เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่สมการรอคอย หลังจากปิดปรับปรุงครั้งใหญ่นานถึง 6 เดือน “สยามเซ็นเตอร์” กลับมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ท่ามกลางผู้คนที่รักและผูกพันกับสยามเซ็นเตอร์ที่มารอชมรูปโฉมใหม่หลังการปฏิวัติศูนย์การค้าแห่งนี้ ซึ่งใช้เงินลงทุนไปถึง 1,800 ล้านบาท ใช้เวลาเตรียมการทั้งหมดนานกว่า 18 เดือน และใช้เม็ดเงินในการฉลองเปิดตัวร่วม 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่ใช้ในการฉลองเปิดตัวสยามพารากอน
“เราเป็นผู้ปฏิวัติวงการค้าปลีกของเมืองไทยมาตลอด แต่ในครั้งนี้ เรามุ่งหวังว่าปรากฏการณ์สยามเซ็นเตอร์จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์เวทีค้าปลีกระดับโลก เรามักได้ยินคนไทยพูดว่า อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งการชอปปิ้ง วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะบอกใครๆ ให้หันมามองว่าศูนย์กลางแห่งการชอปปิ้งสุดล้ำสมัยนั้นควรเป็นเช่นไร” ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวก่อนนำชม
คอนเซ็ปต์ใหม่ของสยามเซ็นเตอร์ คือ เมืองแห่งไอเดียล้ำเทรนด์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปะ แฟชั่น เทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ ตลอดจนแนวคิดและการออกแบบใหม่ๆ จากทั่วโลก โดยความโดดเด่นจะอยู่ที่ดีไซน์เอกลักษณ์ของร้านที่หาดูได้เฉพาะที่นี่ และดีไซน์สินค้าบางรายการที่มีขายเฉพาะที่นี่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะร้องขอให้แบรนด์ดังทั้ง 200 กว่าร้านค้า พร้อมใจร่วมมือกันผลิต “ความพิเศษ” ออกมาสำหรับสยามเซ็นเตอร์เป็นการเฉพาะ
หลายร้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เหล่านั้นยอมสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่พิเศษกว่าและหาไม่ได้จากห้างอื่นให้กับสยามเซ็นเตอร์ เพราะที่นี่คือ “สยามเซ็นเตอร์” และเป็นเพราะเห็นถึงความตั้งใจจริงผู้บริหารที่ชื่อ “ชฎาทิพ”
เฉกเช่นครั้งก่อน เมื่อศูนย์การค้ากลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังปิดปรับปรุงใหญ่ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดและผู้คลุกคลีกับสยามเซ็นเตอร์มากกว่าใคร ชฎาทิพจึงมักลงมาเป็นไกด์นำสื่อมวลชนชมความเปลี่ยนแปลงของศูนย์อย่างละเอียดด้วยความภูมิใจ
ครั้งนี้ ดูเหมือนเธอจะภาคภูมิใจกว่าทุกครั้ง และตื่นเต้นกว่าทุกครั้ง เพราะเธอเล่าว่า ก่อนแถลงข่าวเปิดโฉมสยามเซ็นเตอร์ในคอนเซ็ปต์ใหม่ครั้งนี้ เธอได้แอบเชิญคุณพ่อผู้ล่วงลับไปแล้วมาให้กำลังใจและช่วยคุ้มครองให้งานครั้งนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี
การรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 โดยที่ผ่านมาทุกครั้งมีเป้าหมาย เพื่อตอกย้ำจุดยืนความเป็น Trend Setter ของสยามเซ็นเตอร์ ทว่า ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่และลงทุนสูงที่สุด ทั้งนี้ นอกจากเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปีของสยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของครอบครัวจูตระกูลและกลุ่มสยามพิวรรธน์ ยังมีวาระพิเศษซ่อนอยู่อีกประการ คือการประกาศความพร้อมสู่แถวหน้าในเวทีค้าปลีกระดับโลกของสยามเซ็นเตอร์และกลุ่มสยามพิวรรธน์
ทั้งนี้เพราะชฎาทิพมีแนวคิดสำคัญในการบริหารศูนย์การค้า คือ “ไม่หยุดนิ่ง” และ “เรียนรู้อยู่เสมอ” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สยามเซ็นเตอร์ แต่ทุกศูนย์ในเครือสยามพิวรรธน์ ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และพาราไดซ์ พาร์ค ก็ล้วนดำเนินอยู่ภายใต้กรอบปรัชญาเดียวกัน
“เราอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะเมื่อจุดยืนของเราตั้งแต่วันแรก คือการเป็น Trend Setter ฉะนั้นเราต้องทำตัวเองให้ Step ahead เพราะถ้าเราไม่ทำก็เท่ากับเรา Step behind”
ชฎาทิพเล่าว่า ไม่เพียงศึกษาและดูเทรนด์ของธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย เธอและทีมงานยังมีหน้าที่ต้องดูเทรนด์และภาพรวมของต่างประเทศ โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อเป็นผู้นำเฉพาะวงการค้าปลีกของเมืองไทย แต่ยังหมายถึงวงการค้าปลีกโลก และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญของการรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ตลอดช่วงอายุ 40 ปีของสยามเซ็นเตอร์
ชฎาทิพเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสยามเซ็นเตอร์และกลุ่มสยามพิวรรธน์เมื่อปี 2529 ตั้งแต่ที่ไม่เคยรู้ว่าธุรกิจศูนย์การค้าคืออะไร เธอเริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นพนักงานฝ่ายบัญชี ต่อมาเมื่อบริษัทขาดเจ้าหน้าที่ในส่วนงานเซลส์โปรโมชั่น ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นเสนอให้เธอทำงานนี้ แต่เพราะเธอไม่มั่นใจในสายงานนี้จึงตอบกลับว่า “ทำไม่เป็น” คำตอบนี้ทำให้เธอได้รับคำสบประมาทว่า “เรื่องแค่นี้ก็ทำไม่ได้” และด้วยคำสบประมาทในวันนั้น กลายมาเป็นแรงผลักดันให้เธอพิสูจน์ความสามารถของตัวเองเรื่อยมา
ตำแหน่งที่สูงขึ้น มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องระบบงานทุกอย่างของศูนย์การค้า ตั้งแต่งานออกแบบ ส่งเสริมการขาย ระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ แต่แล้วเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อสยามเซ็นเตอร์ประสบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี 2538 จนนำมาสู่การปรับปรุงใหญ่ครั้งที่ 2 ของสยามเซ็นเตอร์
ความสามารถในการแก้ปัญหาและกู้วิกฤตการณ์คืนมา ทำให้เธอได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ในปี 2539 ด้วยวัยราว 35 ปี โดยตลอดระยะเวลา 17 ปีของการคุมบังเหียนของบริษัท ชฎาทิพต้องเผชิญกับ “มรสุมเศรษฐกิจ” และ “คลื่นยักษ์ของการแข่งขัน” นับครั้งไม่ถ้วน
นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเวลานั้นนอกจากสยามเซ็นเตอร์ เธอยังมีภาระหนักในการดูแลศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่ชื่อ “สยามดิสคัฟเวอรี่” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวก่อนประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเพียง 1 ปี จากนั้นก็เป็นปัญหาการสร้างสถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้เข้าศูนย์ที่ลดลงอย่างมาก การเปิดตัวของคู่แข่งสำคัญอย่างเซ็นทรัลเวิลด์ วิกฤตเศรษฐกิจโลก จนมาถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งทางกลุ่มต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 2 พันล้านบาท เป็นต้น
ไม่เพียงประคับประคองทั้ง 2 ศูนย์การค้าฝ่าฟันวิกฤตมาได้ ชฎาทิพยังเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่และเป็น “talk-of-the-town” เพิ่มขึ้นอีกถึง 2 แห่ง ได้แก่ สยามพารากอน โดยร่วมจับมือกับกลุ่มเดอะมอลล์ ปลายปี 2548 และ “พาราไดซ์ พาร์ค” โดยร่วมกับกลุ่ม MBK ซึ่งเป็นการเนรมิตห้างเก่าอย่างเสรีเซ็นเตอร์ให้เป็น “สวรรค์แห่งการชอปปิ้งของกรุงเทพฯ ย่านตะวันออก” เมื่อกลางปี 2552 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท โครงการนี้ ไม่เพียงเป็นการชิมลางนอกพื้นที่กลางใจเมืองเป็นครั้งแรกของกลุ่มสยามพิวรรธน์ แต่ยังถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถเป็นมืออาชีพในการบริหารศูนย์การค้าของชฎาทิพเป็นอย่างดีอีกด้วย
