วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “เท็กซัสชิคเก้น” บุกปั๊ม เปิดศึกไก่ทอด ยก 2

“เท็กซัสชิคเก้น” บุกปั๊ม เปิดศึกไก่ทอด ยก 2

 
 
หลังจากนำร่องเปิดตัวแบรนด์ไก่ทอดนำเข้า “เท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken)” บุกสมรภูมิฟาสต์ฟู้ดเมื่อปลายปีก่อน ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ ปตท. เตรียมลุยศึกยก 2 ซึ่งไม่ใช่แค่การขยายสาขาในห้างใจกลางเมือง แต่เริ่มต้นเป่านกหวีดผุดร้านเท็กซัสชิคเก้นในปั๊มน้ำมัน PTT Life Station ในฐานะแม็กเน็ตชิ้นใหม่ รุกธุรกิจนอนออยล์และช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดฟาสต์ฟู้ดที่มีมูลค่าเกือบ 35,000 ล้านบาท  
 
ในช่วงจังหวะเดียวกัน เจ้าตลาด “เคเอฟซี” กำลังเจอคู่แข่ง “แมคโดนัลด์” ไล่บี้กลยุทธ์ “บิ๊กไซส์” ออก “แมคไก่ทอดจัมโบ้” ชิ้นใหญ่กว่าเดิม 40% แต่ราคาถูกลง แถมเพิ่มเมนูชุดไก่ทอดหลากหลายมากขึ้น จนกระทั่ง เคเอฟซีต้องยิงแคมเปญ “KFC Always Original” ตอกย้ำความเป็นเจ้าตำรับไก่ทอดตัวจริง ใช้กลยุทธ์มิวสิกแอนด์ป๊อปอาร์ตเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ซึ่งทำให้แนวรบร้อนแรงกว่าเดิม 
 
ทั้งนี้ ตามแผนเบื้องต้นของ ปตท. ในฐานะมาสเตอร์แฟรนไชส์เท็กซัสชิคเก้น ตั้งเป้าจะปูพรมสาขาทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 70 สาขา ภายในระยะเวลา 5-10 ปี ในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ โดยเฟสแรกเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2558 นำร่องสร้างแบรนด์ในห้างหรูใจกลางเมือง 3 แห่ง ได้แก่ สาขาเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต สาขาอาคารสยามกิตติ์ สยามสแควร์ และสาขาซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ซึ่งทุกแห่งชนกับเจ้าตลาด
 
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360  ํ” ว่า ระยะแรก บริษัทเปิดร้านเท็กซัสชิคเก้นในห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างแบรนด์ให้กลุ่มเป้าหมายรู้จัก ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ลูกค้าเห็นความแตกต่างของตัวสินค้า ไก่ทอดชิ้นใหญ่กว่า ความอร่อยและมาตรฐานการบริการ ลูกค้าหลายรายอยากรับประทานไก่ทอดเท็กซัสชิคเก้น แต่ไม่มีสาขาให้บริการ ซึ่งหลังจากนี้ ปตท. จะเริ่มต้นขยายสาขาเท็กซัสชิคเก้นในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและเดินหน้าเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์อย่างต่อเนื่อง 
 
เฉพาะปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจะเปิดครบ 11 สาขา โดยสรุปชัดเจนแล้ว 5 สาขา ได้แก่ สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์ท่าพระ และอีก 3 สาขาในปั๊ม ปตท. คือ สถานีบริการน้ำมันมอเตอร์เวย์ขาออกไปพัทยา ซึ่งจะเปิดในเดือนสิงหาคมนี้ ตามด้วยสถานีวังน้อย และสถานีพระราม 2 
 
แน่นอนว่า หากนับจำนวนปั๊ม ปตท. ทั่วประเทศ 1,468 แห่งในขณะนี้ และจะเพิ่มเป็น 1,575 แห่งในสิ้นปี 2559 นั่นหมายถึงแต้มต่อในแง่ทำเลพื้นที่ที่จะมีมากกว่าพันจุด ซึ่งอรรถพลกล่าวว่า ปตท. ได้ปรับเป้าหมายจะเปิดร้านเท็กซัสชิคเก้นครบ 30 สาขาภายในปี 2561 เป็นไปตามสัญญาแฟรนไชส์และหลังจากนั้น จะมีการพิจารณาให้สิทธิ์การขายแฟรนไชส์ต่อไป
 
ขณะที่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านเคเอฟซี พยายามเร่งแผนขยายสาขาในไทยตามเป้าหมาย 800 แห่ง ในปี 2563 โดยอยู่ระหว่างหาพันธมิตรเป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์เพิ่มเติม จากเดิมมีเพียงบริษัทกับบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองต์ส กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG รวมถึงเปิดสาขาไดร์ฟทรูรวม 100 แห่ง ทั้งแบบสแตนด์อโลนและในปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีพันธมิตรหลายราย เช่น ปั๊มคาลเท็กซ์  
 
ส่วนร้านเคเอฟซีที่เปิดในปั๊ม ปตท. ขึ้นอยู่กับระยะสัญญาเช่าและการเจรจา ซึ่งเป็นไปได้ว่า ปตท. จะนำร้านเท็กซัสชิคเก้นเข้ามาแทน 
 
ล่าสุด เคเอฟซี มีสาขารวม 532 สาขา แบ่งเป็นของยัมฯ 330 สาขา และซีอาร์จี 202 สาขา ซึ่งเน้นเปิดในพื้นที่ค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลเป็นหลัก โดยเคเอฟซีสามารถยึดตลาดร้านอาหารจานด่วน (QSR: Quick Service Restaurants) หรือ ธุรกิจฟาสต์ฟูด ในช่วงครึ่งปีแรก  53%  เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่  51% 
 
สำหรับ “แมคโดนัลด์” ปีนี้วางแผนขยายสาขา 25 สาขา แบ่งเป็นโมเดลไดรฟ์ทรู 50% จากปัจจุบันมีสาขารวม  226 สาขา และเป็นโมเดลไดรฟ์ทรู 73 สาขา นอกจากนี้ บริษัท แมคไทย ได้วางโรดแมพ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี  2558-2563 จะผลักดันแมคไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 3 ของแมคโดนัลด์ในเซาท์อีสต์เอเชีย ในแง่จำนวนสาขามากกว่า  400 แห่ง และมียอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท 
 
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาด “เท็กซัสชิคเก้น” ยังมีตัวเลขน้อยมากในฐานะน้องใหม่ในเมืองไทย เมื่อเทียบกับ 2 ผู้เล่นที่ฝังตัวอยู่กับผู้บริโภคคนไทยนานกว่า 30 ปี แต่บริษัทแม่ของเท็กซัสชิคเก้นต้องการเจาะตลาดไทยเพื่อสร้างฐานในอาเซียนและเอเชีย โดยเฉพาะการพุ่งเป้าชนกับต้นตำรับไก่ทอดเคเอฟซี
 
เพราะในแง่แบรนด์ เท็กซัสชิคเก้นถือเป็นแบรนด์ไก่ทอดเก่าแก่ไม่แพ้กัน เริ่มธุรกิจเปิดร้าน Church’s Chicken แห่งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1952 ที่เมือง San Antonio ในรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และสร้างอาณาจักรจนเป็นหนึ่งผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ กระทั่งปี ค.ศ.1980  เปิดตัวแบรนด์ เท็กซัสชิคเก้น เพื่อขยายสาขานอกอเมริกา เปิดร้านเท็กซัสชิคเก้นแห่งแรกในประเทศอินโดนีเซีย  
 
ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 1,700 แห่ง ใน 23 ประเทศ เฉพาะในสหรัฐฯ มีสาขามากกว่า 1,200 แห่ง ส่วนแถบเอเชียและอาเซียนมีสาขาที่อินโดนีเซีย คูเวต มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ยูเครน เวเนซุเอลา และเวียดนาม ซึ่งปีนี้บริษัทแม่ยังวางเป้าหมายจะเปิดอีก 20 สาขาในเอเชีย และมีการเปิดร้านเท็กซัสชิคเก้นในปั๊มน้ำมันเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก 
 
เท็กซัสชิคเก้นอาจไม่ต่างจาก A&W ที่เข้ามาบุกตลาดเมืองไทยใหม่อีกครั้ง หลังได้บริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์แบบเอ็กซ์คลูซีฟในประเทศไทยรายใหม่ เพราะต้องเร่งปลุกแบรนด์และปูพรมสาขา ซึ่งนิปปอนแพ็คเองประกาศเป้าหมายเปิดร้าน A&W ครบ 100 สาขา ภายใน 5 ปี เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 10% ของตลาด QSR ในเซกเมนต์เบอร์เกอร์และไก่ทอด
 
แต่ภายใต้โจทย์ที่มากกว่า ปตท. ต้องการเพิ่มธุรกิจนอนออยล์จากปัจจุบันที่รายได้หลักในกลุ่มนอนออยล์มาจากร้านคาเฟ่อเมซอน 50% มาจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเป็นสัญญาเอ็กคลูซีฟร่วมกับซีพีออลล์  45% และธุรกิจอื่นๆ อีก 5% 
 
หากเป็นไปตามแผน คือ เท็กซัสชิคเก้นเปิดครบ 70 สาขา คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับ “คาเฟ่อเมซอน” และจะกลายเป็นนอนออยล์ที่สร้างกำไรเป็นอันดับ 2 ทันที 
 
แต่นั่นย่อมเป็นเดิมพันที่เจ้าตลาดอย่าง “เคเอฟซี” ไม่ยอมสูญเสียแน่!!