ฉากแห่งความเศร้าและปิติจากมหกรรมฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือ EURO 2016 ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโปรตุเกสสามารถคว้าชัยชนะขึ้นครองความเป็นจ้าวแห่งยุโรปได้เป็นสมัยแรก
ขณะที่สำหรับแวดวงคนรักกีฬา ระยะเวลานับจากนี้อีกไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็ม ฉากของการแข่งขันฟุตบอลที่ได้ชื่อว่ามีผู้ติดตามชมมากที่สุดในประเทศไทยในนาม พรีเมียร์ลีกจากประเทศอังกฤษ อาจไม่ได้มีความน่าสนใจเฉพาะในมิติของเกมการแข่งขันในสังเวียนการฟาดแข้งเท่านั้น
หากแต่ยังมีมิติและเรื่องราวในเชิงธุรกิจให้ได้พิจารณาไม่น้อยเลย
การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2016-2017 ในด้านหนึ่งต้องถือเป็นประหนึ่งบทพิสูจน์ธาตุแท้ของทีมฟุตบอลที่ได้ชื่อว่ามีนักธุรกิจไทยเป็นเจ้าของอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ว่าจะสามารถไปได้ไกลสมมาตรฐานแชมป์เก่าในฤดูกาลก่อนหรือไม่
ความสำเร็จของเลสเตอร์ในด้านหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับวิสัยทัศน์และความสามารถของวิชัย ศรีวัฒนประภา ที่คอยกำกับเป็นหัวเรือใหญ่ หลังจากที่เข้าซื้อกิจการของสโมสรฟุตบอลขนาดเล็กๆ นี้ ตั้งแต่ปี 2010
แม้ว่าในขณะนั้นเลสเตอร์ ซิตี้ จะเป็นเพียงทีมกลางตารางใน Championship League ลีกระดับรองให้ขึ้นมาผงาดบนตำแหน่งแชมป์ Premier League และกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันระดับภูมิภาคยุโรปในในสังเวียน UEFA Champion League ในฤดูกาลนี้ด้วย
ความสำเร็จของวิชัย ศรีวัฒนประภา ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนหวนคำนึงคิดถึงจังหวะก้าวของวิชัย ทองแตง ในฐานะนายใหญ่ของ CTH ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์และความตื่นตาตื่นใจไว้ให้กับสังคมด้วยการทุ่มเงินนับหมื่นล้านในการประมูลสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษยาวนาน 3 ฤดูกาล (2013-2016) ด้วยหวังจะเป็นแม่เหล็กและเป็นสปริงบอร์ดในการนำพา CTH เข้าสู่การแข่งขันระดับสากล
“CTH ในนิยามของผมก็คือ เคเบิลทีวีบ้านนอก ที่พร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ผมขอให้นิยามสั้นๆ แค่นี้” วิชัย ทองแตง บอกกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” เมื่อการสัมภาษณ์ในช่วงปลายปี 2012 อย่างอารมณ์ดี แต่แฝงนัยความหมายครอบคลุมบริบททั้งทางธุรกิจ การเมือง และสังคมไปในคราวเดียวกัน
วิชัย ทองแตง พยายามทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่น เพื่อปรับทิศทางและวางรากฐานทางธุรกิจใน CTH ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะตระหนักดีว่าการบริหารความเปลี่ยนแปลง (manage change) เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีมิติที่ซับซ้อน
ข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหน้าวิชัย ทองแตง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจเคเบิลทีวี อยู่ที่จำนวนฐานสมาชิกที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ที่ประเมินในเบื้องต้นว่ามีอยู่มากถึง 3.5 ล้านครัวเรือน ในขณะที่ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นเหล่านี้ยังขาดอำนาจในการต่อรอง และขาดทิศทางที่จะดำเนินไปร่วมกัน ท่ามกลางการแข่งขันที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ
พร้อมกับระบุว่าก่อนหน้านี้ อาจไม่มีใครรู้จัก CTH แต่หลังจากที่ CTH ได้รับลิขสิทธิ์ EPL ตอนนี้ไปติดต่อใครที่ไหน ก็ง่ายขึ้น เพราะ CTH มีโปรไฟล์ และอยู่ในสปอตไลต์แล้ว
