“ดีใจค่ะ ดีใจมาก” คำตอบจากน้องพลอย เด็กหญิงผู้พิการทางสายตาที่มาร่วมกิจกรรมในงาน “ทุกสัมผัสแห่งวิถีของเงินตรา” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-16 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกรมธนารักษ์จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559
นับเป็นครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์เหรียญที่จัดนิทรรศการพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางหู ได้เข้าชมและเรียนรู้วิวัฒนาการเงินตราของไทย และแน่นอนว่าเป็นครั้งแรกของน้องพลอยเช่นกัน
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นในงาน ไม่ได้แค่สร้างความสุขให้อวลอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากแต่ยังสร้างความอิ่มเอมให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์เหรียญอย่างไร้ท์แมนอีกด้วย
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีกิจกรรมที่น่าสนใจที่จัดขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อรองรับผู้พิการ ทั้งการสร้างเหรียญในจินตนาการด้วยการวาดภาพจากอุปกรณ์พิเศษ การปั้นเหรียญจากดินปั้น การฝนลวดลายภาพนูนต่ำ การวาดรูปร่างสิ่งของแลกเปลี่ยนจากการคลำของจริง และการปั๊มลวดลายของเหรียญในอดีตลงบนแผ่นพับ
และแม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่พิเศษสำหรับผู้พิการ แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้นที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดโอกาสในการเรียนรู้สำหรับผู้พิการจึงสั้นนัก
ทั้งนี้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์เหรียญที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้พิการที่ต้องใช้รถวีลแชร์สามารถเข้าถึงและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้สะดวกแล้ว แต่ลักษณะของการจัดแสดงเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีไว้รองรับผู้พิการด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงประเด็นการให้โอกาส ที่คนส่วนใหญ่มักจะหยิบยื่นให้แก่ผู้พิการแล้ว รูปแบบที่มักถูกเลือกใช้คือการแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน การเลี้ยงอาหารและกิจกรรมสันทนาการตามมูลนิธิ หรือในรูปแบบของการให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งหากวิเคราะห์ในด้านของมูลค่าแล้ว คุณค่าของสิ่งเหล่านี้มักจะค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลา
แต่คงไม่ใช่กับการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่ผู้บริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด อย่างอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ มองว่า “การสร้างโอกาสให้ผู้พิการได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์ แม้จะไม่สามารถตีค่าออกมาในรูปแบบของเงินได้ แต่เป็นคุณค่าของการเรียนรู้สำหรับผู้พิการและเป็นคุณค่าของความพยายามในการสร้างสรรค์”
แม้ในกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นเพียงนิทรรศการชั่วคราว แต่ในอนาคตอุปถัมป์เล่าว่า จะเพิ่มเติมเนื้อหาของข้อมูลที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้จะนำเสนอต่อนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และพิพิธบางลำพู
การพัฒนาของเทคโนโลยีสื่อสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็เพื่อรองรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้ว่าคนพิการจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่คนเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล และได้รับโอกาสเฉกเช่นคนทั่วไป
ปัจจุบันประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
คนพิการมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจที่จำเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษ ตลอดจนสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อเสริมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยทดแทนความบกพร่องของคนพิการแต่ละประเภทอย่างเหมาะสมและตรงกับสภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ยังขาดแคลนสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพที่จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อจำกัดสำคัญนี้ส่งผลให้คนพิการต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป ตลอดจนไม่ทันต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
นอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลให้ผู้พิการได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างทั่วถึง พิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ในไทยมากกว่า 5,000 แห่ง นับเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้วิทยาการและความรู้รอบด้าน
คงจะดีไม่น้อยหากพิพิธภัณฑ์ที่มีมากมายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเพื่อรองรับผู้พิการที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในตำราเท่านั้น
กระนั้นนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของผู้พิการแล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าแห่งความพยายามของผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องของการศึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างสารเพื่อสื่อถึงผู้พิการ และสร้างความเข้าใจในสารให้เกิดขึ้นได้ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้อยู่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์
ศักยภาพของคนไทยที่หลายคนมักพูดว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” หากจะเพิ่มอีกประโยคเข้าไปด้วยว่า “สังคมไทยไม่พิการ” ด้วยการเห็นทุกๆ สถานที่ในประเทศถูกสร้างเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง