วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จาก “10 ล้าน” สู่ “แสนล้าน”

ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จาก “10 ล้าน” สู่ “แสนล้าน”

 
 
แม้นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แชมป์เศรษฐีหุ้น 4 ปีซ้อน ถือครองหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 3 แห่ง คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ  บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และ บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) มูลค่าหุ้นรวม 67,244.71 ล้านบาท รวมทั้งยังกระโดดเข้าสู่สมรภูมิใหม่ “ทีวีดิจิตอล” มีช่องพีพีทีวีและช่องวันอยู่ในกำมือ
 
แต่หากนับแหล่งรายได้สำคัญของกลุ่มตระกูลปราสาททองโอสถยังมาจากธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหลัก เพราะสามารถสร้างรายได้มากกว่า 63,000 ล้านบาทต่อปี และล่าสุด นพ.ปราเสริฐ หรือ “หมอเสริฐ” ประกาศเป้าหมายจะผลักดันรายได้แตะ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2561 โดยกำลังวางยุทธศาสตร์การก้าวกระโดดอย่างเข้มข้น
 
เส้นทางการเติบโตของ “กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ” จนขยายเครือข่ายกลายเป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยึดกุมส่วนแบ่งในตลาด 60-70% เริ่มต้นลงหลักปักฐานสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพแห่งแรกในซอยศูนย์วิจัย เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ด้วยเงินทุนจดทะเบียนก้อนแรกเพียง 10 ล้านบาท!!! 
 
ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2534 จดทะเบียนแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2537 สามารถเพิ่มเงินทุนจาก 10 ล้านบาท เป็น 1,700 ล้านบาท
 
เมื่อธุรกิจโรงพยาบาลเติบโต จังหวะและโอกาสเปิดทางให้ BDMS รุกขยายอาณาจักร ทั้งลงทุนเปิดโรงพยาบาลสาขา ซื้อหุ้นร่วมทุนกับโรงพยาบาลอื่นๆ และซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง 
 
ปี 2553 เข้าลงทุนในบริษัท โรงพยาบาลกรุงธน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาด 150 เตียง โดยซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและปรับโฉมเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ในเวลาต่อมา 
 
แต่ดีลสำคัญที่ทำให้วงการธุรกิจเห็นความยิ่งใหญ่ของกลุ่ม BDMS เมื่อนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาล BNH ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทจะควบรวมกิจการ โดยเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของเครือ รพ.พญาไท และเครือ รพ.เปาโล เมโมเรียล จากบริษัทเฮลท์ เน็ตเวิร์ค ของวิชัย ทองแตง คิดเป็นมูลค่ารวม 9,825.36 ล้านบาท
 
การควบรวมกิจการครั้งนั้นเมื่อ 6 ปีก่อนทำให้กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากออสเตรเลีย วัดจากขนาดสินทรัพย์และมูลค่าตลาดรวม มีสินทรัพย์รวม 45,000 ล้านบาท มีรายได้รวมกัน 33,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1,900 ล้านเหรียญฯ มีเตียงคนไข้เพิ่มขึ้นทันทีเป็น 4,639 เตียง จากจำนวนเตียงของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 35,000-40,000 เตียง ส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจการแพทย์ในประเทศ เพิ่มเป็น 15% จาก 10%
 
ในปีเดียวกัน ทันทีที่กลุ่มเทมเส็คประกาศขายหุ้นที่ถืออยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) หมอเสริฐสั่งการรับซื้อหุ้นทั้ง 11% เพื่อปูทางสร้างฐานขยายเข้าสู่ตลาดโรงพยาบาลซูเปอร์พรีเมียม และยังทยอยซื้อหุ้น BH ต่อเนื่องจนล่าสุดถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 24% 
 
อีกด้านหนึ่ง บริษัทเริ่มรุกออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยตั้ง Holding Company ในประเทศสิงคโปร์ ในนาม BDMS Inter Pte. Ltd. เพื่อรองรับการลงทุนของกลุ่มในต่างประเทศ ทุนจดทะเบียนจำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐและตั้งบริษัท N Health Asia Pte. Ltd. สำหรับการลงทุนในธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) ของกลุ่มในต่างประเทศ ทุนจดทะเบียน จำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ จัดตั้งบริษัทย่อยอีก 4 แห่ง เพื่อลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอกชนและลงทุนด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่เป็น Holding Company ในประเทศสิงคโปร์
 
จนกระทั่งปี 2559 กลุ่มทุนของหมอเสริฐใช้เงิน 1,395 ล้านบาท ซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท เมโยโพลีคลีนิค จำกัด (เมโย) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเมโย และจะเปลี่ยนใช้แบรนด์ “เปาโล” เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากทำเลที่ตั้งของเมโยสะดวกต่อการเดินทางและใกล้เส้นทางการรถไฟฟ้าต่อขยายใหม่อีก 19 กิโลเมตร  ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 สามารถครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรใน 6 เขตใหญ่ คือ จตุจักร ลาดพร้าว บางเขน หลักสี่ และดอนเมือง
 
ก่อนส่งท้ายปีที่ผ่านมาด้วยดีลใหญ่ระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อบริษัทในเครือ บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนสคลีนิก จำกัด เข้าซื้อโรงแรมเก่าแก่อายุ 33 ปี สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 10,800 ล้านบาท จากตระกูล “สมบัติศิริ” และเตรียมงบลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้านบาท พัฒนาที่ดิน 15 ไร่ใจกลางกรุง รวมกับสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคารเพอเมอนาร์ด อาคารสต๊าฟ แคนทีน เนื้อที่มากกว่า 60,000 ตารางเมตร และอาคารโรงแรม  เพื่อสร้างอาณาจักรศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2560 
 
