วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทย ลุ้นไตรมาสสี่ส่งสัญญาณพุ่งหรือฟุบ

โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทย ลุ้นไตรมาสสี่ส่งสัญญาณพุ่งหรือฟุบ

 
 
เศรษฐกิจไทยในปี 2559 กำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงโค้งสรุปสุดท้ายของปี หลังจากที่ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แม้ในบริบทแห่งข้อเท็จจริงดูจะสวนทางทั้งกับอารมณ์ความรู้สึกและสภาพการณ์ที่สัมผัสได้ก็ตาม
 
จริงอยู่ที่ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะปรากฏสัญญาณบวก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ด้วยไม่น้อย ไม่นับรวมในประเด็นที่ว่าปัจจัยบวกดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลของความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้นเป็นครั้งคราวของรัฐบาล ขณะที่ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร 
 
ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่รากหญ้าไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและการลงทุนเอกชนจะเริ่มเห็นผล แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะยังปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่จริงจังเท่าใดนัก
 
ความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ด้านการส่งออก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีที่มีผลต่อตัวเลขจีดีพีเท่านั้น หากกรณีดังกล่าวยังสะท้อนความเป็นไปในภาคเรียลเซ็กเตอร์ที่พร้อมจะนำไปสู่การปิดโรงงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจเทรดดิ้ง
 
ความกังวลใจของภาคธุรกิจในมิติที่ว่านี้สะท้อนออกมาเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้นำในกระบวนการสร้างดีมานด์กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนด้วยเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ
 
ประเด็นที่ว่านี้ ดูเหมือนภาครัฐก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากความพยายามของรัฐไทยในการกระตุ้นธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งการสร้างวาทกรรม ประเทศไทย 4.0 ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีรูปธรรมแข็งแรงให้จับต้องได้มากนัก และทำให้กรอบนโยบายที่ว่านี้กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามสื่อสารประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการรับรู้แต่ขาดผลสัมฤทธิ์ไปโดยปริยาย 
 
ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกผูกเข้ากับประเด็นว่าด้วยการลงทุนภาครัฐหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งระดมใช้เงินงบประมาณให้หมดไปแทนที่จะพิจารณาที่ประเด็นปัจจัยความจำเป็นในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและรายได้ของประชาชนในระยะยาว
 
หากกล่าวอย่างถึงที่สุด ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมิได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากผลของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ (Private Consumption) ชะลอตัวจากภาระหนี้สินภาคประชาชน โดยเห็นได้ชัดจากการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าคงทนที่ดัชนีการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Index) ขยายตัวในอัตราติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี
 
ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักคือประเทศจีน ทำให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของสินค้าส่งออกซึ่งเคยเป็นปัจจัยหนุนนำทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างยาวนาน มีแนวโน้มที่จะอัตราขยายตัวติดลบต่อเนื่องตลอดทั้งปี
 
แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประเมินและกำหนดเป้าหมายการทำงานไว้ว่า จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวที่ร้อยละ 5 หรือเฉลี่ย 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนก็ตาม แต่แผนการปฏิบัติงานดังกล่าวอาจไม่ได้ผลงดงามสวยหรูอย่างที่คาด แม้โดยภาพรวมอาจจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นบ้าง
 
กรณีที่ว่านี้ส่งผลสืบเนื่องไปสู่การผลิตที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก โดยที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index) มีอัตราการขยายตัวติดลบ ซึ่งการผลิตที่ชะลอตัวนี้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Industrial Capacity Utilization) ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนและการจ้างงานอีกด้วย
 
ประเด็นแวดล้อมดังกล่าวนี้ส่งผลให้นักวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยดำเนินไปอย่างมีข้อจำกัดจากผลของปัจจัยภายในที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมขณะที่ปัจจัยสถานการณ์เศรษฐกิจระดับนานาชาติก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณบวกที่ชัดเจนนัก
 
ปัจจัยบวกที่พอจะมีอยู่บ้างในช่วงที่ผ่านมาประการหนึ่ง อาจอยู่ที่การแถลงรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPs Report ประจำปี 2559 โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เลื่อนอันดับไทยสู่สถานะที่ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch list หรือ Tier 2.5) จากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 (Tier 3 ) ที่มีสถานะเลวร้ายสุด ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น 
 
ประเด็นที่ว่านี้ รัฐบาลพยายามขยายผลให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของภาพลักษณ์ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) แต่ไม่ได้หมายความว่าคำสั่งซื้อในสินค้าเหล่านี้จะกลับมาโดยทันที และในหลายกรณีไทยได้สูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งขันรายอื่นๆ ไปแล้ว
 
ความเป็นไปที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ในด้านหนึ่งอยู่ที่ความสามารถในการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และการลดทอนภาระหนี้สินครัวเรือนให้น้อยลง ซึ่งดูเหมือนประเด็นที่ว่านี้จะดำเนินไปได้ยากตราบใดที่กลไกของรัฐยังมุ่งเน้นการสร้างกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหมุนวนชั่วครั้งชั่วคราวจากการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว ทั้งที่ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
 
ตัวเลขทางเศรฐกิจที่ประกาศ คาดการณ์ทั้งโดยหน่วยงานภาครัฐและจากสถาบันนักวิเคราะห์ทั้งหลาย อาจให้ภาพความเป็นไปของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง 
 
แต่สำหรับประชาชนคนทั่วไปที่เผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนในแต่ละวัน ปริมาณเม็ดเงินในกระเป๋าที่สามารถจะนำมาใช้จับจ่ายแลกกับปัจจัยสี่เพื่อการยังชีพ ต่างหากที่เป็นข้อมูลพื้นฐานชี้วัดความอยู่เป็นที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า
 
บางทีโค้งสุดท้ายในไตรมาสสี่ ที่หลายฝ่ายมุ่งหมายและคาดหวังให้เป็นประหนึ่งสุดท้ายที่ปลายอุโมงค์ก่อนการลุกเดินไปข้างหน้า อาจเป็นเพียงสัญญาณบ่งชี้ทิศทางที่หนักหนายิ่งขึ้นสำหรับรูปการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในห้วงอนาคตของปี 2560 ก็เป็นได้