ในแต่ละวันประเทศไทยมีงานอีเว้นท์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้การเกิดใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดอีเว้นท์ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีเครดิตเป็นการจัดงานระดับชาติหรือระดับโลกเฉกเช่นเดิมอีกต่อไป
กระนั้นทางเลือกที่มีมากขึ้น นับเป็นเรื่องดีต่อเหล่านักการตลาดและเจ้าของธุรกิจในการที่มีตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับการจัดอีเว้นท์สักหนึ่งครั้ง และนั่นเองที่ทำให้รายได้กระจายไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ระลอกคลื่นดังกล่าวส่งผลอย่างชัดเจนต่อผู้ประกอบการอีเว้นท์ขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด
ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังขาดความคงเส้นคงวา ตัวเลข GDP ที่ถูกปรับขึ้นเพียงไม่กี่จุด กำลังซื้อลดลง เงื่อนไขของผู้บริโภคมีมากขึ้น การมองหาตลาดใหม่เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่พอจะหมายมั่นปั้นมือได้ หากพิจารณาอย่างรอบด้านในห้วงเวลาที่ทุกฝ่ายต่างต้องการอนาคตที่ดีขึ้น และรวมไปถึงผลกำไรที่มากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ห่างไกลจากการขาดทุน
ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าภูมิประเทศแถบนั้นกำลังส่งกลิ่นหอมหวนราวกับทุ่งดอกไม้ ที่หลายธุรกิจหลากนักลงทุนกำลังให้ความสนใจ และมองหาจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถจะสร้างชื่อเสียงรวมไปถึงการดึงความสนใจจากผู้ร่วมทุนรายอื่นๆ ด้วย
บริษัท CMO จำกัด (มหาชน) นับได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจครีเอทีฟอีเว้นท์ครบวงจรแห่งอาเซียน ซึ่งลักษณะของธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการอีเว้นท์และสื่อสารการตลาด บริการงานด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงงานด้านธุรกิจท่องเที่ยว
กระนั้นงานที่ดูจะเป็นลายเซ็นของ CMO คือ ธุรกิจ Event Supply เช่น ระบบภาพ แสง เสียง และมัลติมีเดีย ที่มีพร้อมสำหรับตอบสนองความต้องการของโชว์และอีเว้นท์ทุกรูปแบบ
ขณะที่ฟากฝั่งของบริษัท Right Man จำกัด ที่ดูจะเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการอีเว้นท์และเอ็กซิบิชั่นแบบครบวงจร มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์งานด้านการออกแบบที่ผสมผสานกับนวัตกรรมได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านงานพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือการที่สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีเว้นท์ จับมือลงนามเซ็นสัญญาเพื่อเป็นพันธมิตร โดยมีเป้าประสงค์ในการรุกตลาดอาเซียน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV
แน่นอนว่าคำถามที่ชวนให้สงสัยคือ บริษัทที่มีลักษณะของธุรกิจที่คล้ายคลึงกันนี้เหตุใดจึงหันหน้าเข้าหากัน และเปลี่ยนสถานะจากคู่แข่งขันเป็นคู่ค้า รวมไปถึงจุดประสงค์ของการประสานความร่วมมือในครั้งนี้คืออะไร
“เราไม่ได้แข่งกันอยู่แล้ว งานส่วนใหญ่ไม่ค่อยชนกัน ที่สำคัญคือ Right Man มีผู้บริหารที่ฉลาด มีการเติบโตที่น่าสนใจ มีความดราม่าติก” เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO อธิบาย ทั้งนี้ เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันคือ
1. การประสานความร่วมมือทางธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทในการดำเนินงาน ซึ่ง CMO มีจุดแข็งด้านครีเอทีฟอีเว้นท์ และกลุ่มงานด้านบริการระบบภาพ แสง เสียง (Event Equipment Supply) ขณะที่ไร้ท์แมนโดดเด่นในเรื่องการสร้างสรรค์งานออกแบบ และนวัตกรรมประเภทงานก่อสร้าง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะนำจุดแข็งมาต่อยอดเพิ่มศักยภาพของธุรกิจซึ่งกันและกัน ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริหารทั้งสองบริษัทอธิบายว่า เป็นไปในลักษณะของการแชร์ Resource ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการจัดการลดลง และทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้น
