ข่าวการลงคะแนนเสียงประชามติของสหราชอาณาจักร เพื่อขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือ BREXIT เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั้งในบริบทการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของสหราชอาณาจักรแล้ว กรณีดังกล่าวยังสั่นคลอนความเป็นไปของยุโรปในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย
ผลกระทบต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมจากกรณีของ BREXIT ในระยะยาว แม้จะยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นทำให้หลายคนต่างหวั่นวิตก แม้จะพยายามประเมินสถานการณ์ในเชิงบวกว่ากรณี BREXIT อาจไม่กระทบเศรษฐกิจไทยในวงกว้างเท่าใดนักก็ตาม
กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์และศูนย์วิจัยหลายแห่ง ต่างประเมินผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยไว้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจาก BREXIT จะกระทบ GDP ของไทยในอัตราร้อยละ 0.07 หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปี 2559 และอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 0.2 ในปี 2560
โดยในกรณีที่ไม่ร้ายแรงอาจลดทอน GDP ไทยในปี 2559 เพียง 0.04% แต่ในกรณีที่เลวร้าย ด้วยการส่งผลกระทบลามไปถึงเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ใน EU ด้วย ก็อาจฉุด GDP ของไทยให้หายไปร้อยละ 0.2 ในปี 2559 และอาจขยับไปสู่ระดับร้อยละ 0.75 ในปี 2560
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณี BREXIT อยู่ที่กรณีดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะนอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและ EU แล้ว ยังมีผลกดดันเศรษฐกิจโลกและราคาโภคภัณฑ์ให้ฟื้นตัวช้าตามไปอีกด้วย
ขณะที่บางสำนักระบุว่า ในระยะสั้นเศรษฐกิจอังกฤษจะโตลดลงร้อยละ 1-2 เนื่องจากเศรษฐกิจอังกฤษพึ่งพายุโรปสูงมาก และยังต้องมีการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวช้าลง
ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เติบโตลดลงร้อยละ 0.1 จากเดิมคาดการณ์ว่าโตร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2.9 หรือคิดเป็นมูลค่าผลกระทบจากกรณี Brexit ประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท โดยจะกระทบเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังเป็นหลัก ให้ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.3 จากเดิมขยายร้อยละ 3.3 เหลือโตร้อยละ 3 ขณะที่การส่งออกติดลบร้อยละ 2 จากเดิมคาดว่าขยายตัวร้อยละ 0.8
ความไม่แน่นอนจากกรณี BREXIT ทำให้ทุกประเทศพยายามออกมาตรการประคับประคองระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถข้ามฝ่าสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างของความพยายามที่มีนัยความหมายอย่างมากกรณีหนึ่งอยู่ที่การประกาศมาตรการตามแนวนโยบาย ABENOMICS 2.0 ของ Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่พรรค LDP ภายใต้การนำของเขาสามารถกุมชัยชนะในการเลือกตั้งวุฒิสภาและสามารถรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้เกินกว่า 2 ใน 3
Shinzo Abe อาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวประกาศเดินหน้า Abenomics 2.0 ในทันที ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อความกังวลใจของทั้งประชาชนและระบบธุรกิจญี่ปุ่นเกี่ยวกับผลกระทบจากกรณีของ BREXIT ให้เหลือน้อยที่สุด
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ พลันที่ผลการลงประชามติ BREXIT ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่พยายามหาทางกลับเข้าสู่กระบวนการฟื้นตัวตามมาตรการ Abenomics ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้
ความพยายามของ Shinzo Abe ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในนาม Abenomics 2.0 ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะและมีการคาดการณ์ว่าเขาจะประกาศเดินหน้าเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ Abenomics 2.0 อาจไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าใดนัก เพราะกรณีเช่นว่านี้ได้รับการเปิดเผยมาแล้ว ภายใต้มาตรการที่ได้รับการกล่าวถึงในนาม “ธนู 3 ดอก” ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ ธนูดอกที่ 3 ว่าด้วยยุทธศาสตร์การเติบโตและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2013 เพียงแต่ในครั้งนั้นดำเนินไปภายใต้บริบทที่เป็นประหนึ่งบทสรุปและทีเด็ดของ Abenomics มากกว่า
แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Shinzo Abe ที่ระบุว่าจะหารือกับ Taro Aso รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ Nobuteru Ishihara รัฐมนตรีที่ดูแลการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำงบประมาณเสริมสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในสิ้นเดือนนี้ ดูจะเป็นความหวังใหม่ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นขึ้นมาได้บ้าง
กระนั้นก็ดี ผู้สังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยประเมินว่า ความพยายามของ Abenomics 2.0 ในด้านหนึ่งเป็นประหนึ่งการตอกย้ำว่า Abenomics ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และญี่ปุ่นยังไม่สามารถกลับมาสู่หนทางที่จะเติบโตไปข้างหน้าได้มากนัก
โดยเฉพาะกรณีว่าด้วยการปรับขึ้นภาษี Consumption Tax ระลอกแรกจากระดับร้อยละ 5 มาสู่ร้อยละ 8 เมื่อช่วงกลางปี 2014 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นเหตุให้ Shinzo Abe ต้องประกาศชะลอการขึ้นภาษีรอบที่สอง ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 10 ออกไปโดยระบุว่าจะมีการใช้อัตราภาษีใหม่ในปี 2017 แต่ดูเหมือนว่าจะมีปรับเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดอีกครั้ง
วาทกรรมว่าด้วย Abenomics 2.0 มาพร้อมกับยุทธศาสตร์ “ธนูใหม่อีก 3 ดอก” ที่ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายที่จะนำพา GDP ของญี่ปุ่นไปสู่ระดับ 600 ล้านล้านเยน ภายในปี 2021 หรือในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ ควบคู่กับประเด็นทางสังคมว่าด้วยการเพิ่มอัตราการเกิดและคงระดับจำนวนประชากรไว้ที่ 100 ล้านคน
รวมถึงจุดเน้นว่าด้วยการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนในวัยทำงานสามารถดูแลผู้สูงอายุได้โดยไม่ต้องออกจากงาน ซึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มสวัสดิการทั้งในมิติของรายได้ การเพิ่มกำลังซื้อในการบริโภค การลงทุนด้านการอนุบาลเด็กเล็กและผู้สูงวัยด้วย
ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวอาจสอดรับกับการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่แนวโน้มใหม่ว่าด้วยอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งเกี่ยวเนื่องและสอดรับกับความพยายามรื้อสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นตามแนวทางของ Abenomics ที่ดำเนินการมาในช่วงก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยวิพากษ์ Abenomics 2.0 ว่าอุดมด้วยเป้าหมายแต่ยังไม่มีรูปธรรมของมาตรการที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ธนู 3 ดอกแรกของ Abenomics ในช่วงก่อนหน้าก็ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่าเข้าเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้พ้นจากสภาพภาวะเงินฝืด (deflation) ได้จริงหรือไม่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 2
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านเยนในครั้งนี้ จึงอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในห้วงยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรอบไม่เอื้ออำนวยนี้ได้มากเท่าใดนัก
ความเป็นไปของสถานการณ์ระดับนานาชาติที่เป็นอยู่รอบข้าง ดูเหมือนจะพร้อมฉุดรั้งให้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยและของโลกอยู่ในภาวะที่ซบเซาต่อเนื่องยาวนาน หวังเพียงแต่ว่าปัจจัยลบที่แวดล้อมอยู่นี้จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงหรือนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่
เพราะดูเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากมายาคติว่าด้วยประเด็นความมั่นคงทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว สังคมไทยโดยส่วนใหญ่จะยังตระหนักและเตรียมความพร้อมไม่มากเพียงพอสำหรับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่อาจทรุดตัวลงเช่นนี้เลย