“สมัยก่อนไม่มีร้านขายผ้าไหม ต้องไปดูตามหมู่บ้าน หรือร้านขายข้าวสารเพราะชาวบ้านมักจะนำผ้าไปแลกเป็นข้าวสาร” เรื่องเล่าจากการจัดเสวนา “เปิดกรุ ทะลุตู้ ดูผ้ามัดหมี่แสนรัก แสนหวง” ที่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าโบราณ และนักสะสมผ้ามัดหมี่ร่วมพูดคุย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ “มัดหมี่” สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย ที่จัดขึ้นตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 25 กันยายน 2559 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า
เทรนด์การนุ่งผ้าไทยในชีวิตประจำวันกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี ซึ่งเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองร่วมรณรงค์ “แต่งผ้าไทยใส่ผ้าซิ่น” เพื่อสนับสนุนให้เป็นต้นแบบในการแต่งกายด้วยผ้าไทยกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ผ้าซิ่นนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของหญิงไทยในสมัยโบราณ การทอผ้าเป็นงานในบ้าน ลูกผู้หญิงซึ่งมีหน้าที่ทอผ้าได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้เป็นแม่จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการทอผ้านั้นจะใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานบุญประเพณีต่างๆ การนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงจึงเป็นเสมือนการแสดงฝีมือของตนให้ปรากฏ
นอกจากนี้ ผ้าซิ่นของไทยมักจะแบ่งได้เป็นสองลักษณะ 1. ผ้าซิ่นสำหรับใช้งานทั่วไป มักจะไม่มีลวดลายมากนัก ทอด้วยผ้าฝ้ายหรือด้ายโรงงาน (ในสมัยหลัง) อาจใส่ลวดลายบ้างเล็กน้อยในเนื้อผ้า 2. ผ้าซิ่นสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษมักจะทอด้วยความประณีตเป็นพิเศษ มีการใส่ลวดลาย สีสันงดงาม และใช้เวลาทอนานนับแรมเดือน ขนาดและลักษณะของผ้าซิ่นนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือ รสนิยม กระบวนการทอในแต่ละท้องถิ่น และยังขึ้นอยู่กับขนาดของกี่ทอด้วย ซึ่งการทอผ้าด้วยกี่หน้าแคบ จะได้ผ้าที่แคบ ผ้าซิ่นสำหรับใช้จริงจึงต้องนำมาต่อเป็นผืนให้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผ้าซิ่นในปัจจุบันจะทอด้วยกี่หน้ากว้าง ไม่ต้องต่อผืนอย่างในสมัยโบราณอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้วยการรณรงค์การนุ่งผ้าไทยในชีวิตประจำวัน ยังมีหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ที่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ “ห่มรักถักทอ ตามรอยแม่” ที่ผู้ประกาศหญิงจากสำนักข่าวไทยลุกขึ้นมาปลุกกระแสนุ่งผ้าไทย ให้เก๋ไก๋อินเทรนด์ ซึ่งวัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น ผู้ประกาศข่าวต่างประเทศ สำนักข่าวไทย ยังแนะนำวิธีการนำผ้าไทยมามิกซ์แอนด์แมตช์ว่า
“ผ้าไทย คือ ภูมิปัญญาของคนไทย เป็นเอกลักษณ์ที่ควรรักษาไว้ คนรุ่นใหม่ก็สามารถใส่ได้และทำให้คนเหลียวมองได้ ที่สำคัญการแต่งผ้าไทย ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง เราสามารถเลือกจัดวางได้ว่าผ้าลายแบบนี้ การใส่เสื้อต้องเป็นแบบไหน หรือใส่ให้สีสันตัดกันไปเลย ไม่จำเป็นต้องใส่กับเสื้อลูกไม้เสมอ ถ้าผ้าซิ่นของเรามีลายเยอะ ควรเลือกเสื้อสีพื้นๆ ลายเรียบๆ ผ้าผืนเดียวสามารถนำมานุ่งได้หลายแบบ ซึ่งรูปแบบของการนุ่งผ้าก็มีส่วนสำคัญที่เสริมลุคให้ดูเก๋ขึ้นได้”