ความมั่นใจจากผลการประมูลและจังหวะก้าวที่เล็งผลเลิศในมิติที่ว่านี้ อาจเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ CTH ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาประสานประโยชน์กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ถือเป็นพันธมิตรเริ่มต้นของ CTH และทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มถอยห่างจาก CTH ไปตั้งแต่การแข่งขันพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2013-2014 ยังไม่ทันได้เริ่มเสียงนกหวีด
และดูเหมือนว่าการได้สิทธิ์ถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกในช่วงที่ผ่านมากลับไม่สามารถนำพา CTH ไปสู่ฝั่งฝันที่ตั้งไว้ได้ ยังมิพักต้องกล่าวถึงความสูญเสียอย่างหนักจากการลงทุนที่ทำให้ CTH อยู่ในสถานะขาดทุนอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา
โดยในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี CTH ประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท จากผลของการทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ 3 ฤดูกาลล่าสุด ปี 2013-2016 สูงถึง 10,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้ในปีแรกเข้ามาเพียง 730.70 ล้านบาท แถมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 4,420.07 ล้านบาท เจอปัญหายอดสมาชิกต่ำกว่าเป้าหมาย การติดตั้งล่าช้า บุคลากรไม่เพียงพอ เบ็ดเสร็จแบกหนี้มากกว่า 12,000 ล้านบาท
ผู้สันทัดกรณีจำนวนไม่น้อยพยายามอธิบายความล้มเหลวของ CTH ว่าเกิดจากความไม่พร้อมของระบบโครงข่ายการให้บริการตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะเผชิญปัญหาไม่สามารถช่วงชิงฐานลูกค้าจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ทำให้ฐานรายได้ที่คาดหวังว่าจะเป็นกอบเป็นกำต่างไปจากการประเมิน
ยังไม่นับรวมระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ถือว่าเป็นปัญหาต่อระบบธุรกิจของ CTH และเป็นประหนึ่งปัจจัยเสริมให้ CTH เดินทางเข้าสู่มุมอับหนักขึ้นเรื่อยมาและจนถึงขณะปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะแก้ไขได้ นอกจากจะต้องยุติการให้บริการเพื่อปิดปากแผลทางธุรกิจนี้ให้ได้เสียก่อน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา วิชัย ทองแตง พยายามนำพา CTH ฝ่าคลื่นลมมรสุมของการแข่งขันในธุรกิจเพย์ทีวีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผูกพันธมิตรกับ GMM Z เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2014 ด้วยหวังว่าดีลที่หลายคนมองว่าจะเป็น “วิน-วิน” ที่ช่วยให้ทั้ง CTH และ GMM Z หลุดพ้นจากการบันทึกยอดตัวแดงของการขาดทุนมาสู่กำไรเสียที
การผนึกกำลังของ CTH และ GMM Z ในครั้งนั้นดำเนินไปด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมของทั้งวิชัย ทองแตง และไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ถึงขนาดระบุว่าการผนึกกำลังกันจะทำให้ซีทีเอชล้างตัวแดงและสร้างรายได้คุ้มทุนเป็นปีแรก ประมาณ 6,000-7000 ล้านบาท พร้อมๆ กับการมีกำไรในปีถัดไป
ขณะเดียวกันยังเล็งผลเลิศไปสู่การก้าวขึ้นเป็น “มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เต็มรูปแบบตามเป้าหมาย ควบคู่กับการลดต้นทุนด้านคอนเทนต์ การเพิ่มความสามารถด้านเงินทุนและขยายฐานสมาชิกอย่างรวดเร็วตามจำนวนกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ที่ปูพรมไปในทุกครัวเรือนทั่วประเทศ
