ภาพแห่งความโกลาหลของประชาชนที่มาเข้าแถวรอแลกธนบัตรมูลค่าใบละ 500 และ 1,000 รูปีที่ถูกประกาศยกเลิกและกำลังจะมีสถานะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษไร้ค่าหากไม่นำมาแลกเป็นธนบัตรใหม่ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นอกจากจะดำเนินไปด้วยความตื่นตระหนกอย่างกว้างขวางแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อกลไกเศรษฐกิจของอินเดียในห้วงเวลาปัจจุบันอย่างไม่อาจเลี่ยง
การประกาศยกเลิกธนบัตรทั้งสองชนิดดังกล่าว ของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ในด้านหนึ่งดำเนินไปท่ามกลางเหตุผลของความพยายามในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและผู้ถือครองเงินนอกระบบในประเทศ
การขจัดธนบัตรปลอม และการตัดแหล่งเงินสนับสนุนของขบวนการก่อการร้ายเพื่อให้เงินผิดกฎหมายหรือเงินที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นถูกขจัดออกจากระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายที่โมดีได้ใช้หาเสียงในช่วงก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014
แม้ว่าการประกาศยกเลิกธนบัตรดังกล่าวจะได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จำเป็นในการปราบปรามเงินนอกระบบและการคอร์รัปชั่น และจะทำให้ปริมาณเม็ดเงินที่คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่าสองแสนล้านเหรียญสหรัฐที่อยู่นอกระบบของอินเดีย หลั่งไหลเข้ามาเติมเต็มสู่ระบบธุรกิจ บัญชีของธนาคาร และที่สำคัญเป็นภาษีและรายได้เข้าสู่รัฐ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนเรนทรา โมดี ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม (GST: Goods and Services Tax Bill) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2017 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้รับการประเมินว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญของอินเดียอีกด้วย
แต่ผลของประกาศยกเลิกธนบัตรอย่างฉับพลันครั้งนี้ ในด้านหนึ่งกลายเป็นเหตุให้ประชาชนชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินทั้งบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ซึ่งนำไปสู่ความไม่พึงพอใจและการเข้าแถวแลกธนบัตรใหม่ที่ต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียยังได้ลดจำนวนเงินที่อนุญาตให้แลกจาก 4,500 รูปี เหลือ 2,000 รูปี เนื่องจากสงสัยว่าหลายคนรับจ้างกลุ่มขบวนการอาชญากรรมมาฟอกเงินด้วยการแลกหรือฝากธนบัตรเก่าก่อนถึงกำหนดเส้นตาย 30 ธันวาคมนี้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของเศรษฐกิจอินเดียในช่วงที่ผ่านมา อยู่ที่ธุรกิจนอกระบบที่ประกอบส่วนเป็นภาคเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ (informal economy) มีบทบาทต่อการเติบโตและมีสัดส่วนสำคัญต่อตัวเลข GDP ของอินเดียไม่น้อยเลย และดำเนินไปท่ามกลางธุรกรรมและการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสด
โดยมากกว่าร้อยละ 45 ของเงินสดเหล่านี้อยู่ในรูปของธนบัตรมูลค่า 500 รูปี และธนบัตรที่ถูกยกเลิกนี้หมุนเวียนอยู่ในตลาดมากถึงร้อยละ 86 ภาวะเงินขาดมือของธุรกิจรากหญ้าจึงติดตามมาด้วยความชะงักงันในการบริโภคอย่างฉับพลันไปโดยปริยาย
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของอินเดียที่มีช่องห่างกันอย่างมากระหว่างเมืองกับชนบท กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการยกเลิกธนบัตรของรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างหนักหน่วง เพราะกลุ่มประชากรเหล่านี้ไม่ได้เข้าถึงกลไกและการบริการของระบบธนาคารทั่วไป หากดำรงชีวิตอยู่ด้วยการไหลเวียนและแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านกระแสของเงินสดเป็นหลัก