2. การศึกษาและขยายงานเพื่อเจาะตลาด คอมเมอร์เชียล อินทีเรียร์ (Commercial Interior) อาทิ งานตกแต่งศูนย์การค้า โรงแรม โชว์รูมรถยนต์ แฟลกชิปสโตร์ (Flagship Store) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ตลาด Commercial Interior เป็นลักษณะ Non-Event ซึ่งผู้บริหาร CMO คาดว่าตลาดจะโตในอีก 5-10 ปี และในส่วนของ Complex จะเติบโตในอีก 3-5 ปี ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ และน่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ยังเตรียมรุกตลาดใน CLMV “เราหาโอกาสเข้าไปเป็น Supply ให้บรรดาธุรกิจนำเข้าใน CLMV นอกจากนี้เรายังจับตลาดห้างสรรพสินค้า รีเทล ที่มีนโยบายการ Renovate เรื่อยๆ ซึ่งจุดนี้เป็นช่องทางการทำเงิน เป็นการสร้างธุรกิจที่ Large Long ที่ยั่งยืน” เสริมคุณกล่าว
3. การลงทุนร่วมกันในโครงการด้านธุรกิจท่องเที่ยว (Tourist Attraction) เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงการลงทุนขยายงานด้านนี้ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยอุปถัมป์อธิบายเพิ่มเติมว่า “กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของ CLMV การรวมตัวกันของทั้งสองบริษัท เหมือนการจับเทคโนโลยีที่แต่ละบริษัทเชี่ยวชาญมา Plug in ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินมากขึ้น สถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำอาจจะทำในไทยและใน CLMV พร้อมกัน”
อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วนถึงความร่วมมือของทั้งสองบริษัทที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นจริงดังว่า “ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตร” ซึ่งน่าหนุนนำส่งเสริมการเป็นพันธมิตรที่ดีได้ เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่ของ CMO นั้นจะเน้นหนักไปในกลุ่มของบริษัทเอกชนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าทั้งหมด ขณะที่ลูกค้าหลักของ Right Man นั้น 80 เปอร์เซ็นต์เป็นภาครัฐ
เมื่อฐานลูกค้าไม่ซ้ำกัน นั่นหมายถึงทั้งสองบริษัทจะมีกลุ่มลูกค้าในตลาดงานอีเว้นท์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเมื่อข้อตกลงเรื่องการแชร์ Resource เกิดขึ้น ผลดีส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นกับลูกค้าของบริษัท ที่จะได้งานที่มี Value มากขึ้น และผลดีของทั้งสองบริษัทที่นอกเหนือจากการลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรแล้ว นั่นคือการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจด้านครีเอทีฟอีเว้นท์
ทั้งนี้หากจะมองย้อนไปถึงสถานการณ์ความมั่นคงหรือการเงินของแต่ละบริษัทจะเห็นได้ว่าฐานะทางการเงินของ CMO ดูตัวเลขจะไม่ค่อยสวยงามเท่าใดนัก เมื่อข้อมูลทางการเงินของ CMO พบว่าบริษัทมีกำไรที่ดีเฉพาะในปี 2555 เท่านั้น และนับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันบริษัทมีกำไรเพียงเล็กน้อย และขาดทุนสลับกัน โดยเฉพาะในปีนี้ที่แม้จะมีรายได้ที่สามารถทรงตัวได้แต่กำไรกลับลดน้อยถอยลงในช่วงครึ่งปีแรก
ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ของ CMO ลดลง น่าจะมาจากการตัดสินใจลดรายจ่ายของกลุ่มลูกค้าของ CMO ที่ปรับลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ
กระนั้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมามีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานการจำหน่ายหุ้นของ บริษัท CMO จำกัด (มหาชน) โดยเสริมคุณ คุณาวงศ์ ซึ่งจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวน 38.319 ล้านหุ้น คิดเป็น 14.99 เปอร์เซ็นต์ ให้แก่อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ซึ่งผลจากการขายหุ้นสามัญของ CMO ในครั้งนี้ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงลำดับผู้ถือหุ้น โดยอุปถัมป์จะขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ CMO รองจากเสริมคุณ
ซึ่งการขายหุ้นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างเพื่อกระชับหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง CMO และ Right Man ที่ระบุว่าเป็นการเปิดยุทธศาสตร์การขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน
ในห้วงยามที่ประเทศไทยกำลังโหยหาความมั่นคงด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ที่ปัจจุบันดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้นที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลาปัจจุบัน ขณะที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังระดมสรรพสมองเพื่อหาทางออกหรือนโยบายที่จะเป็นแนวทางเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม
ขณะที่ปัญหาปัจจุบันนอกเหนือไปจากการส่งออกที่ยังขาดเสถียรภาพ ยังมีปัญหาเรื่องค่าแรงที่บรรดานักลงทุนเริ่มตระหนักว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV และนั่นเป็นเป้าหมายของพันธมิตรอย่าง CMO และ Right Man ด้วย
การที่บรรดานักลงทุนให้ความสนใจประเทศในกลุ่ม CLMV นั้นน่าจะมาจากยังเป็นตลาดใหม่ ยังมีความสดและอนาคต ซึ่งน่าจะสร้างโอกาสตักตวงผลกำไรในช่วงเริ่มต้นได้ดี อย่างน้อยก็จนกว่าความนิยมจะลดลง
และสำหรับเป้าหมายการจับจูงมือกันระหว่าง CMO และ Right Man ที่จะบุกตลาดอาเซียนนั้น ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการรุกตลาดท่องเที่ยว ซึ่งในห้วงเวลานี้นี่อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และประเทศแรกที่อยู่ในแผนการของทั้งสองบริษัทคือการเจาะตลาดประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนร่วมกันในงานด้านธุรกิจสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศกลุ่มอาเซียน และประเทศอื่นๆ ในโลก นับเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการสูง “เดินไปคนเดียวมา 5 ปี มีเพื่อนเดินไปด้วยกันก็ดีกว่า” เสริมคุณเสริมให้เห็นภาพชัดขึ้น
ปัจจุบัน CMO มีธุรกิจในกลุ่มงานนี้อยู่แล้ว อาทิ สวนสนุกอิเมจิเนีย และ หิมพานต์ อวตาร ที่กำลังจะเปิดปีหน้า ซึ่งเป็นการแสดงวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยผสานเทคนิคแสงสีเสียง ขณะเดียวกัน Right Man ก็มีประสบการณ์จากการสร้างสรรค์สวนสนุกไดโนเสาร์เคลื่อนที่ และการบริหารโครงการแหล่งการเรียนรู้แบบครบวงจร อาทิ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑ์เหรียญ และพิพิธบางลำพู
ทั้งนี้การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง CMO และ Right Man จะทำให้กลุ่มพันธมิตรทั้งสองบริษัทนี้มีศักยภาพเติบโตสูงสุด โดยมีแผนการลงทุนร่วมกันปีละ 400 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้รวมอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2562 ครอบคลุมงานทุกประเภท ทั้งในกลุ่มธุรกิจอีเว้นท์ พิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ งานคอมเมอร์เชียล อินทีเรียร์ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจงานด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และไลฟ์สไตล์ ตลอดจนกลุ่มงาน Event Supply อาทิ ระบบภาพ แสง เสียง และมัลติมีเดีย งานออกแบบก่อสร้าง และการบริการระบบสาธารณูปโภคในงานอีเว้นท์
นับเป็นการตอกย้ำความเป็นบริษัทอีเว้นท์อันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นผู้นำในอาเซียน เมื่อบริษัท CMO จำกัด (มหาชน) ที่ก่อตั้งมา 30 ปี และ Right Man ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเดียวกันเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และเปิดมาตั้งแต่ปี 2533 หากมองในบริบทแห่งความเป็นไปทางธุรกิจแล้ว การรวมตัวของทั้งสองบริษัทน่าจะเป็นการสร้างสีสันให้แก่วงการได้เป็นอย่างดี “จุดเริ่มต้นระหว่าง 2 บริษัทที่ต่างมี Indentity ที่ชัดเจน น่าจะปลุกวงการ Event ให้มีชีวิตชีวาขึ้น” อุปถัมป์กล่าว
บางแง่มุมของการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัทอีเว้นท์อันดับ 1 ของไทยอย่าง CMO และ อันดับ 4 อย่าง Right Man อาจทำให้คิดได้ว่า งานที่สร้างลายเซ็นจนเห็นประจักษ์ชัดของ Right Man ไม่ได้มีเสน่ห์ที่ดึงดูดลูกค้าให้หันมาเลือกใช้บริการของ Right Man เท่านั้น หากแต่ยังเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงดูดบริษัทที่แม้จะมีธุรกิจคล้ายคลึงกันให้เข้ามาหาและร่วมเป็นพันธมิตรด้วย
ในภาวะที่ธุรกิจอีเว้นท์ยังคงต้องเหนื่อยต่อไปในปีนี้ ทำให้หลายบริษัทต้องหันไปจับธุรกิจอื่นๆ เพื่อพยุงสถานะของบริษัท ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าความคาดหวังกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นไปอย่างที่ตั้งความประสงค์ไว้หรือไม่ การสร้างฐานรากที่เพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นมาจะก่อให้เกิดผลดีมากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม