ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ยังดูซบเซา และยังมองไม่เห็นสัญญาณเชิงบวกว่าจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อใด ความเป็นไปอีกด้านของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกลับดูเหมือนจะถูกแต่งเติมสีสันและกระตุ้นให้มีความคึกคักมาตั้งแต่ช่วงต้นปีกันเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า “มิชลิน” สถาบันชื่อดังที่การันตีความอร่อยของรสชาติอาหารด้วยการมอบดาว 1– 3 ดวงให้กับร้านอาหารมาแล้วทั่วโลก ประกาศจะยกทีมมาชิมพร้อมติดดาวให้กับร้านอาหารในเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการร้านอาหารในเมืองไทยรวมไปถึงนักชิมด้วย
นัยสำคัญที่ชี้วัดว่าพฤติกรรมและรสนิยมผู้บริโภคเมืองไทย ที่ยกระดับการบริโภคอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยสามารถขยับและต่อยอดการเติบโตสู่ภูมิภาคเอเชียแล้ว โดยประเทศในเอเชียล่าสุดที่มิชลินบุกมาคือสิงคโปร์ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เป้าหมายที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาสัมผัสความหลากหลายของวัฒนธรรมและสีสันของอาหาร โดยมีญี่ปุ่นและฮ่องกงที่ได้รับการติดดาวมิชลินไปเมื่อหลายปีก่อน
สำหรับร้านอาหารในเมืองไทยย้อนยุคไปเมื่อ 10 ปีก่อน การเชิญเชฟระดับมิชลินติดดาวมาเป็น “เซเลบริตี้เชฟ” ให้กับโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อเสิร์ฟดินเนอร์สัก 2– 3 วัน ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ความน่าตื่นเต้นให้กับเหล่า Foodies เมืองไทย โดยเฉพาะในฐานะเรื่องเล่าถึงรสนิยมวิไลในหมู่คนรอบข้าง
แต่ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีร้านอาหารระดับมิชลินเข้ามาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ หนาตามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโจเอล โรบูชอง เชฟมิชลินระดับตำนาน, D´sen เชฟสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสที่มาเปิดสาขาที่โรงแรมดุสิตธานี, ร้าน Nahm (น้ำ) โดยเชฟเดวิด ทอมป์สัน มิชลิน 1 ดาวอาหารไทยจากลอนดอน, โว้ก เลานจ์ จากลอนดอน, ร้านสระบัว by Kin Kin ร้านอาหารไทยที่คว้ามิชลินจากเดนมาร์กก็มาเปิดสาขาที่โรงแรมแคมปินสกี้ กรุงเทพฯ, ร้านตินไท่ฟง ติ่มซำสัญชาติฮ่องกงที่คว้ามิชลินก็มาเปิดสาขาที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ฯลฯ
โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นที่เหล่า Foodies ไทยรุ่นใหม่ชื่นชอบนั้น ทั้งร้านอาหารชื่อดังและร้านอาหารระดับมิชลินตบเท้ามาเปิดสาขาที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก ล่าสุดร้าน Sushi Zo ร้านซูชิสไตล์โอมากาเสะ การันตีความอร่อยด้วย 2 ดาวมิชลินจาก LA ก็เพิ่งมาเปิดสาขาแห่งแรกที่พลาซ่า แอทธินี ทาวเวอร์ ถนนวิทยุ
ความน่าสนใจของ Sushi Zo Bangkok ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในฐานะที่เป็นซูชิในแบบฉบับ “โอมากาเสะ” หรือ “ซูชิตามใจเชฟ” ที่มีนัยความหมายว่าเชฟจะรังสรรค์เมนูซูชิในแต่ละมื้อตามแต่วัตถุดิบเลือกสรรที่ดีที่สุดในแต่ละวันเท่านั้น ซึ่งวัตถุดิบเกือบ 100% นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวญี่ปุ่นที่หุงด้วยน้ำแร่บริสุทธิ์ที่นำมาจากฮอกไกโด
โดยวัตถุดิบหลักที่นำมาทำซูชิรับประกันความสดเพราะสั่งตรงจากญี่ปุ่นวันต่อวันจากแหล่งตลาดปลาที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่นถึง 3 แห่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและบ่งบอกความสามารถในการจัดการความสดที่เป็นหัวใจของซูชิได้เป็นอย่างดี
กระนั้นก็ดี ความพิถีพิถันในเรื่องความสดใหม่ดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัจจุบันเหล่าซัปพลายเออร์ที่ญี่ปุ่นจะไปเลือกวัตถุดิบสดๆ จากตลาดเช้าตามออร์เดอร์ของลูกค้าไทย และแพ็กส่งขึ้นเครื่องบินถึงกรุงเทพฯ ช่วงบ่าย ตอนเย็นก็สามารถนำมาประกอบอาหารขายให้ลูกค้าคนไทยได้อร่อยเท่ากับคนญี่ปุ่นเลย
เสน่ห์ของการเสิร์ฟสไตล์โอมากาเสะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับการครีเอทีฟของเชฟทั้งสิ้น ดังนั้นลูกค้าจึงไม่สามารถเดาทางอาหารในแต่ละครั้งออกเลย อย่างเชฟโทชิ โอนิชิ เชฟประจำร้านนี้จะใช้จินตนาการสร้างสรรค์ซูชิในแต่ละมื้อจากวัตถุดิบที่ได้ในวันนั้น ซูชิประมาณ 18– 20 คำที่เชฟโทชิบรรจงเสกสรรปั้นมาให้ลิ้มลองนั้น จะเริ่มตั้งแต่รสชาติที่อ่อนเบา แล้วค่อยไต่ระดับความเข้มข้นของวัตถุดิบ และเมื่อถึงจุดหนึ่งเชฟก็จะแทรกเมนูเบาๆ เพื่อปรับสภาพการรับรู้รสชาติของลิ้น ก่อนจะเริ่มคำใหม่ที่สร้างความหฤหรรษ์ต่อไป และปิดท้ายความอิ่มเอมทุกครั้งด้วยซุปใสปลาที่หอมหวานตามธรรมชาติ
หากเปรียบความสุขจากการที่ได้ลิ้มรสซูชิจากรสมือของเชฟโทชิตลอดเวลา 2 ชั่วโมงนั้น ก็คงเป็นประหนึ่งช่วงเวลาของ การได้นั่งฟังท่วงทำนองเพลงแจ๊ซที่ทั้งสนุกสนาน และเต็มไปด้วยการด้น หรืออิมโพรไวส์ ผ่านประสบการณ์ Sushi Zo Bangkok ที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลาในเส้นทางของการสัมผัสกับรสชาติซูชิสไตล์โอมากาเสะ
แม้จะเพิ่งมาเปิดสาขาแห่งแรกในเมืองไทยของ Sushi Zo Bangkok แต่ลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรก็แห่มาจองกันเต็มเหยียด ขณะที่เหล่าร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่ตบเท้ามาเปิดในเมืองไทยและประสบความสำเร็จ คงเป็นหัวใจของ Success Story ในธุรกิจร้านอาหารที่ผู้ประกอบการคนไทยจะต้องศึกษาเตรียมพร้อมเพื่อไขว่คว้าหาดาวมิชลินมาประดับร้านสักดวง