ผลกระทบที่แผ่กว้างออกไปทั่วประเทศอินเดียส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของนเรนทรา โมดี ได้หยิบยกความไม่พึงพอใจของประชาชนและผลกระทบจากมาตรการยกเลิกธนบัตรขึ้นมาโจมตีเขาในการประชุมรัฐสภาเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเปรียบเปรยนเรนทรา โมดี เป็น “Modi Antoinette” พร้อมกับเสียดเย้ยด้วยป้ายข้อความที่ระบุว่า “Let them use plastic” รวมถึงเรียกร้องให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าว
เสียงเรียกร้องและข้อวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภาไม่ได้ดังก้องแล้วผ่านหายไปแต่อย่างใด เพราะเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงผลกระทบของมาตรการยกเลิกธนบัตรที่ว่านี้ กำลังขยายผลกระทบต่อเนื่องหนักหน่วง และเป็นเหตุให้รัฐบาลอินเดียต้องประกาศมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ในเวลาต่อมา
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ อินเดียมีเกษตรกรประมาณ 260 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคารและต้องพึ่งพาผู้ปล่อยเงินกู้ท้องถิ่น กลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกธนบัตรอย่างไม่อาจเลี่ยง
หลังจากที่เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถขายผลผลิตได้เนื่องจากลูกค้าไม่มีเงินสดมาจ่ายชำระค่าพืชผลทางการเกษตร จนเป็นเหตุให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาตรการเยียวยา ด้วยการอนุมัติให้เกษตรกรเบิกสินเชื่อการเกษตรได้สูงสุดสัปดาห์ละ 25,000 รูปี หรือประมาณ 13,047 บาท เพื่อให้สามารถเพาะปลูกช่วงฤดูหนาวได้ตามปกติ และขยายกำหนดเวลาชำระเบี้ยประกันพืชผลออกไปอีก 15 วัน
แม้ว่าความพยายามของรัฐบาลอินเดียที่จะขจัดเงินที่ได้มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นออกจากระบบ และขจัดปัญหาธนบัตรปลอม เนื่องจากในช่วง 5 ปีหลังมานี้ พบการหมุนเวียนของธนบัตร 2 ชนิดนี้สูงผิดปกติ รวมทั้งแก้ไขปัญหาหลีกเลี่ยงภาษีที่มีผู้ซุกซ่อนเงินสดไว้เป็นจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็ง อาจหลบเลี่ยงการตรวจสอบและผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายกว่าสุจริตชน ทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วไป
เพราะอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์และผลกระทบจากการยกเลิกธนบัตรที่ว่านี้ กลายเป็นว่าผู้มั่งมีจำนวนหนึ่งได้แปลงสภาพเงินสดในมือด้วยการจองซื้อตั๋วโดยสารรถไฟชั้นธุรกิจล่วงหน้า ในเส้นทางระยะทางไกลที่สุดที่สามารถจองได้จนเต็มไปตลอด 4 เดือนข้างหน้าและอาจจะขอยกเลิกการเดินทางเพื่อรับเงินคืนเป็นธนบัตรรุ่นใหม่แทน
การประกาศยกเลิกธนบัตร อาจส่งผลให้กระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอินเดียได้รับการจัดระเบียบและเสริมสร้างให้บัญชีเงินฝากของแต่ละธนาคารปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจติดตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อระลอกใหม่ ยังไม่นับรวมถึงการเพิ่มรายได้เข้ารัฐจากภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่ของอินเดีย เพราะประชากรจำนวนมากอยู่ในธุรกิจนอกระบบ
แต่สำหรับในมิติว่าด้วยการปราบปรามการคอร์รัปชั่นดูเหมือนว่ารัฐบาลอินเดียคงต้องออกมาตรการที่เข้มงวด จริงจัง มีประสิทธิภาพและมีผลเฉพาะเจาะจง ที่สามารถจัดการกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงมากกว่านี้ในอนาคต