วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > การข่มขืนในมหาวิทยาลัย

การข่มขืนในมหาวิทยาลัย

Column: Women in Wonderland
การถูกข่มขืนนั้นส่วนใหญ่จะเกิดในสถานที่เปลี่ยวหรือในที่ที่ไม่มีผู้คนผ่านในบริเวณนั้นมากนัก โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนหรือรุ่งเช้า แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าผู้หญิงไม่ได้ไปเดินในที่เปลี่ยวๆ ก็ยังถูกข่มขืนอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเด็กหญิงอายุ 13 ปีที่เดินทางพร้อมผู้ปกครองและถูกข่มขืนบนรถไฟ ที่มีคนอยู่เต็มขบวน หรืออย่างกรณีของคุณครูสาวที่ถูกข่มขืนในห้องพักของตัวเอง กรณีเหล่านี้ย้ำให้เราเห็นว่าทุกวันนี้ผู้หญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะพยายามหลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่ที่ตัวเองมีโอกาสตกเป็นเหยื่อแล้วก็ตาม
โดยปกติแล้วในสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษามักจะมีคนคอยดูแลรักษาความปลอดภัยของตัวอาคารอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษาจึงจัดว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้สถานที่เหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงอีกต่อไปถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำงานอยู่ตลอดเวลา
อย่างที่ประเทศอเมริกา มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย องค์การ Rape, Abuse and Incest National Network หรือที่เรียกอย่างสั้นๆว่า RAINN ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศอเมริกาเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศในสังคม ได้ทำการเก็บสถิติของของผู้หญิงที่ถูกข่มระหว่างปี 1995–2013 พบว่า 11.2% ของนักศึกษาที่มีประสบการณ์ถูกลวนลามหรือการใช้กำลังบังคับให้ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย การถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่นักศึกษาชาย เกย์ กระเทย และเลสเบี้ยนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนเช่นกัน
จากการเก็บสถิติของการถูกข่มขืนในช่วงเวลาดังกล่าวยังพบอีกว่า นักศึกษาหญิงระดับปริญญาตรีนั้นถูกข่มขืนในบริเวณมหาวิทยาลัยถึง 23.1% และมีผู้ชายที่ถูกข่มขืนถึง 5.4% ในขณะที่นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น มีนักศึกษาหญิงถูกข่มขืนประมาณ 8.8% และนักศึกษาชายประมาณ 2.2% และมีนักศึกษาทั้งผู้ชายและผู้หญิงประมาณ 5% รายงานว่า พวกเขาถูกตามจากคนโรคจิตเมื่อพวกเขาเริ่มเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย RAINN ยังได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การถูกลวนลามและการข่มขืนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกของการเปิดเทอมหนึ่งและเทอมสองในปีแรกที่นักศึกษาเหล่านั้นเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย
จากการเก็บข้อมูลของ RAINN ในครั้งนี้ยังพบอีกว่า ช่วงอายุระหว่าง 18–24 ปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงและผู้ชายส่วนใหญ่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นช่วงที่พวกเขามีโอกาสถูกข่มขืนมากที่สุด ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า 78% ของผู้ชายในช่วงอายุนี้ที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีโอกาสถูกข่มขืนมากกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกันแต่ไม่ได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
จากสถิติที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรื่องการข่มขืนในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีนักศึกษาทั้งผู้หญิงและผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้ยินข่าวเหล่านี้จากสื่อต่างๆ เท่าไหร่ แต่ถ้าหากลองดูจากสถิติของ RAINN เรื่องการข่มขืนในมหาวิทยาลัย เราจะพบว่า จำนวนครั้งที่เกิดในมหาวิทยาลัยนั้นมีมากกว่าที่เกิดการปล้นด้วยซ้ำ RAINN และนักศึกษาหญิงมีโอกาสที่จะถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยมากกว่าการถูกปล้นถึง 2 เท่า
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาการถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยคือนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อมักจะไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี ทำให้หลายครั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น คณะผู้บริหารและอาจารย์อาจจะไม่ทราบและไม่สามารถหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกได้ เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่บอกให้ใครทราบและไม่ได้มีการดำเนินคดีกับคนที่ทำผิด
เราจะเห็นได้จากสถิติข้างต้นว่า การถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยนั้นมีการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่กลับพบว่า มีนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงทางเพศเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในขณะที่คนที่ตกเป็นเหยื่อถูกลวนลามและถูกข่มขืนในสถานศึกษาตัดสินใจที่ไม่แจ้งความดำเนินคดีกับคนที่กระทำผิด
5 เหตุผลหลักที่เหยื่อไม่ไปแจ้งความดำเนินคดีคือ (1) มองเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแจ้งความหรือบอกใคร (2) กลัวจะถูกผู้ที่กระทำผิดกลับมาแก้แค้น ถ้าหากไปแจ้งความหรือบอกใคร (3) เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีความสำคัญที่จะต้องไปแจ้งความหรือบอกใครๆ (4) หากนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปบอกอาจารย์หรือแจ้งตำรวจจะทำให้ผู้กระทำผิดมีปัญหาตามมาในภายหลังได้ จึงตัดสินใจที่จะไม่แจ้งความหรือบอกใคร และ (5) เชื่อว่าถึงแม้จะไปแจ้งตำรวจ ตำรวจก็ไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้
