วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > The Global Link > Women in Wonderland > การต่อต้านการทำแท้งอย่างเสรีในไอร์แลนด์

การต่อต้านการทำแท้งอย่างเสรีในไอร์แลนด์

ผู้คนในประเทศยุโรปส่วนใหญ่ล้วนนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าคริสเตียน และแองกลิคัน ในศาสนาคริสต์มีกฎบัญญัติข้อห้ามที่สำคัญอยู่ 10 ประการ และหนึ่งในข้อสำคัญในบัญญัติ 10 ประการนี้ก็คือการฆ่าคน ดังนั้นตามหลักศาสนาคริสต์แล้วจึงไม่อนุญาตให้คนในศาสนาทำแท้งได้ 

แต่ในสหภาพยุโรปนั้น รัฐธรรมนูญในประเทศส่วนใหญ่ได้ประกาศให้ตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์มารดานั้นไม่ได้ถูกรับรองสิทธิของการเป็นมนุษย์  และศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็ไม่ได้ระบุว่า สิทธิการมีชีวิตเริ่มต้นเมื่อไร ดังนั้นประเทศส่วนใหญ่จึงยึดตามหลักรัฐธรรมนูญที่ว่า ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาไม่ถือว่าได้รับสิทธิในการเป็นมนุษย์ ดังนั้นการทำแท้งจึงไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคนและไม่ผิดกฎศาสนา

ดังนั้นเมื่อมองดูกฎหมายการทำแท้งอย่างเสรีในสหภาพยุโรปแล้ว จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่จะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ต่างก็ประกาศให้มีการใช้กฎหมายการทำแท้งอย่างเสรี เพียงแต่ระยะเวลาที่สามารถทำแท้งได้จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 10–24 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12 สัปดาห์ ถ้าหากว่าพ้นระยะเวลาเหล่านี้ไปแล้วจะไม่สามารถทำแท้งได้ ยกเว้นแต่การตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อมารดาจนถึงแก่ชีวิตได้จึงจะสามารถทำแท้งได้

ประเทศในสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรี ได้แก่  สโลวาเนียและอิตาลี ที่สามารถทำแท้งอย่างเสรีได้ภายในระยะเวลา 10 สัปดาห์ ส่วนฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี สาธารณรัฐเชก ลิทัวเนีย แลตเวีย สโลวะเกีย เบลเยียม ออสเตรีย กรีซ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก ที่ระยะเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะที่ฮอลแลนด์ สหราชอาณาจักร (ไม่รวมไอร์แลนด์เหนือ) และสวีเดน ที่ระยะเวลา 24 สัปดาห์ ถ้าหากว่าเป็นการทำแท้งครั้งแรกและครั้งที่สอง แต่ถ้าเป็นการทำแท้งครั้งที่สาม ทั้งสามประเทศจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ภายใน 18 สัปดาห์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่เดินทางมายังฮอลแลนด์และสหราชอาณาจักรเพื่อทำแท้ง เฉพาะประเทศสวีเดนเท่านั้นที่กฎหมายบังคับว่าหมอไม่สามารถทำแท้งให้กับผู้หญิงต่างชาติได้

แต่ประเทศไอร์แลนด์ มอลตา โปแลนด์ และไซปรัส เป็นเพียง 4 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างต้น และไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างเสรีได้ ยกเว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ในประเทศไอร์แลนด์และมอลตานั้นมีกฎหมายที่เคร่งครัดอย่างมากเกี่ยวกับการทำแท้ง ถึงขนาดที่ทั้งสองประเทศยื่นคำขาดไม่ให้สหภาพยุโรปเข้ามาแทรกแซงเรื่องกฎหมายการทำแท้งภายในประเทศของตน ไม่อย่างนั้นทั้งสองประเทศก็จะไม่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และผู้คนในสองประเทศนี้ก็ให้ความสำคัญเรื่องการต่อต้านการทำแท้งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไอร์แลนด์ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดที่สุดเกี่ยวกับการทำแท้ง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป

ผู้คนในประเทศไอร์แลนด์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และปฏิบัติตามคำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ชาวไอร์แลนด์เชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดกฎบัญญัติของศาสนาคริสต์ เพราะศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกสอนว่า ตั้งแต่ที่มีการปฏิสนธิก็ถือว่าเป็นการเกิดของมนุษย์แล้ว การทำแท้งจึงถือว่าเป็นการฆ่าคน ดังนั้นคนชาวไอร์แลนด์จึงไม่เห็นด้วยที่จะอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีได้

ตามกฎหมายของประเทศไอร์แลนด์นั้น บุคคลใดก็ตามที่ใช้อุปกรณ์หรือขายยาที่ทำให้เกิดการแท้งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และผู้หญิงคนใดก็ตามที่รับประทานยาหรือใช้เครื่องมือใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดการแท้ง ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

ส่วนในเรื่องการทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นสามารถทำได้ ถ้าหากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลร้ายแรงมากจนถึงแก่ชีวิตของมารดา อย่างเช่นในกรณีที่มารดาอาจจะต้องการฆ่าตัวตาย ในกฎหมายระบุไว้ว่าถ้าหากเด็กในครรภ์มารดาต้องทนทรมานหรือเสียชีวิตซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาชีวิตมารดา ให้อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ ดังนั้นในกรณีที่มารดาป่วยเป็นโรคต่างๆ และการตั้งครรภ์อาจมีผลถึงแก่ชีวิตของมารดา ถ้าหากว่ายาในการรักษาโรคของมารดาไม่มีผลข้างเคียงที่จะทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิตได้ หมอก็จะไม่ทำแท้งให้

ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงกรณีที่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแล้วมีการตั้งครรภ์ขึ้นมา พวกเธอเหล่านี้ย่อมไม่สามารถทำแท้งได้อย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าการอนุญาตให้ทำแท้งได้จะเป็นเรื่องที่ยากมากในไอร์แลนด์ แต่ตามกฎหมายแล้วถ้าหากหมอตรวจพบว่าการตั้งครรภ์อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมารดา หมอก็สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำแท้ง และยังสามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ให้บริการการทำแท้งในประเทศอื่นๆ ได้ เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะการตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นมารดาว่าจะตัดสินใจอย่างไร และไม่มีกฎหมายที่จะห้ามให้ผู้หญิงไอร์แลนด์ไปทำแท้งในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรี

ในการอนุญาตให้หมอบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการทำแท้งในประเทศอื่นได้นั้น ก็ยังคงมีขอบเขตในการให้รายละเอียดระบุไว้ด้วยว่า หมอสามารถให้ได้เพียงแค่ (1) ชื่อและที่อยู่ของสถานที่ให้บริการทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรีเท่านั้น (2) ต้องให้รายละเอียดและขั้นตอนของวิธีการทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ อย่างเช่นระยะเวลาที่สามารถทำแท้งได้ และ (3) ข้อมูลที่บอกกล่าวกับคนไข้เกี่ยวกับการทำแท้งนั้นจะต้องไม่เป็นไปในเชิงที่สนับสนุนให้คนไข้ไปทำแท้ง อย่างเช่นหมอไม่สามารถบอกได้ว่า หมอคิดว่าการทำแท้งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตคนไข้ในตอนนี้ หมอทำได้เพียงแค่ชี้แนะคนไข้ว่ามีสองทางเลือกคือจะเก็บเด็กไว้หรือไปทำแท้ง ซึ่งคนไข้จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไอร์แลนด์ได้ทำประชามติเรื่องการออกกฎหมายการทำแท้งได้อย่างเสรีถึง 3 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่จะประสบความสำเร็จเลย ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีผู้หญิงไอร์แลนด์เป็นจำนวนมากที่ต้องเดินทางไปทำแท้งที่ประเทศอื่นในสหภาพยุโรป

ประเด็นเรื่องการทำแท้งได้อย่างเสรีก็เริ่มมีการถกเถียงกันขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อผู้หญิงไอร์แลนด์ที่เป็นมะเร็งเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ตามกฎหมายในประเทศไอร์แลนด์นั้นไม่สามารถทำแท้งให้กับผู้หญิงคนนี้ได้ เพราะการตั้งครรภ์ในครั้งนี้ยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เธอเสียชีวิตได้ ทำให้เธอต้องเดินทางไปทำแท้งในประเทศอื่นที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรี

เรื่องนี้ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นมาว่า กฎหมายการทำแท้งในประเทศไอร์แลนด์นั้นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะการที่ผู้หญิงคนนี้เป็นโรคมะเร็งและยังตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์ในครั้งนี้อาจจะทำให้เธอเสียชีวิตได้ แต่หมอกลับปฏิเสธที่จะทำแท้งให้เธอ ซึ่งการที่เธอไม่สามารถตัดสินใจรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้นั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่เธอควรจะมี

นอกจากนี้ ด้านศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังได้ออกมาแนะนำให้ไอร์แลนด์แก้กฎหมายเรื่องการทำแท้งเสรี อย่างน้อยที่สุดผู้หญิงที่มีสุขภาพไม่ดีหรือในกรณีที่การตั้งครรภ์อาจส่งผลถึงแก่ชีวิต อย่างเช่นตัวอย่างของมารดาที่เป็นมะเร็งที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

หลังจากที่เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก รัฐบาลของประเทศไอร์แลนด์ก็ได้ออกมาบอกว่าจะลองนำปัญหานี้เข้าไปพูดในรัฐสภา

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะมีการถกเถียงกันมานาน และเริ่มมีประชาชนจำนวนมากขึ้นที่ไม่เคร่งครัดต่อศาสนาเหมือนเช่นเมื่อก่อน เพราะคนบางกลุ่มเริ่มที่จะออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้คนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการสนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างเสรีได้ในไอร์แลนด์  แต่ผู้คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่รัฐบาลเอง ก็ยังคงเห็นด้วยที่จะให้คงความเข้มงวดเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง รวมไปถึงการทำแท้งให้ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะส่งผลถึงแก่ชีวิตด้วย

เหตุผลหลักๆ ที่ทั้งพรรคการเมืองใหญ่ๆ และประชาชนไม่เห็นด้วยก็เป็นเพราะว่า สังคมในประเทศไอร์แลนด์ยังเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของนิกายโรมันคาทอลิกที่สอนให้คนเคารพในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ และความเชื่อที่ว่าการทำแท้งเท่ากับการฆ่าคนนั้น ยังคงเป็นความเชื่ออย่างแรงกล้าของผู้คนในไอร์แลนด์ ที่คงไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ได้ง่ายๆ 

การถกเถียงเรื่องการทำแท้งในประเทศไอร์แลนด์ก็มีส่วนคล้ายกันกับประเทศไทย ที่เริ่มมีผู้คนบางส่วนเห็นด้วยว่าควรจะอนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรี เพียงแต่การทำแท้งนั้นยังคงขัดกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่ว่า การทำแท้งก็เปรียบเสมือนกับการฆ่าคนและถือว่าเป็นบาปหนักที่สุด  ทำให้เรื่องของการทำแท้งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมาในภายหลังได้

การทำแท้งไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา ดังนั้นหากคิดว่ายังไม่พร้อมที่จะมีบุตรก็ควรจะป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ตั้งแต่แรก