ช่วงระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ ทั้งลงทุนสร้างโรงพยาบาล ขยายสาขา และซื้อกิจการ จนล่าสุด อาณาจักรธุรกิจของ BDMS มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งหมด 44 แห่ง ภายใต้แบรนด์โรงพยาบาลหลัก 5 แบรนด์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพ จำนวน 20 แห่ง โรงพยาบาลสมิติเวช 5 แห่ง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง โรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง และโรงพยาบาลเปาโล 5 แห่ง 
 
นอกจากนี้ มีโรงพยาบาลอีก 2 แห่งในประเทศกัมพูชาดำเนินงานภายใต้ชื่อ Royal International Hospital และมีโรงพยาบาลอีก 6 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลสนามจันทร์ โรงพยาบาลเทพากร โรงพยาบาลเมืองเพชร โรงพยาบาลศรีระยอง รวมทั้งมีหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่อีก  3 แห่ง คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลเอกอุดร 
 
บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลที่จอมเทียน โรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลที่เชียงราย โดยวางแผนเปิดให้บริการภายในปี 2560 และอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุน ทั้งการซื้อโรงพยาบาล หรือการลงทุนเอง 
 
สำหรับคนในวงการธุรกิจและบรรดากูรูเชื่อมั่นว่า หมอเสริฐวางยุทธศาสตร์และเดินตามเกมทั้งหมด ตั้งแต่การเลือกซื้อกิจการโรงพยาบาลที่มีแบรนด์แข็งแรงในแต่ละกลุ่มลูกค้า เน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน ทำเลที่ตั้ง และเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ โดยเฉพาะเริ่มลุยนโยบายสร้าง Center of Excellence ในโรงพยาบาลทั้ง 5 แบรนด์หลัก มีศูนย์ใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งอยู่ใกล้สุดกับบิ๊กโปรเจกต์ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เพื่อขยายฐานลูกค้าต่างชาติกลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่มที่แห่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย นับเม็ดเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด
 
ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยยังมาจากกลุ่มลูกค้าคนไทยถึง 75% กลุ่มลูกค้าต่างชาติมีเพียง 25% ซึ่งหมายถึงโอกาสเติบโตอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากเทรนด์ความนิยม การเติบโตด้านการท่องเที่ยว การส่งเสริมของภาครัฐและค่าใช้จ่ายที่ยังถูกกว่าต่างประเทศค่อนข้างมาก 
 
ตามแผนเบื้องต้น “เวลเนส คลินิก” ของหมอเสริฐจะชูความโดดเด่นในแง่การเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง การเดินทางสะดวกสบาย ไม่ห่างจากเส้นทางรถไฟฟ้าและอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลหลักของกลุ่ม BDMS กลุ่มเป้าหมายหลักเน้นคนไทยใส่ใจสุขภาพ กำลังซื้อสูง และชาวต่างชาติที่ต้องการบริการด้านสุขภาพระดับพรีเมียม สัดส่วน 30 : 70 โดยบริการคนไข้นอก (OPD) จะเปิดทั่วไป ส่วนผู้ป่วยในจะให้บริการเฉพาะสมาชิก บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก
 
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายการลงทุนในหลายพื้นที่ ทั้งการร่วมทุนและเจรจาขอซื้อโรงแรมหลายแห่ง ซึ่งเน้นธุรกิจ Wellness Spa และ BDMS ซื้อที่ดินอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พัฒนาเป็น Wellness Clinic  เพื่อสร้างความครบวงจรและความหลากหลาย ลูกค้าสามารถเลือกพักผ่อนในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด
 
ส่วนตลาดคนไทยที่มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมากกว่า 3.4 แสนล้านบาทและเติบโตสูงขึ้นไม่แพ้กัน แม้กำลังซื้ออาจต่ำกว่าชาวต่างชาติ ในแง่วันพักและการจับจ่าย แต่ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่กลุ่ม BDMS สามารถยึดกุมได้เกือบทั้งหมด สามารถครอบคลุมทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 
 
ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายในต่างจังหวัดที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบี โรงพยาบาลเปาโลจับกลุ่มระดับซีถึงบี โรงพยาบาลพญาไทจับกลุ่มบีถึงบีบวก โรงพยาบาลสมิติเวชและบีเอ็นเอชจับกลุ่มเอ มีโรงพยาบาลกรุงเทพจับกลุ่มเอถึงเอบวก แต่หมอเสริฐส่งมอบนโยบายให้ทุกแห่งยกระดับมาตรฐานเพื่อรองรับลูกค้าพรีเมียมมากขึ้นและกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งตลาดอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า จีน อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง และภูฏาน 
 
นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ในเครือ BDMS กล่าวว่า ปีนี้ บริษัทใช้งบถึง 200 ล้านบาท เพื่อปรับมาตรฐานสถานที่และ International Ward ห้องพักอย่างหรูหรา ไม่ต่างจากห้องพักระดับพรีเมียมในคอนโดมิเนียม ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและสะดวกสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยหรือลูกค้ามีความรู้สึกแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากตั้งเป้าเพิ่มลูกค้ากลุ่มต่างชาติจากปัจจุบันมีสัดส่วน 18-20% จะเพิ่มเป็น 40-50 ภายใน 3 ปี และลูกค้าระดับพรีเมียม รวมถึงทำเลที่ตั้งของพญาไท 2 อยู่ติดกับโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ของโรงพยาบาลด้วย 
ระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะชี้อนาคตการก้าวกระโดดของกลุ่ม BDMS 
 
เป้าหมายรายได้ 1 แสนล้าน แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่น่าไกลเกินเอื้อมสำหรับ “หมอเสริฐ” แน่