วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > AEC > ชัยชนะของ ชินโซ อาเบะ และการกลับมาของ “ความเป็นญี่ปุ่น”

ชัยชนะของ ชินโซ อาเบะ และการกลับมาของ “ความเป็นญี่ปุ่น”

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือ LDP (Liberal Democratic Party) จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พรรค LDP มีที่นั่งในสภาญี่ปุ่นมากถึง 294 ที่นั่งจากจำนวนรวม 480 ที่นั่ง ซึ่งเมื่อผนวกกับพันธมิตรจากพรรคนิว โคเมะโตะ (New Komeito) ที่ได้รับเลือกอีก 31 ที่นั่ง ก็หมายความว่าพรรครัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น ภายใต้การนำของชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) จะมีจำนวนเสียงมากถึง 325 ที่นั่ง ซึ่งเกินกว่า 2 ใน 3 ที่เป็นสัดส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายและนโยบายในอนาคตได้อย่างสะดวกด้วย
 
ผลการเลือกตั้งของญี่ปุ่นที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งสะท้อนความคิดและความหวังที่ชาวญี่ปุ่นปรารถนาจะให้รัฐนาวาลำใหม่ของชินโซ อาเบะ ต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเรื้อรังต่อเนื่องมานานนับทศวรรษ
 
โดยชินโซ อาเบะ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างกันยายน 2549-กันยายน 2550 มาแล้วหนึ่งครั้ง ประกาศตลอดการรณรงค์หาเสียงในปี 2555 ว่า จะฟื้นการเจริญเติบโต ด้วยการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งก็เป็นหลักนโยบายมาตรฐานของ LDP
 
หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง ผลการเลือกตั้งยังสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของชนชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาว่าด้วยอธิปไตยและดินแดน ที่กำลังเป็นกรณีพิพาทกับมหาอำนาจใหญ่อย่างจีน และความพยายามที่จะหวนกลับไปสร้าง “ความเป็นญี่ปุ่น” ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งไปในคราวเดียวกันด้วย
 
ชินโซ อาเบะ เคยนำเสนอวาทกรรมว่าด้วย “Beautiful Japan” มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อคราวที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เพื่อเป็นปฐมบทของการกำหนดทิศทางในแนวนโยบายใหม่ แต่รูปธรรมและความชัดเจนของ Beautiful Japan ที่ชินโซ อาเบะ พยายามนำเสนอกลับกลายเป็นเรื่องราวที่อยู่ไกลออกไปจากการสัมผัสจับต้องของสาธารณชนในขณะนั้น
 
และเป็นเหตุให้คะแนนนิยมในรัฐบาลตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และทำให้รัฐบาลชินโซ อาเบะ เดินเข้าสู่ฉากจบด้วยเวลาที่รวดเร็วเพียง 1 ปีเท่านั้น
 
ประเด็นที่น่าสนใจนับจากนี้ จึงอยู่ที่ว่า ชินโซ อาเบะ จะสามารถรักษาคะแนนนิยมจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดให้งอกเงย หรือมีท่วงทำนองที่ยืนยาวไปได้นานเพียงใด
 
เพราะในขณะที่ชินโซ อาเบะ จะต้องนำพาญี่ปุ่นออกจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจนั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบรรษัทญี่ปุ่นในเวทีการค้าโลกอยู่ในระดับที่ลดน้อยถอยลงเป็นระยะ และกำลังเผชิญกับความท้าทายและแรงเสียดทานจากผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งจากเกาหลีใต้เละจีน ช่วงชิงตลาดอย่างต่อเนื่อง
 
ปรากฏการณ์ว่าด้วยการยุบเลิกสายการผลิตหรือแม้กระทั่งการประกาศทยอยปิดตัวเองของบรรษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น กลายเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้อย่างเจนตามากขึ้น และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้บรรษัทชั้นนำของญี่ปุ่นต้องหันกลับมาพิจารณาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ในระยะยาว
 
