อีกครั้งที่หน้าข่าวเศรษฐกิจของหลายสำนักข่าวเปิดเผยเรื่องราวความร่วมมือระหว่างผู้นำด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคม ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ผู้พัฒนาโครงการไอคอนสยาม โครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 54,000 ล้านบาท ที่ผุดโปรเจกต์ใหม่ปลุกปั้นศูนย์ประชุมภายใต้ชื่อ “ทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์”
ดูเหมือนว่าสายสัมพันธ์อันดีระหว่างสองบริษัทจะสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 เมื่อครั้งที่อภิมหาโปรเจกต์เกิดขึ้นบนเนื้อที่ 50 ไร่บนถนนเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากความร่วมมือของกลุ่มซีพีและสยามพิวรรธน์
และทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์อันชัดเจนที่ทั้งสองบริษัทมีร่วมกัน โดยครั้งนี้เบนเข็มมาที่ธุรกิจ MICE (Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions หรือบางครั้ง C หมายถึง Conferencing และ E หมายถึง Events)
ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างครบวงจร ทรูจึงเหมาะสมที่จะดูแลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการออกแบบของฮอลล์นี้ ซึ่งไอคอนสยามขนานนามให้ฮอลล์นี้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งไอคอนสยาม
การหยิบยกเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ทั้งเพื่อยกระดับมาตรฐานในการเป็นศูนย์กลางจัดการประชุมระดับนานาชาติ และเพื่อการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าแข่งขันในตลาด MICE ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยยังไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในฐานะผู้แข่งขันในการเสนอตัวเป็นสถานที่จัดการประชุมใหญ่ๆ ได้ และทำให้พลาดงานที่ทำรายได้ไปพอสมควร
ด้วยระบบ Retractable Seating ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเก้าอี้นั่งประชุมสามารถพับเก็บได้โดยระบบอัตโนมัติ และทุกที่นั่งสามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารทุกประเภททั้งระบบแปลภาษาที่ล้ำสมัย ระบบ Wifi และไมโครโฟน
นอกจากนี้ยังมีระบบ Tri-wall Panel Acoustic นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการปรับเปลี่ยนผนังและเพดานโดยระบบอัตโนมัติ และยังสามารถดูดซับเสียงและสะท้อนเสียงตามประเภทของการแสดงที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ ยังมีระบบเวทีที่มีโครงกสร้าง Rigging เพื่อการเปลี่ยนฉากสำหรับการแสดงเวทีระดับโลกและผนังพิเศษที่สามารถเคลื่อนย้ายมาบรรจบของเวที เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศการแสดงและการจัดงานที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ดูเหมือนว่าการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการขายพื้นที่สำหรับการเป็นศูนย์กลางจัดการประชุมนานาชาตินี้ จะสามารถดึงดูดการแสดงระดับชั้นนำของโลกและการประชุมสำคัญๆ ให้เข้ามายังประเทศไทยได้ เช่น การประชุมระดับโลก เช่น การประชุม G20, ASEAN Summit, APEC, OPEC การประชุมทางการแพทย์และการประชุมวิชาการต่างๆ
กระนั้นยังสามารถรองรับการแสดง World Class Performance เช่น ละคร Broadway, Musical Show, โอเปร่า, การแสดง Ballet รวมไปถึงการแสดง Cultural Performance ของไทย เช่น การแสดงโขนพระราชทาน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าฟากฝั่งของทรูที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ คงจะไม่ใช่เพียงแค่การเป็นผู้เข้ามาสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฮอลล์นี้เท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมมือที่ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เมื่อทรูเป็นเสมือน Content Provider ที่มีงานอีเวนต์สำคัญๆ ที่เคยผ่านมือมาแล้วประมาณ 20 งาน ซึ่งจะทำให้ทรูเป็นมากกว่าพาร์ตเนอร์ นั่นคือการเป็นลูกค้าหลักไปโดยปริยาย
และแน่นอนว่าในฐานะผู้ที่ฉีกทุกกฎการค้าปลีกอย่างชฎาทิพ จูตระกูล CEO ของสยามพิวรรธน์ แม้ว่าจะสามารถดึงทรูมาเป็นพาร์ตเนอร์หลักของฮอลล์นี้ และเหมือนเป็นการการันตีกลายๆ ว่าอย่างน้อยจะมีงานเข้ามาเสิร์ฟบนพื้นที่ขนาด 12,000 ตารางเมตร
กระนั้นไอคอนสยามก็ไม่ปฏิเสธและพร้อมเปิดพื้นที่รองรับลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ เช่นกัน ทั้งนี้จะใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ไปยังสถานทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อเป็นการประกาศตัวว่าพร้อมให้บริการภายในไตรมาสแรกของปี 2561
การเบนเข็มมายังอุตสาหกรรม MICE ของไอคอนสยามดูจะเป็นความตั้งใจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “ในประเทศไทยอุตสาหกรรมการจัดการประชุมนานาชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมวิชาชีพ และการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ เป็นอุตสาหกรรมบริการที่นำนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าสู่ประเทศไทยและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหารศูนย์ประชุม ศูนย์จัดแสดงสินค้า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า ความร่วมมือระหว่างไอคอนสยามและกลุ่มทรู ในการสร้างทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ ครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุน ส่งเสริม การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อกระตุ้นการสร้างรายได้ให้กับประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาล ในการสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดมุ่งหมายในการจัดงานไมซ์ทั้งของภูมิภาคและของโลก”
ทั้งนี้ธุรกิจ MICE ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโต 7-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสร้างรายได้จากการใช้จ่าย 46,000 ล้านบาท และพบว่ามีนักเดินทางกลุ่ม MICE ในประเทศจำนวน 23 ล้านคนต่อครั้ง
แม้ว่าชฎาทิพจะประกาศว่าจุดขายที่สำคัญของทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ ไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีทันสมัยที่เป็นจุดเด่นซึ่งจะช่วยให้ผู้จัดงานหันมามองไทยเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น หากแต่แม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดที่มีความสำคัญมาอย่างช้านานของไทยคืออัตลักษณ์ที่แท้จริง ที่จะช่วยให้ทั้งทรู ไอคอนสยาม ฮอลล์ สามารถเบียดแย่งที่ยืนบนเวทีโลกในฐานะสถานที่ที่รองรับการจัดงานสำคัญได้
แต่สิ่งที่ไอคอนสยามจะต้องไม่ลืม คือประเทศไทยยังมีอีกหลายสถานที่ที่เติบโตในธุรกิจ MICE อยู่ก่อนแล้ว เช่น อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ไบเทคบางนา จะทำอย่างไรให้ฮอลล์ริมน้ำที่กว่าจะพร้อมใช้งานในอีกปีกว่าๆ เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ได้