ถึงแม้ว่าในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีตำรวจมหาวิทยาลัยคอยดูแลความเรียบร้อยและมีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับคนที่ทำความผิดในมหาวิทยาลัยและบริเวณรอบๆ และตำรวจมหาวิทยาลัยเองก็มีการวางแผนป้องกันการเกิดการข่มขืนและมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อแต่ก็ยังคงมีนักศึกษาทุกเพศที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในมหาวิทยาลัย และยังคงตัดสินใจที่จะไม่แจ้งความดำเนินคดีกับคนที่กระทำความผิดอีกด้วย
เรื่องการถูกลวนลามและถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยยังคงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหานี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากคณะผู้บริหารในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
อย่างเช่นกรณีของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกสื่อ เกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานศึกษา เนื่องจากมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งได้ฟ้องร้องศาลว่ามหาวิทยาลัย Stanford ขอให้นักศึกษาถอนคำยื่นข้อร้องเรียนเรื่องการถูกข่มขืนต่อคณะผู้บริหารในมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยพยายามปกป้องคนที่กระทำความผิดมากกว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงทางเพศ และการที่มหาวิทยาลัยไม่สนใจที่จะจัดการเรื่องนี้ ทำให้มีนักศึกษาหญิงหลายคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางเพศจากผู้กระทำผิดคนเดียวกัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกนักศึกษาชาย นามสมมุติว่า นาย ก ได้เข้ามาทำร้ายเธอและลากเธอไปในที่ลับตาคนเพื่อข่มขืน หลังจากที่นาย ก ข่มขืนเธอเสร็จแล้ว นาย ก ได้กระซิบกับเธอว่า จะไม่มีใครรับรู้เกี่ยวกับการตายของเธอ และหลังจากที่เธอรอดมาได้เธอได้ไปหานักจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยและเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น
นักจิตวิทยาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะเธอใส่เสื้อเปิดให้เห็นไหล่ข้างหนึ่ง ทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายและถ้าหากเธอไม่ต้องการตกอยู่ในอันตรายให้เธอแต่งตัวให้เรียบร้อย ต่อมาเธอได้เล่าเรื่องนี้ให้อาจารย์ฟังและอาจารย์ได้ให้ความเห็นว่า เธอควรจะไปพักผ่อนที่ชายทะเลเพื่อสงบจิตใจ
คำแนะนำที่เธอได้รับทำให้เธอตัดสินใจยื่นคำร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกข่มขืน เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนในมหาวิทยาลัยจะช่วยเธอได้ ตามกฎหมายของประเทศอเมริกามีการกำหนดไว้ว่า ถ้าหากนักศึกษายื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยว่าถูกลวนลามหรือถูกใช้ความรุนแรง มหาวิทยาลัยสามารถตรวจสอบและหากเป็นเรื่องจริง มหาวิทยาลัยสามารถที่จะไล่นักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย
หรือในระหว่างสอบสวนอาจจะให้นักศึกษาที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงหยุดเรียนไว้ก่อน ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับผิดชอบคำร้องในครั้งนี้ได้แจ้งกับเธอว่า กรณีนี้มีความเป็นไปได้ยากมากที่เธอจะหาหลักฐานมายืนยัน และเธอก็จะได้รับการปกป้องเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น โดยผู้พิจารณาคำร้องตกลงกับเธอว่า ให้เธอเลิกติดต่อโดยตรงกับนาย ก
1 ปีหลังจากที่เกิดเรื่อง นาย ก ก็ได้ใช้กำลังบังคับและข่มขืนนักศึกษาหญิงคนอื่นอีก ซึ่งนักศึกษาหญิงอีก 2 คนที่ถูกลวนลามและถูกทำร้ายร่างกายนั้นก็ได้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้ทำการตรวจสอบนาย ก และพบว่านาย ก มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเมื่อผู้หญิงปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย และมหาวิทยาลัยได้ตัดสินให้ผู้เสียหายทั้งหมดเลิกติดต่อพูดคุยโดยตรงกับนาย ก และไม่อนุญาตให้นาย ก เข้ามาในมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 10 ปี แต่นาย ก ก็ยังสามารถเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Stanford ถึง 2 ปริญญาและมีงานทำ
ในขณะที่นักศึกษาหญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงกลับต้องหยุดเรียนเพราะความเครียดและไม่สามารถลืมเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งต่อมาสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford ได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้จัดการเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม และทำให้มีนักศึกษาอีกหลายคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัย Stanford ได้ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยได้จัดการต่อคำร้องต่างๆ อย่างเหมาะสมแล้ว
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การถูกลวนลามและถูกข่มขืนที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยควรจะได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ และผู้บริหารรวมไปถึงอาจารย์ก็ควรที่จะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อ ทางที่ดีที่สุดควรจะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่นักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รู้ว่าสามารถขอคำแนะนำและดำเนินคดีกับคนที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไรบ้าง