ในอดีตที่ผ่านมา นโยบายและความต่อเนื่องในฐานะพรรครัฐบาลของ LDP อาจช่วยผลักดันให้กลไกการทำงานของ Keiretsu หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น สามารถรุกคืบหน้าไปแสวงประโยชน์ในหลากหลายพื้นที่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ภายใต้ห้วงเวลาปัจจุบัน สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจไม่ใช่ภาพของความคุ้นชินแบบเดิมอีกแล้ว
 
หากกล่าวเฉพาะในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งถือเป็นประหนึ่งสนามหลังบ้านและเขตอิทธิพลของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมาเนิ่นนานนั้น ภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากผลของการก้าวเข้าสู่ AEC หรือแม้กระทั่งการเปิดประเทศของเมียนมาร์ ได้เผยให้เห็นการขยายตัวเข้ามาแสวงหาโอกาสใหม่ของนานาประเทศ ที่เต็มไปด้วยมิติในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นสนามประลองกำลัง ไม่จำกัดเฉพาะในมิติของการเมืองระหว่างประเทศ หากยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจด้วย
 
การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล LDP ภายใต้การนำของชินโซ อาเบะ กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ Keiretsu อาจนำไปสู่แผนปฏิบัติการเชิงรุกครั้งใหญ่ของทุนจากญี่ปุ่น เพื่อช่วงชิงบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนนี้อีกครั้งและเป็นหลักประกันในการจำเริญเติบโตในอนาคต หลังจากที่ถูกผลักให้อยู่ในภาวะซบเซามายาวนาน
 
แต่มิติการรุกของญี่ปุ่นในยุคสมัยปัจจุบันย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสะดวกง่ายดาย ไร้แรงเสียดทานเหมือนช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา และยิ่งไปกว่านั้น อาจส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคู่แข่งขันที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ไม่ยากด้วย
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากกระแสความตื่นตัวในการสร้าง “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่ปรากฏให้เห็นผ่านผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ ซึ่งผูกโยงเข้ากับกระแสความตื่นตัวของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีแนวโน้มจะปลุก “ชาตินิยม” ที่พร้อมจะผลักให้ญี่ปุ่นมีท่าทีแข็งกร้าวในการเดินเข้าสู่เวทีแก้ปัญหาข้อพิพาทกับประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้านเสียด้วย
 
ชัยชนะในระดับ 54 ที่นั่ง ของพรรคพื้นฟูญี่ปุ่น หรือ Japan Restoration ภายใต้การนำของ Shintaro Ishihara นักการเมืองแนวอนุรักษ์-ชาตินิยม สายเหยี่ยว อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ซึ่งเคยเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นซื้อกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku) ในภาษาญี่ปุ่น หรือเตียวหยู (Diaoyu) ในภาษาจีน เพื่อยุติข้อพิพาทกับจีน สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนชาวญี่ปุ่นในกรณีดังกล่าวได้ไม่น้อย
 
แม้ว่าข้อเสนอที่ว่านี้ จะไม่ใช่ทางออกของปัญหาในมิติทางการทูตในระดับสากล และยังเป็นการเพิ่มความบาดหมางระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและจีนให้เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
 
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลง “ผู้นำ” ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว เพราะทั้งจีนและเกาหลีใต้ ต่างมีกำหนดที่จะได้เปลี่ยนผู้นำคนใหม่กันทั้งสิ้น
 
โดยในประเทศจีน สี จิ้น ผิง (Xi Jinping) ผู้นำจีนคนใหม่ ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังจะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม 2556 ส่วนปาร์ค กึน เฮ (Park Geun-hye) บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ค จุงฮี กำลังจะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่กำลังจะมาถึงนี้
 
การกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งใหม่ของชินโซ อาเบะ จึงเป็นประหนึ่งวิบากกรรมที่ซับซ้อน เพราะเขาคงต้องเลือกว่าจะแก้ไขปมปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือจะเลือกคลี่คลายปมปัญหาระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่รอคอยอยู่ข้างหน้า เพื่อสร้าง “Beautiful Japan” ให้ผลิดอกออกผลงอกเงยขึ้นมาใหม่