ก่อนหน้านั้น วิชัย ทองแตง พยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับบริษัท พีเอสไอโฮลดิ้ง จำกัด หลังจากร่วมกันจัดทำแพ็กเกจขายคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกกับกล่องพีเอสไอ รุ่น O2 HD ในช่วงต้นปี 2014 ในลักษณะของการขายคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกพ่วงกับอุปกรณ์ปลั๊กอินที่ใช้กับกล่อง PSI รุ่นเก่าที่มีอยู่แล้วในครัวเรือนกว่า 1 ล้านกล่อง ซึ่งถือเป็นแพ็กเกจชมพรีเมียร์ลีกครบทุกแมตช์ในราคาที่ต่ำสุด
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ความเป็นไปของ CTH ที่ครอบครองสิทธิ์การถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกจะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย มิหนำซ้ำในช่วงต้นปี 2016 ลูกค้าจากเครือข่ายพันธมิตรของ CTH ไม่ว่าจะเป็นผู้รับบริการกล่อง GMM Z และ PSI กลับถูกปล่อยทิ้งคว้างไว้กลางทางจากการบอกเลิกการให้บริการของ CTH ด้วย
กรณีเช่นว่านี้ คงไม่เพียงแต่สร้างความไม่พึงพอใจจากฐานลูกค้าสมาชิกเท่านั้น แม้ว่าจะมีการมอบสิทธิ์ชดเชยให้ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่า CTH ผิดพลาดในเชิงธุรกิจอย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันความเป็นไปของ CTH คงเป็นกรณีที่สร้างบาดแผลให้กับทั้งวิชัย ทองแตง และพันธมิตรทางธุรกิจของเขาไม่น้อยเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเมินจากข้อเท็จจริงที่ว่า วิชัย ทองแตง ไม่ได้วางเป้าหมายในการพัฒนา CTH ให้หยุดอยู่เพียงในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ประกอบการด้านบันเทิงและสันทนาการ หากแต่เขามองไปไกลและกำหนดเป้าหมายของ CTH ไว้มากกว่านั้น
“หากถามผมว่า ในอนาคตเมื่อ CTH ดำเนินการตามแผนธุรกิจและสามารถพัฒนาธุรกิจให้เข้าหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผมวางเป้าหมายไว้ประมาณ 3 ปี CTH ควรจะอยู่ในกลุ่มไหน ผมก็ต้องตอบตามความคิดของผมว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มสื่อสาร นี่เป็นความคิดของผมนะ เพราะในอนาคตธุรกิจของ CTH ไปไกลกว่าบันเทิงและสันทนาการแน่นอน”
เป็นคำประกาศของวิชัย ทองแตงเมื่อปี 2012 ซึ่งดูเหมือนว่า CTH จะถอยห่างไปจากจุดที่วิชัยวาดหวังไว้และไม่ใกล้เคียงความจริงเท่าใดนัก
แม้ว่าจะมีประกาศประชาสัมพันธ์จาก CTH ว่าด้วยเรื่องการยุติการให้บริการผ่านช่องทางของพันธมิตรต่างๆ อย่างหลากหลายในช่วงเวลาที่ผ่านมา หากแต่ด้วยชื่อชั้นของวิชัย ทองแตง ทำให้หลายคนเชื่อว่าความเป็นไปของ CTH ภายหลังการสิ้นสุดการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากอังกฤษ อาจเป็นเพียงช่วงเวลาพักฟื้นก่อนการก้าวเดินครั้งใหม่ที่อาจมีจุดโฟกัสชัดเจนขึ้นกว่าเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิชัย ทองแตง ยังยืนยันว่า CTH ยังจะเดินหน้าธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ต่อไป ไม่ได้ปิดกิจการ หากแต่ต้องปรับรูปแบบการบริการใหม่ และอยู่ระหว่างวางแผนธุรกิจ ซึ่งยังให้รายละเอียดไม่ได้
บางที วิชัย ทองแตง อาจกำลังย้อนระลึกถึงภาพจำแห่งความสำเร็จ เมื่อครั้งที่เขา turn around ธุรกิจโรงพยาบาลหลายแห่งที่ได้ซื้อมา ก่อนที่เขาจะสวอปหุ้นกับกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักและผู้บริหารของเครือโรงพยาบาลชั้นนำที่มีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน มาปรับใช้กับกรณีของ CTH อีกครั้งก็ได้
เพียงแต่โอกาสเช่นว่านั้นจะยังมีเหลืออยู่หรือไม่เท่านั้น