Column: Well–Being
รู้มั้ย… ทำไมถึงอยากกินตลอดเวลา
ต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริง 10 ประการที่น่าประหลาดที่นิตยสาร GoodHealth นำมาอธิบายว่า ทำไมคุณจึงบริโภคมากเกินขนาดหรือรู้สึกอยากกินอยู่ตลอดเวลา
1. สารให้ความหวานสังเคราะห์ทำให้กินมากขึ้น
โดยเหตุที่สมองไม่สามารถเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า สารให้ความหวานสังเคราะห์มีผลต่อการปล่อยความหวานออกมา จึงกระตุ้นให้เกิดกระบวนการที่เพิ่มความอยากอาหารของคุณ ทำให้คุณบริโภคอาหารมากขึ้น เพราะสมองมีหน้าที่ทำให้ปริมาณพลังงานที่บริโภคเข้าไปสมดุลกับความหวานที่สมองตรวจจับได้
2. บริโภคน้อยลงก็ทำให้พึงพอใจได้เท่ากัน
คราวต่อไปเมื่อคุณรู้สึกโหยและอยากอาหารขบเคี้ยว ให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง นักวิจัยด้านจิตวิทยาอาหารผู้ทดสอบทฤษฎีดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ว่า เมื่อมีขนมขบเคี้ยวปริมาณน้อยให้คุณบริโภค คุณสามารถลดพลังงานที่บริโภคเข้าไปได้ถึง 400 กิโลจูลส์ เมื่อเทียบกับการที่มีอาหารประเภทเดียวกันมาวางไว้ตรงหน้าในปริมาณมาก แต่ผลที่ได้ไม่ต่างกันเลย เพราะหลังบริโภคไปแล้ว 15 นาที คุณรู้สึกพึงพอใจกับขนมขบเคี้ยวที่บริโภคเท่ากันไม่ว่าจะบริโภคทีละน้อยหรือทีละมากๆ
3. นอนไม่หลับคือศัตรูตัวฉกาจ
การนอนไม่หลับหรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายผลิต 2–AG มากขึ้น
2–AG เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหารตามธรรมชาติ ทำงานโดยควบคุมความสุขเพลิดเพลินที่คุณได้รับจากอาหาร ยิ่งมีสารตัวนี้ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดมากเท่าไร คุณจะยิ่งมีความสุขกับการบริโภคมากขึ้นเท่านั้น ภาวะนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมคนอดนอนจึงโปรดปรานขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังกรอบ ช็อกโกแลต หรือมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบนัก ทั้งๆ ที่เพิ่งบริโภคอาหารมื้อหลักไปได้ไม่นาน
4. ความเครียดมีบทบาทไม่น้อย
ผู้หญิงจำนวนมากยอมรับว่า ความเครียดมีผลทำให้ความอยากอาหารของพวกเธอเปลี่ยนแปลงไป มีถึงร้อยละ 62 บอกว่า พวกเธอรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น ที่สำคัญประเภทของอาหารที่อยากบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
นักวิจัยระบุว่า ความเครียดมีผลทำให้ “อาหารกินสะดวก” ประเภทพิซซาและไอศกรีมแลดูเตะตาน่ากินขึ้นมาก คำอธิบายหนึ่งคือ น้ำตาลและอาหารที่อุดมด้วยไขมันอาจช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียดน้อยลง
5. ออกกำลังกายต่อต้านความอยากอาหาร
