วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > The Global Link > Women in Wonderland > ผู้หญิงมุสลิมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ผู้หญิงมุสลิมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

เวลาที่เรานึกถึงเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางเพศนั้น ผู้หญิงกลุ่มแรกที่เราจะนึกถึงก็คือผู้หญิงมุสลิม เพราะพวกเธอได้รับการเลือกปฏิบัติในสังคมอย่างชัดเจน ในศาสนาอิสลามนั้นถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม ผู้หญิงจะเป็นผู้ตามและเชื่อฟังผู้ชายที่เป็นบิดาหรือสามี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงมุสลิมจะถูกกีดกันในการได้รับสิทธิต่างๆ ในสังคมเช่นเดียวกันกับผู้ชาย

ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถขับรถไปไหนมาไหนเองได้ และถ้าหากพวกเธอจะต้องเดินทางไปที่เมือง อื่นๆ หรือรัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม พวกเธอจะไม่สามารถเดินทางได้ถ้าหากไม่มีจดหมายยินยอมจากสามีหรือบิดาว่าอนุญาตให้ผู้หญิงคนนี้เดินทางได้ 

หรือกรณีสามีสามารถทำร้ายร่างกายของภรรยาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะกฎหมายในประเทศมุสลิมถือว่าการที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยานั้นเป็นการอบรมสั่งสอนภรรยาให้อยู่ในโอวาท แม้เรื่องทำร้ายร่างกายผู้หญิงจะเป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ต่อต้าน และประเทศส่วนใหญ่ก็ออกกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เพื่อลงโทษผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ประเทศมุสลิมไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข กลับเห็นเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำไปที่สามีจะทำร้ายภรรยา

ดังนั้นองค์กรสิทธิสตรีต่างๆ จึงพากันส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศมุสลิมพิจารณาถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงมุสลิมควรจะได้รับสิทธิที่มากขึ้นในสังคม

หลังจากการเรียกร้องจากองค์กรต่างๆ และกลุ่มผู้หญิงมุสลิมในแต่ละประเทศ ทำให้เราเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศมุสลิมที่ผู้หญิงเริ่มได้รับสิทธิในสังคมมากขึ้น

เช่นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อก่อนผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา แต่ปัจจุบันพวกเธอสามารถเรียนได้ถึงปริญญาเอก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันจำนวนนักศึกษาที่จบปริญญาเอกในแต่ละปีนั้นจะมีจำนวนของนักศึกษาหญิงมากกว่าชาย

และเรื่องการเล่นกีฬาก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องหนึ่งเช่นกันที่ผู้หญิงมุสลิมเริ่มได้รับสิทธิในเรื่องนี้

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ลอนดอนเกมส์ 2012 ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประเทศมุสลิมอยู่ 3 ประเทศด้วยกันคือ การ์ตา บรูไน และซาอุดีอาระเบีย ที่ตัดสินใจส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงมุสลิมนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และมีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่จะเป็นนักกีฬาได้ เพราะประเทศมุสลิมนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงและผู้ชายทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกัน ถ้าหากว่าผู้ชายคนนั้นไม่ใช่ญาติพี่น้อง นอกจากนี้วิชาพละศึกษาก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวิชาบังคับที่ต้องเรียนเหมือนกับประเทศอื่นๆ  และเช่นเดียวกัน ถ้าหากผู้หญิงมุสลิมต้องการที่จะออกกำลังกาย พวกเธอจะต้องไปที่สปอร์ตคลับหรือสระว่ายน้ำสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่สถานที่เหล่านี้ก็มีน้อยมากในแต่ละประเทศ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการออกกำลังกายค่อนข้างแพงมาก (ประมาณ 96,000 บาทต่อเดือน) และจะต้องเบียดเสียดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะได้รับการฝึกฝนจนสามารถเป็นนักกีฬาได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับประเทศมุสลิม

ในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกประเทศซาอุดีอาระได้ตัดสินใจเมื่อตอนการแข่งขันใกล้จะเริ่มต้นว่า จะส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ถ้าหากคณะกรรมการสามารถหานักกีฬาที่เหมาะสมได้ และในที่สุดซาอุดีอาระเบียก็ได้ตัดสินใจส่งนักกีฬาหญิงสองคนแรกของประเทศซาอุดีอาระเบีย คือ นางสาว Wojdan Ali Seraj Abdulrahim Shahrkhani อายุ 16 ปี เข้าร่วมแข่งขันยูโดหญิง ประเภท 78 กิโลกรัม และ Sarah Attar อายุ 19 ปีที่จะลงแข่งขันในการวิ่งแข่ง 800 เมตรหญิง

