ฟรังก้า (Franca), คลับ (Club), ทรีส ครูซีส (Tres cruces), คาเรล (Caral) |
ชาพร้อมดื่ม |
ฟรีที (Free tea), คูลที (Cool tea) |
เครื่องดื่มเกลือแร่ |
สปอเรด (Sporade) |
เครื่องดื่มชูกำลัง |
โวลท์ (Volt) |