Column: Women in Wonderland
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ในช่วงหลังมานี้เราจะได้ยินเกี่ยวกับโรคนี้บ่อยมาก ทุกวันนี้มีคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ บางคนรู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าก็ไปรักษา ในขณะที่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ทำให้คนเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วตัดสินใจฆ่าตัวตาย จากสถิติพบว่าคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำวิจัยและมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นโรคอันดับ 2 ของปัญหาสุขภาพของผู้คนทั่วโลกรองจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เนื่องมาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และสังคมที่มีความกดดันมากขึ้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เพราะในกรณีที่แย่ที่สุดผู้ป่วยอาจจะฆ่าตัวตายได้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความคิด คนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่มีความสนุกสนานในการใช้ชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้าย อ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ใจลอย และคิดเรื่องการตายซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง
สาเหตุหลักๆ ที่กระตุ้นให้คนเป็นโรคซึมเศร้าคือ สภาพจิตใจจากสภาวะแวดล้อมที่ต้องเผชิญ เช่น พบเจอกับความเครียดหนักๆ มีปัญหาชีวิต เจ็บป่วยเรื้อรังมานานจนหมดกำลังใจที่จะสู้ ปัญหาการเงิน ต้องย้ายบ้านกะทันหัน มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และพบกับการสูญเสียในชีวิต และถ้าหากต้องพบเจอกับเหตุการณ์หรืออารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็จะเป็นตัวช่วยเร่งให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ ปัจจุบันนี้พบว่า ผู้หญิงจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 70% และพวกเธอมักจะเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้าเมื่ออายุประมาณ 32 ปี
เนื่องจากทุกวันนี้มีคนเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมาก ทำให้กระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศ พยายามที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากที่สุด สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนที่เป็นโรคนี้คือ พวกเขามีอาการทุกอย่างปกติ ถ้าไม่สังเกตให้ดีอาจจะไม่เห็นอาการต่างๆ เลยก็เป็นได้ ดังนั้นคนที่สำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและคนใกล้ชิดที่จะต้องสังเกตว่าคนในครอบครัวมีอาการอะไรที่ผิดปกติไปหรือไม่
กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละประเทศจึงได้ใช้แบบสอบถามง่ายๆ ในการประเมินตนเอง ด้วยการถามว่าในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาคุณมีอาการ ความคิด หรือลักษณะเหล่านี้บ้างหรือไม่ และถ้าหากตอบว่ามีมากกว่า 1 หรือ 2 ข้อ แปลว่าคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรที่จะไปพบจิตแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษา
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นส่งผลให้ผู้รับประทานยามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่ไม่ได้ทานยาคุมกำเนิด
บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นมักจะมีผลข้างเคียง นอกจากผลข้างเคียงที่มีอาการเวียนหัวและอาเจียนแล้ว ผลข้างเคียงที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เจอคือ อารมณ์ที่เหวี่ยงไปมา และในบางคนก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้า และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานยาคุมกำเนิด
แต่หลายๆ ครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องของผลข้างเคียงจากการทานยาคุมกำเนิด แพทย์หลายท่านจะพูดถึงว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นย่อมมีผลข้างเคียงเป็นธรรมดาแต่ไม่ร้ายแรงมาก หรือถ้าหากไม่ต้องการให้มีผลข้างเคียงมากขนาดนี้ ก็ยังสามารถเลือกวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นได้ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการทานยา ซึ่งการที่แพทย์หลายท่านออกมาพูดแบบนี้ ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยตัดสินใจที่จะหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดเอง หลังจากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ตัดสินใจหยุดรับประทานยาหลังจากที่รับประทานยามาไม่เกิน 1 ปี เมื่อรู้สึกว่าผลข้างเคียงจากการทานยานั้นมีเยอะเกินไป
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการคุมกำเนิด งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลา 13 ปีกับผู้หญิงชาวเดนมาร์กที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 34 ปี ซึ่งพบว่า ผู้หญิงมากกว่า 30% ที่รับประทานยาคุมกำเนิดมีอาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และกลุ่มวัยรุ่นถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดในการรับประทานยาคุมกำเนิดและมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูง
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่ใช้วิธีควบคุมฮอร์โมน อย่างเช่นยาคุมกำเนิดแบบฝัง และห่วงสอดช่องคลอด เป็นต้น ที่แพทย์มักจะแนะนำสำหรับคนที่ไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิด กลับให้ผลที่แย่กว่า ผู้หญิงที่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการควบคุมฮอร์โมนที่ไม่ใช่การรับประทานยาจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดในการเป็นโรคซึมเศร้า