นอกจากเรื่องการหานักกีฬาหญิงที่เป็นเรื่องยากแล้ว เรื่องของหลักการและข้อปฏิบัติของศาสนาอิสลามก็เป็นปัญหาเช่นกัน ตามหลักของศาสนาอิสลามนั้น ผู้หญิงไม่สมควรที่จะเล่นกีฬา หรือเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในที่สาธารณะ เพราะการแข่งขันกีฬาต่อหน้าผู้ชาย หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการตัดสินที่เป็นผู้ชายถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทำให้การตัดสินใจส่งนักกีฬาหญิงเข้าแข่งขันในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศซาอุดีอาระเบียเลยก็ว่าได้ เพราะซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องกฎระเบียบของศาสนาอิสลามมากๆ ดังนั้นการยอมให้นักกีฬาหญิงเปิดเผยหน้าตาและมีแค่ผ้าคลุมศีรษะก็เป็นเรื่องที่ยากมากแล้ว และยอมให้ผู้หญิงมุสลิมเล่นกีฬาในที่สาธารณชนยิ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของผู้หญิงซาอุดีอาระเบียในการได้รับสิทธิมากขึ้นในสังคม

ก่อนที่การแข่งขันจะเกิดขึ้นก็ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมของนักกีฬา โดยเฉพาะในกรณีของ Shahrkhani ที่ซาอุดีอาระเบียยืนยันว่า จะต้องอนุญาตให้นักกีฬาแต่งตัวถูกหลักศาสนาอิสลาม คือมีการใช้ผ้าคลุมผมในระหว่างการแข่งขัน แต่จะไม่มีการปกปิดใบหน้า แต่คณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกเห็นว่า การใช้ผ้าคลุมผมในระหว่างการแข่งขันนั้น อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจกับเรื่องนี้ และประกาศว่าหากไม่ให้มีการคลุมผม ก็จะไม่ส่งนักกีฬาลงแข่งขันเช่นกัน ท้ายที่สุดสหพันธ์ยูโดนานาชาติอนุญาตให้ Shahrkhani ใช้ผ้าคลุมศีรษะในระหว่างที่ทำการแข่งขันได้

และถึงแม้ว่า ทั้ง Shahrkhani และ Attar จะพ่ายแพ้ในการแข่งขันครั้งนี้ แต่พวกเธอก็เป็นแชมเปี้ยนในใจของผู้หญิงซาอุดีอาระเบีย เพราะทั้งสองคนได้แสดงให้เห็นความกล้าหาญที่เธอกล้าตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขัน และพวกเธอจะกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้กับผู้หญิงซาอุดีอาระเบียในเรื่องการออกกำลังกาย

ด้วยเหตุผลนี้ หลายๆ คนจึงเชื่อว่า การที่มีผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญกับการสร้างสถานที่ออกกำลังกาย และโรงยิมสำหรับผู้หญิง หรือในโรงเรียนหญิงล้วน เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น

Shahrkhani และ Attar ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างความภูมิใจ และแรงผลักดันที่ดีสำหรับผู้หญิงซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่เธอยังจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงในประเทศมุสลิมอื่นๆ หันมาให้ความสนใจกับการออกกำลังกาย และอาจจะทำให้ประเทศอาหรับอื่นๆ เริ่มหันมาให้โอกาสกับผู้หญิงมุสลิมในการเล่นกีฬา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มพวกอนุรักษนิยม ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจที่ Shahrkhani และ Attar เข้าร่วมการแข่งขัน และทำการแข่งขันในที่สาธารณชน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนมุสลิมรู้สึกอับอายขายหน้าเป็นอย่างมาก เพราะ Shahrkhani และ Attar ไม่ได้เป็นตัวแทนเพื่อแสดงให้เห็นความดีงามของผู้หญิงมุสลิม แต่ในทางตรงกันข้าม เธอกลับสร้างความอัปยศอดสูให้กับคนมุสลิม ด้วยการไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามที่ไม่ให้ผู้หญิงเล่นกีฬาในที่สาธารณะ

ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านมาจากคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขัน แต่นี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศมุสลิมประเทศอื่นๆ จะได้เห็นว่าการแต่งกายถูกต้องตามหลักศาสนามุสลิมนั้นไม่ได้เป็นปัญหาต่อการเล่นกีฬาแต่อย่างใด ดังนั้นผู้หญิงมุสลิมก็สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนกับผู้หญิงทั่วไป

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ตอนที่ Attar แต่งตัวด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าคลุมศีรษะ ทำการแข่งขันวิ่ง 800 เมตร  Attar ได้ทำให้เห็นว่าการแต่งตัวของเธอไม่ได้มีผลต่อการแข่งขัน

จากความกล้าของผู้หญิงสองคนนี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถเช่นเดียวกันกับผู้ชายในการเล่นกีฬา ถ้าหากพวกเธอได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง และพวกเธอก็ควรที่จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชายในการเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาต่างๆ และจากความกล้าของ Shahrkhani และ Attar ในครั้งนี้ ประเทศมุสลิมหลายๆ ประเทศก็น่าจะหันมาให้ความสนใจในการส่งเสริมให้มีสปอร์ตคลับสำหรับผู้หญิงมากขึ้น และส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น

ไม่แน่ว่าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งหน้า เราอาจจะได้เห็นนักกีฬาหญิงจากประเทศมุสลิมเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น