ทั้งนี้การที่หลายฝ่ายร่วมรณรงค์ให้คนไทยหันไปสวมใส่ผ้าไทย ถือว่าเป็นการกระจายเม็ดเงินและสร้างรายได้ให้เข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง นอกจากเป็นการสนับสนุนอาชีพของเกษตรกรที่มีอาชีพทอผ้าหลังหมดฤดูทำนา ยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
แม้ว่า “ผ้า” จะเป็นเครื่องนุ่งห่มประดับกายที่สำคัญ และถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ที่ไม่เพียงแต่การให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย หากแต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์
กระนั้นประเทศไทยยังมีการค้นพบหลักฐานการทอผ้ามานานหลายพันปีและได้มีการสืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน โดยแต่ละภูมิภาคจะมีรูปแบบลวดลายและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่เรียกโดยรวมว่าเป็น “ผ้าไทย” แม้ว่าปัจจุบันกระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทำให้ผ้าไทยค่อยๆ เลือนหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งบางคนอาจจะมองเห็นเป็นเพียงของเก่าโบราณ เหมาะกับคนรุ่นเก่าๆ ล้าสมัย และหยิบใช้เนื่องในโอกาสสำคัญเท่านั้น
แม้ว่าการแก้ปัญหาของทางภาครัฐในเรื่องเศรษฐกิจที่ใช้วิธีการหว่านเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนั้นยังคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เม็ดเงินแทรกซึมเข้าไปถึง ดังนั้นการช่วยเหลือพยุงตัวเองของกลุ่มเกษตรกรได้ดีที่สุด คือการทำอาชีพเสริม
ภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2559 ยังคงมีการผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2558 ภาพการลดจำนวนลงของผลผลิตในอุตสาหกรรมสะท้อนถึงความไม่มั่นคงของผู้ผลิตต่อการขยายตัวของตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ความไม่ชัดเจนของการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง (ได้แก่ จีน และประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่) และแนวโน้มการลดลงของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนความมั่นใจของผู้บริโภค ในการจับจ่ายใช้สอยและกดดันในตลาดสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังมีความอ่อนแอและเปราะบาง
ปัจจุบันดีไซเนอร์ไทยให้ความสำคัญกับผ้าไทยมากขึ้น โดยมีการนำผ้าไทยมาออกแบบประยุกต์และตัดเย็บให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบผ้าไทย แต่ยังต้องการให้มีดีไซน์ที่ทันสมัยเข้ากับแฟชั่น หรือร่วมสมัยได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการรณรงค์จากทั้งทางภาครัฐและหน่วยงานจากเอกชน รวมไปถึงกลุ่มคนผู้หลงรักในเสน่ห์ของผ้าไทย หากแต่เกษตรกรหรือผู้ที่มีอาชีพทอผ้า ยังคงต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ และการนำความรู้อื่นๆ มาถ่ายทอดเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้น
น่าแปลกที่เรามักชื่นชอบและชื่นชมการแต่งกายด้วยชุดกิโมโนของคนญี่ปุ่น มองเห็นเสน่ห์ของขนบประเพณีและวัฒนธรรม หากแต่เรากลับเพิกเฉยต่อเสน่ห์ที่ยังคงอบอวลอยู่ทุกอณูของเส้นสายที่ถักทออย่างตั้งใจของช่างทอผ้า หากเราไม่เร่งอนุรักษ์กันอย่างเอาจริงเอาจัง อาจจะต้องคอยนั่งนับถอยหลังถึงวันที่รากเหง้าทางวัฒนธรรมจะถูกลืมเลือน และเหลือไว้เพียงเรื่องเล่า