ดังนั้นหากผู้หญิงหลายคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้า การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่ใช้การควบคุมฮอร์โมน ก็จะทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลงไปอีก การศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สังเกตอีกด้วยว่า ถ้าหากผู้หญิงคนไหนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว หมอมักจะไม่ให้รับประทานยาคุมกำเนิด เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง
งานวิจัยชิ้นนี้นับว่าเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญ ที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกต้องหันมาศึกษาและให้ความสนใจเรื่องผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมกำเนิดมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะพูดกันบ่อยครั้งว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นยังไงก็ต้องมีผลข้างเคียงตามมา แต่ไม่เคยมีการพูดกันว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดนั้น จะส่งผลให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกในการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะโดยปกติแล้วผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่าอยู่แล้ว และยิ่งรับประทานยาคุมกำเนิดเข้าไปก็จะทำให้มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นในการเป็นโรคซึมเศร้า
สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยคือ ผู้หญิงทุกคนต่างรู้ว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดนั้น ยังไงก็ต้องมีผลข้างเคียงกับร่างกาย แต่ทุกคนต่างก็ยอมรับในข้อนี้และรับประทานยาคุมกำเนิด เพราะผลข้างเคียงจากการรับประทานยา ยังไงก็ดีกว่าการตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม ดังนั้นต่อให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า ยังคงมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ยังจะรับประทานยาคุมกำเนิดต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่ายาคุมกำเนิดอาจจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะการรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่ให้ผลในการป้องกันเกือบจะ 100% และเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากอะไรมาก
เมื่อการป้องกันการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกครอบครัว แล้วทำไมจึงต้องเป็นผู้หญิงที่รับผิดชอบเรื่องการคุมกำเนิด ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดควรจะเป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ในช่วงหลายปีมานี้มีการพูดถึงการใช้ยาคุมกำเนิดกับผู้ชาย องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ออกทุนให้กับสถาบันต่างๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ และพบว่ามียาหลายตัวที่สามารถใช้คุมกำเนิดกับผู้ชายได้ แต่ยังไม่มีการทดสอบและได้ผลที่แน่นอนว่า สามารถใช้ในการคุมกำเนิดในผู้ชายได้เหมือนกับผู้หญิง
เมื่อปี 2013 รองศาสตราจารย์ Qinglei Li จากมหาวิทยาลัย Texas A&M ได้ทดลองใช้ยาบางตัวกับหนู และพบว่ายาตัวนี้สามารถยับยั้งการผลิตสเปิร์มและการเคลื่อนตัวของสเปิร์มได้อย่างรวดเร็ว ยาตัวนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และไม่ส่งผลกระทบใด เพราะหลังจากที่ฉีดยาตัวนี้เข้าไปในหนู ก็พบว่าหนูสามารถผลิตสเปิร์มได้ในอัตราปกติและยาตัวนี้ไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์หรือส่งผลกระทบต่อลูกหรือหลานในรุ่นต่อไป
ยาตัวนี้ยังต้องรอให้มีการรับรองก่อนจึงจะสามารถนำมาทดลองในคลินิกได้ ซึ่งทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ Qinglei มีความเชื่อว่า ยาตัวนี้น่าจะสามารถพัฒนาเป็นยาเม็ดสำหรับกินได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องฉีดเข้าร่างกายอย่างเดียวเหมือนกับที่ทำการทดลองกับหนู
ถ้าหากว่ายาตัวนี้สามารถพัฒนาขึ้นมาได้จริงๆ ก็คงจะดีไม่น้อยเลย เพราะต่อไปเรื่องการคุมกำเนิดจะไม่ได้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นคนป้องกันการตั้งครรภ์ได้เหมือนกัน ในงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมาพบว่า ถ้าหากยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายสามารถผลิตออกมาขายได้เหมือนกับยาคุมกำเนิดที่ผู้หญิงรับประทานอยู่ ก็มีผู้ชายถึง 70% ด้วยกันที่พร้อมจะรับประทานยาคุมกำเนิดแทนฝ่ายหญิง ถึงแม้ว่าจะมีผู้ชายอีกหลายคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดนี้และยังคงมองว่าการคุมกำเนิดเป็นเรื่องของผู้หญิง
ทุกวันนี้การคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวให้ความสำคัญ ดังนั้นการที่จะห้ามหรือให้ลดการรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ผู้หญิงที่จะรับประทานยาคุมกำเนิดก็ควรจะต้องพิจารณาหรือคอยสังเกตตัวเองด้วยว่า มีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้าหากมีอาการโรคซึมเศร้าแล้วรับประทานยาคุมกำเนิด อาจจะทำให้อาการแย่ลง และท้ายสุดอาจจะทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ และในอนาคตเมื่อยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายมีการผลิตออกมา ทุกครอบครัวก็น่าจะมีทางเลือกมากขึ้นในการป้องกันการตั้งครรภ์
(Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/the-pill-1477281)