“ทีซีซีกรุ๊ป” ของเจริญ สิริวัฒนภักดี สามารถเอาชนะคว้าดีลฮุบกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศไทย ด้านหนึ่งสามารถเติมเต็มเครือข่ายค้าปลีกในอาณาจักรธุรกิจ แต่อีกด้านหมายถึงอภิมหาสงครามระดับแสนล้าน เพราะหากเทียบความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แล้ว ถือว่า “บิ๊กซี” เป็นสมรภูมิใหม่ของเหล่าทายาทในตระกูล เมื่อต้องชนกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้โลตัสและกลุ่มเซ็นทรัล
ที่สำคัญ “บิ๊กซี” ไม่ได้เจอเพียงแค่ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความไม่มั่นใจของกลุ่มผู้บริโภคและกำลังซื้อหดหนัก แต่ยังต้องฝ่าแนวต้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งล่าสุดเปิดศึกดัน “ท็อปส์” รุกตลาดเต็มรูปแบบ ทุ่มเงินทุน 6,500 ล้านบาท ปูพรมขยายสาขาภายใน 5 ปี ครบ 600 สาขา เจาะทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย พร้อมๆ กับยกเครื่องเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียนสโตร์ในเครืออย่าง “แฟมิลี่มาร์ท” ด้วย
จากเดิม “ท็อปส์” เคยเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง บิ๊กซีเน้นจุดขายความเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ในฐานะพันธมิตรผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้งบิ๊กซี แต่ ณ วันนี้ ท็อปส์กระโดดเข้ามาเล่นตลาดซูเปอร์เซ็นเตอร์มากขึ้น แตกไลน์รูปแบบสาขาหลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ไม่แตกต่างจากกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต
ขณะเดียวกันตามแผนยุทธศาสตร์ของทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ประกาศชัดเจนสั่งทุกกลุ่มธุรกิจเดินหน้าลงทุน ทั้งการควบรวมกิจการ การร่วมทุน และการลงทุนเองทั้งในและต่างประเทศ งบลงทุนสูงถึง 39,000 ล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีก โดยพุ่งเป้าเชื่อมโยงเครือข่ายที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มฟู้ดรีเทลและฟู้ดเรสเตอรองส์ ได้แก่ เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป, เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป, ท็อปส์, แฟมิลี่ มาร์ท, โคโมโนยะ, มัทสึโมโตะคิโยชิ, ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย ซึ่งตามแผนจะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นทุกแบรนด์ 420 แห่ง
ทั้งนี้ หากนับเฉพาะสาขาในกลุ่มฟู้ดรีเทล ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ประกอบด้วย เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ จำนวน 7 สาขา ท็อปส์ มาร์เก็ต 85 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ 2 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม 37 สาขา และท็อปส์ เดลี่ 51 สาขา ธุรกิจฟู้ดคอร์ทระดับไฮเอนด์ “อีทไทย” 1 สาขา ร้าน Specialty Store อีก 3 รูปแบบ คือ ร้าน Wine Cellar จำนวน 3 สาขา ร้านกาแฟ Segafredo 19 สาขา และร้านสุขภาพความงาม มัทซึโมโตะคิโยชิ 4 สาขา
ในส่วนร้านมัทสึโมโตะคิโยชิ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลจับมือร่วมทุนกับกลุ่มเอ็มเค กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2558 มีแผนขยายสาขาปีนี้ครบ 8 สาขา และตั้งเป้าเปิดครบ 100 สาขา ภายใน 5 ปี เพื่อสนองเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยที่ให้ความสำคัญกับความสวยงามสไตล์ญี่ปุ่น โดยรวมสินค้าส่งตรงจากญี่ปุ่นและจากทั่วทุกมุมโลก จำนวนมากกว่า 10,000 รายการ
ขณะที่กลุ่มฟู้ดรีเทลแบรนด์ “ท็อปส์” จะเปิดเพิ่ม 45 สาขา โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2559 จะมีสาขาของท็อปส์ทั้งสิ้น 250 สาขา และรีโนเวตสาขาอีก 12 แห่ง
อลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าวว่า ทิศทางการตลาดของท็อปส์จะชูแนวคิดการรักษาคุณภาพและบริการ โดยอาศัยจุดแข็งด้านระบบซีอาร์เอ็มที่สามารถวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึกของลูกค้าที่มีข้อมูลผ่านลูกค้าเดอะวันการ์ด 12 ล้านราย รวมถึงเพิ่มศักยภาพการบริการด้านออนไลน์ผ่านช่อง “ท็อปส์ช้อปออนไลน์” ซึ่งมีสินค้าประมาณ 10,000 รายการในออนไลน์ และสินค้าในช่องทางออฟไลน์ 40,000–50,000 รายการ
ส่วน “แฟมิลี่มาร์ท” ล่าสุดมีสาขาคอนวีเนียนสโตร์ 1,111 สาขา สาขาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ชลบุรี พัทยา ภูเก็ต สมุย โดยตั้งเป้าขยายสาขาทั้งที่บริษัทลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ ครบ 3,000-3,500 สาขาภายในปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562