จากความสำเร็จของศูนย์การค้าทั้ง 4 แห่งของสยามพิวรรธน์ ซึ่งกลายเป็นบทพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพในธุรกิจศูนย์การค้า ทำให้กลุ่มสยามพิวรรธน์ขยายไลน์ธุรกิจออกมาสู่ธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารจัดการอาคารทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท สยาม โปรเฟสชั่นนอล แมเนจเมนท์ จำกัด
และด้วยความสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มซีพีสนใจเข้ามาร่วมจับมือกับสยามพิวรรธน์ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ขนาดยักษ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่าโครงการกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งจะถูกสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดลูกค้าจากทั่วโลกและเพื่อรองรับการเปิดประตูอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน 2558
ตลอดเวลาที่ชฎาทิพทำงานให้กับสยามพิวรรธน์มานานกว่า 25 ปี เริ่มต้นจากหนึ่งบริษัท จนแตกเป็นบริษัทลูกถึง 13 บริษัท จากผลประกอบการปีแรกอยู่ที่หลักร้อยล้านต้นๆ จนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 หมื่นล้านต่อปี ณ ปัจจุบัน เธอยอมรับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของเธอ
แต่ความหวังและความภาคภูมิใจยิ่งกว่าในฐานะเจ้าแม่ค้าปลีกของเมืองไทย คือต้องการเห็นศูนย์การค้าไทย โดยเฉพาะสยามเซ็นเตอร์ กลายเป็นศูนย์การค้าอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและความพอใจของลูกค้า
“สยามเซ็นเตอร์ นับตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นเพื่อเป็น “ศูนย์การค้า” ฉะนั้นจุดยืนของบริษัทคือ การวางตัวเป็นผู้บริหารศูนย์การค้า มิใช่เป็นเพียงเจ้าของอาคารหรือผู้ให้เช่า การทำศูนย์การค้าถือเป็นธุรกิจที่ต้องถมเงินเข้าไปตลอดเวลา เพราะเราต้องดูแลร้านค้า และรับผิดชอบชีวิตลูกค้า …และเราก็ถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด ดีกว่ามานั่งเสียใจว่าควรทำให้ดีกว่านี้ แต่ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะไม่เสียใจ เพราะทุ่มเทเกินร้อยแล้ว”
ข้างต้นคืออรรถาธิบายของชฎาทิพนี้สามารถบอกเหตุผลความจำเป็นของจำนวนเงินก้อนโตที่ใช้การรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์ทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี เงินลงทุนร่วม 2 พันล้านที่ใช้ไปในการรีโนเวตใหญ่ครั้งนี้ ก็หาใช่เครื่องการันตีการไปสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์การค้าอันดับต้นในระดับเอเชียและระดับโลกได้เสมอไป เพราะแค่ในเวทีค้าปลีกของประเทศไทยเอง ในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ สิ่งที่สยามพิวรรธน์ต้องเผชิญคือมรสุมการแข่งขันที่รุนแรงกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว
ลำดับเหตุการณ์ของ สยามเซ็นเตอร์
2516 สยามเซ็นเตอร์เปิด
2534 สยามเซ็นเตอร์ปรับปรุงครั้งแรก
2538 สยามเซ็นเตอร์ปรับปรุงครั้งที่สอง (หลังไฟไหม้) ใช้เวลาราว 2 ปี ใช้งบกว่า 90 ล้าน
2540 สยามดิสคัฟเวอรี่เปิด
2548 สยามเซ็นเตอร์ปรับปรุงครั้งที่สาม ใช้งบกว่า 350 ล้านบาท ใช้เวลาร่วม 10 เดือน (ทยอยปิดบางส่วน)
สยามพารากอนเปิด
2549 สยามดิสคัฟเวอรี่ปรับปรุง ใช้งบกว่า 1 พันล้านบาท
2552 พาราไดซ์ พาร์ค เปิด
2555 สยามเซ็นเตอร์ปรับปรุงครั้งที่สี่ใช้งบกว่า 1.8 พันล้านบาท ใช้เวลา 6 เดือน โดยปิดทั้งศูนย์