หลังอาหารเที่ยง ให้หากิจกรรมที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวทางกายภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงความอยากอาหารขบเคี้ยวในช่วงบ่าย วิธีที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายประเภทแอโรบิก เพราะมันส่งผลต่อระดับของฮอร์โมนในลำไส้สองตัว โดยช่วยเพิ่มฮอร์โมนเปปไทด์ วายวาย และลดฮอร์โมนกรีลิน ซึ่งเป็นการผสมผสานที่มีผลต่อการควบคุมความอยากอาหาร และมีผลยาวนานถึงสองชั่วโมง
6. สมองมีศูนย์ควบคุมความอยากอาหาร
อวัยวะที่มีบทบาทในการหลั่งฮอร์โมนและสารเคมีที่มีอิทธิพลต่อความอยากอาหารไม่ได้มีเพียงลำไส้เท่านั้น สารเคมีเซโรโทนินที่สมองหลั่งออกมาก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน
เซโรโทนินกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ควบคุมความอยากอาหารให้ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น และสกัดกั้นให้เซลล์ประสาทที่เพิ่มความอยากอาหารทำงานลดลง
การนวดช่วยเพิ่มเซโรโทนินในสมองได้ โดยสามารถเพิ่มได้ถึงระดับร้อยละ 28
7. รูปอาหารในโซเชียลมีเดีย “ทำลายความอยากอาหาร”
ถ้าคืนนี้คุณมีนัดออกไปกินเลี้ยงสังสรรค์ อย่าเปิดดูโซเชียลมีเดียถ้าคุณรู้ว่าเพื่อนๆ ชอบโพสต์รูปอาหารมากมาย นักวิจัยกล่าวว่า การดูรูปอาหารมากเกินไป ทำลายความรู้สึกอยากอาหารได้ และทำให้ความสุขจากการบริโภคอาหารมื้อต่อไปลดลง รูปอาหารช่วยเพิ่มความรู้สึกอิ่มแปล้ ซึ่งทำให้คุณรู้สึกเบื่ออาหารที่กำลังบริโภคหรือจ้องดูได้
8. ต้องได้ยินเสียงตัวเองกินอยู่เสมอ
เสียงดังที่เกิดขึ้นขณะบริโภค เช่น เสียงเคี้ยวกร้วมๆ ทำให้ความอยากอาหาร “ณ เวลาจริง” ของคุณลดลงได้ เมื่อไรที่คุณไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้น คุณจะลงเอยด้วยการบริโภคอาหารมากขึ้นถึงร้อยละ 25
นักวิจัยแนะนำให้ใช้ “ภาวะเสียงเคี้ยว” นี้เป็นเครื่องตรวจวัดความรู้สึก เพื่อเตือนให้คุณรู้ว่าได้ตักอาหารเข้าปากไปแล้วมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ให้หรี่เสียงทีวีขณะบริโภค หรือหลีกเลี่ยงร้านอาหารที่มีเสียงดังรบกวนมาก
9. อย่าตัดสินใจครั้งสำคัญตอนหิว
เมื่อคุณหิว ฮอร์โมนกรีลินจะพุ่งขึ้นในระดับสูงสุด ฮอร์โมนกรีลินนอกจากจะกระตุ้นความอยากอาหารแล้ว ยังทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความหุนหันพลันแล่นทำงานเชื่องช้าลงด้วย
ผลคือ คุณจะพบว่าการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลทำได้ยากขึ้น จึงแนะนำให้ชะลอการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ เอาไว้ รอจนกว่าคุณได้บริโภคอาหารอิ่มแล้ว
10. อัลมอนด์ต่อต้านความอยาก
หากต้องการควบคุมความอยากอาหารให้ได้ผล กินอัลมอนด์วันละ 40 กรัม เมื่อกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการศึกษาในสหรัฐฯ ปฏิบัติตามนี้ หลังจากสี่สัปดาห์ไปแล้ว พบว่าพวกเขามีระดับความหิวและความอยากอาหารเมื่อถึงเวลากินอาหารลดลงมาก
แม้ว่าอัลมอนด์ปริมาณดังกล่าวจะให้พลังงานเพิ่มขึ้น 1,000 กิโลจูลส์ต่อวัน แต่ผู้เข้าร่วมการศึกษากลับมีน้ำหนักตัวคงที่ นักวิจัยอธิบายว่า อาจเป็นเพราะไขมันดี โปรตีน และเส้นใยที่มีอยู่ในอัลมอนด์นั่นเอง