วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > AEC > ท่องเที่ยวเขมรฉุดไม่อยู่ รุดขยายสนามบินรองรับเพิ่ม

ท่องเที่ยวเขมรฉุดไม่อยู่ รุดขยายสนามบินรองรับเพิ่ม

 

ธุรกิจการท่องเที่ยวในกัมพูชายังคงเติบโตและทวีบทบาทสำคัญในการดึงดูดเงินตราจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศต่อเนื่อง ขณะที่ผลพวงจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กำลังหนุนเสริมให้รัฐบาลกัมพูชาประกาศเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและลงทุนสร้างสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวนี้
 
แนวโน้มดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กัมพูชาพัฒนาศักยภาพของสนามบินนานาชาติจังหวัดเสียมเรียบเมื่อปี 2006 เพื่อให้สามารถรองรับกับจำนวนและขนาดของเครื่องบินที่บินตรงจากทุกสารทิศเข้าสู่จุดหมายปลายทางเพื่อการเยี่ยมชมสถานที่มรดกโลกในเสียมเรียบ ซึ่งมี นครวัด และนครธม เป็นจุดหมายสำคัญ
 
สถิติของสนามบินนานาชาติเสียมเรียบระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่เสียบเรียบทางเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 300% คือเพิ่มจากระดับ 551,000 คนในปี 2003 มาสู่ระดับ 1.7 ล้านคนในปี 2012 
 
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2012 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้าสู่กัมพูชารวมกว่า 2.57 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 24% และทำให้ยอดรวมนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นจาก 2.88 ล้านคนในปี 2011 มาอยู่ที่ระดับ 3.3-3.5 ล้านคนในปี 2012 ซึ่งประมาณการว่าจะสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับกัมพูชารวมมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาทด้วย
 
ประเด็นที่น่าสนใจส่วนหนึ่งอยู่ที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นนี้ นักท่องเที่ยวจากเวียดนามกลายเป็น กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ด้วยจำนวนมากถึง 5.8 แสนคนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 25 ขณะที่เกาหลีและจีนตามมาเป็นลำดับที่ 2-3 ด้วยจำนวน 3.1 แสนคน และ 2.4 แสนคนตามลำดับ
 
ขณะเดียวกันกรณีความเชื่อมโยงของ AEC ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวจาก สปป. ลาวและจากไทย กลายเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเติบโตด้วยอัตราเร่งอย่างมีศักยภาพ โดยนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เพิ่มจำนวนขึ้นถึงร้อยละ 90 มาอยู่ที่ 1.8 แสนคน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ด้วยจำนวนประมาณ 1.4 แสนคนต่อปี
 
สอดรับกับการประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา ที่คาดหมายว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ล้านคนภายในปี 2015 และจะก้าวขึ้นสู่ระดับ 7 ล้านคนในปี 2020
 
การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศจะพัฒนาและปรับปรุงสนามบินที่มีอยู่เดิมให้กว้างขวางและรองรับกับการเติบโตดังกล่าว ควบคู่กับการหาสถานที่ในการลงทุนสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่
 
โดยในช่วงปลายปี 2012 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้กล่าวในการสัมมนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว 2012-2020 (2012-2020 Tourism Development Strategic Plan) โดยระบุว่าศักยภาพของสนามบินนานาชาติ ที่กัมพูชามีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาสนามบินแห่งใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าว
 
“จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราไม่สามารถใช้สนามบินโปเชนตง (สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ) ได้นานถึงปี 2030 อย่างแน่นอน และการขยายพื้นที่สนามบินโปเชนตง ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะมีพื้นที่จำกัดอยู่เพียง 450 เฮกตาร์และอยู่ใกล้เขตเมืองมากเกินไป” ฮุน เซน ย้ำ
 
โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกัมพูชานี้ เป็นการเข้าไปใช้พื้นที่ของสนามบินกองทัพอากาศกัมพูชา ที่เมืองกัมปง ชนัง และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 1,463เฮกตาร์ หรือประมาณ 9,000 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร โดยในพื้นที่จำนวนนี้บางส่วนถูกประชาชนเข้าครอบครองถึงกว่า 768 เฮกตาร์หรือประมาณ 4,600ไร่ แต่รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินดังกล่าวแล้ว และเตรียมพร้อมที่จะลงมือก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2025
 
การพัฒนาสนามบินแห่งใหม่นี้ ยังต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 5 หรือทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 ซึ่งจะเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรระหว่างกรุงพนมเปญ-กัมปง ชนัง และจากกัมปง ชนัง ถึง ศรีโสภณและปอยเปตอีกด้วย รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางน้ำและโดยระบบรางด้วย
 
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่กัมปง ชนังนี้ อยู่ที่รัฐบาลกัมพูชาได้เคยทำการศึกษาและวางแผนที่จะพัฒนาให้กัมปง ชนัง ก้าวหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งทางอากาศและภาคพื้นดิน ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคในฐานะที่เป็นประตูของการเชื่อมโยงกับนานาประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในลักษณะของ free enterprise zone ในอนาคต
 
แม้ว่าความสำเร็จของโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติกัมปง ชนัง จะยังอยู่ห่างไกลออกไปจากรูปธรรมที่จับต้องได้ในปัจจุบัน แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือทุนจากต่างประเทศต่างให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน และให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง 
 
บางทีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของกัมพูชา อาจฉายภาพเค้าโครงความต่อเนื่องที่ไปไกลกว่ามิติว่าด้วยการท่องเที่ยว หากแต่ยังรวมถึงกรอบโครงความคิดในการพัฒนาประเทศในระดับมหภาคด้วย