จิรนันท์ ผู้พัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า บริษัทวางกลยุทธ์หลักต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งตัวสินค้าและบริการ ซึ่งแฟมิลี่มาร์ทมีข้อได้เปรียบในแง่การผนึกกำลังกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล ครอบคลุมสินค้าและบริการทุกเซกเมนต์
ที่ผ่านมามีการพัฒนาความร่วมมือกับคู่ค้าในเครือ ทั้งกลุ่มฟู้ดรีเทลจากท็อปส์และกลุ่มเรสเตอรองต์เช่น มิสเตอร์โดนัท พัฒนาอาหารกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทานและอาหารสด โดยมีบัตรสมาชิก “เดอะวันการ์ด” เป็นตัวเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์และเป็นตัวหลักที่สร้างยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา
ต้องถือว่าแฟมิลี่มาร์ทใช้เวลาสร้างจุดขายและจุดแข็งต่อเนื่อง ทั้งการสร้างโมเดลสาขา ได้แก่ สาขามาตรฐานและสาขาพรีเมียม ซึ่งเปิดพื้นที่บริการรับประทานอาหาร แฮงก์เอาต์ ในบรรยากาศการตกแต่งที่มีสีสันดึงดูดกลุ่มเป้าหมายย่านธุรกิจ จุดท่องเที่ยวต่างๆ
การผลิตสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมรับประทานที่มีเอกลักษณ์ ภายใต้แบรนด์ “Fami” อาหารว่างสไตล์ญี่ปุ่นอย่าง โอเด้ง ข้าวปั้นญี่ปุ่นรสชาติต่างๆ และวางจำหน่ายผลไม้สดตามฤดูกาล เช่น แตงโม กีวี กล้วย รวมทั้งเพิ่มโซนเครื่องดื่ม Fami Cafe และครัวเปิด Fami Kitchen บวกกับโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม แคมเปญพิเศษเฉพาะสมาชิกพร้อมสะสมแต้มเดอะวันการ์ด แลกคูปองเงินสดใช้จับจ่ายสินค้าและบริการในทุกกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล นอกจากนี้กำลังเร่งพัฒนาระบบรองรับรูปแบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตทุกสาขาทั่วประเทศ
จิรนันท์ย้ำว่า การปรับกลยุทธ์ต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายแต่ละสาขาเติบโตเกินเป้าหมายกว่า 5% โดยเฉพาะกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งรวมถึงเบเกอร์ ข้าวกล่อง ผลไม้ เติบโตมากกว่า 50%
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเร่งเครื่องดันกลุ่มฟู้ดรีเทลอย่างเต็มสูบของกลุ่มเซ็นทรัลเป็นการเตรียมพร้อมรับสงครามค้าปลีกโฉมใหม่ การเข้ามาโลดแล่นของ “ทีซีซีกรุ๊ป” ในฐานะเจ้าของกิจการบิ๊กซีผ่านบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเจริญมอบหมายนโยบายให้ลูกเขย คือ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ลุยบริหารฝ่าแนวต้านรอบด้าน เพราะเชื่อฝีไม้ลายมือ หลังจากบริหารพลิกฟื้น “บีเจซี” จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
ล่าสุด บีเจซีประกาศเป้าหมายยอดขายปี 2559 จะเติบโตก้าวกระโดด “อย่างมาก” หลังรวมกิจการบิ๊กซี โดยหากนับรวมเฉพาะผลการดำเนินงานของบีเจซีบริษัทเดียว ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายจะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มียอดขาย 42,800 ล้านบาท ขณะที่บิ๊กซีมียอดขายราว 1.2 แสนล้านบาทในปี 2558 และปีนี้จะเติบโตได้อีก โดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีจะทำให้มี Synergy ระหว่างกันมากขึ้น ถือเป็นการควบรวมที่ครบวงจรและหนุนให้ยอดขายเติบโตก้าวกระโดดต่อเนื่อง
เฉพาะปีนี้ บีเจซีสั่งขยายสาขาบิ๊กซี 84 แห่ง งบลงทุนรวม 5,000-6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 3 สาขา และมินิบิ๊กซี 75 สาขา นอกจากนี้ นำร่องเปิดสาขารูปแบบใหม่ คือ มินิไฮเปอร์มาร์เก็ต ใน จ.ระนอง พื้นที่รวม 1 หมื่นตารางเมตร ก่อสร้างเป็น 6 อาคารชั้นเดียวและมีทางเชื่อมถึงกัน เพื่อแก้ปัญหาผังเมืองในเขตตัวเมือง โดยคาดว่าจะทยอยเปิดบิ๊กซี มินิไฮเปอร์มาร์เก็ตในหัวเมืองรองตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะใช้พื้นที่ไม่ใหญ่มาก
แน่นอนว่า อาณาจักรทีซีซีกรุ๊ปของเจริญมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กลุ่มเซ็นทรัลและอาศัยเงินทุนสนับสนุนจำนวนมหาศาล ทั้งกลุ่มศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ คอมเพล็กซ์ “มิกส์ยูส” ที่เตรียมเปิดโครงการอีกหลายจุด ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจสเปเชียลสโตร์อย่าง “โอเกงกิ” ที่มีแนวโน้มปรับโฉมมาเล่นในตลาดคอนวีเนียนสโตร์ จนถึงธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “บิ๊กซี”
ศึกค้าปลีกระหว่าง “เซ็นทรัล” และ “ทีซีซีกรุ๊ป” ร้อนฉ่าและไม่มีใครยอมจบง่ายๆ แน่