การประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ของ “ท็อปส์” ทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 6,500 ล้านบาท เร่งปูพรมสาขาทั่วประเทศครบ 600 สาขาภายในปี 2564 เป็นทั้งการเปิดกลยุทธ์สู้ศึกระลอกใหม่และเตรียมพร้อมรับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ หลังจากกลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ใน “บิ๊กซี” ทั้งหมด 25% ผ่านกระบวนการรับซื้อหุ้นในขั้นตอนการเทกโอเวอร์ของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ในเครือทีซีซีกรุ๊ป
เปลี่ยนสถานะ “บิ๊กซี” จาก “Big Central” ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็น “Big Charoen” พลิกเกมธุรกิจจาก “พันธมิตร” เป็น “ศัตรูคู่แข่ง” โดยถือฤกษ์การฉลองครบรอบ 20 ปีของ “ท็อปส์” ลุยสงครามฟู้ดรีเทลกับ “บิ๊กซี” และจุดชนวนสมรภูมิค้าปลีกระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับทีซีซีกรุ๊ปด้วย
หากย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) และรวมกิจการในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเซ็นทรัลกับโรบินสันเมื่อปี 2537
หลังจากนั้นอีก 2 ปี กลุ่มเซ็นทรัลประกาศร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต Royal A Hold จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งบริษัท ซีอาร์ซี เอโฮลด์ จำกัด เปิดตัว “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” แห่งแรกในประเทศไทย และขยายสาขาในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันมีปรับเปลี่ยนองค์กรตามโครงสร้างใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อความชัดเจนในการบริหาร จากบริษัท ซีอาร์ซี เอโฮลด์ จำกัด จัดตั้ง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ดูแลธุรกิจฟู้ดรีเทล เพื่อต่อยอดธุรกิจ ไม่ใช่แค่กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต
ปัจจุบันบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด มีจำนวนสาขากลุ่มฟู้ดรีเทลทั้งสิ้น 205 สาขาใน 8 รูปแบบ ประกอบด้วย เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เน้นตลาดไฮเอนด์และสินค้านำเข้า จำนวน 7 สาขา ท็อปส์ มาร์เก็ต หรือซูเปอร์มาร์เก็ตระดับกลาง 85 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์ สโตร์ เน้นสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นและครอบคลุมทุกหมวดสินค้า 2 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม ซึ่งเน้นจุดขายสินค้าราคาประหยัด 37 สาขา และท็อปส์ เดลี่ รูปแบบซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์ เน้นสินค้าอาหารสดและอาหารพร้อมรับประทาน จำนวน 51 สาขา
นอกจากนี้ เริ่มขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจฟู้ดคอร์ทระดับไฮเอนด์ “อีทไทย” 1 สาขา ในเซ็นทรัลเอ็มบาสซี และมีร้าน Specialty Store อีก 3 รูปแบบ คือ ร้าน Wine Cellar จำนวน 3 สาขา ร้านกาแฟ Segafredo จำนวน 19 สาขา และเมื่อปี 2558 บริษัทร่วมทุน Joint Venture กับญี่ปุ่น เปิดร้านสุขภาพและความงามอันดับ 1 ของญี่ปุ่น “มัทซึโมโตะคิโยชิ” นำร่องเฟสแรก 4 สาขา
อลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ามีสาขาครบ 600 แห่งภายใน 5 ปีนับจากปี 2560 โดยเตรียมงบลงทุนรวม 6,500 ล้านบาท หรือปีละ 1,300 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับปรุงสาขาเดิมและพัฒนาระบบการให้บริการ โดยปีนี้จะขยายสาขา 45 แห่ง หรือครบ 250 แห่งในสิ้นปีนี้ และรีโนเวตสาขาเดิม 12 แห่ง นอกจากนี้ ใช้งบลงทุนอีก 300 ล้านบาทพัฒนาระบบไอที เพื่อรองรับการขายในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะช่องทางท็อปส์ ช้อป ออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าจำหน่ายกว่า 1 หมื่นรายการ และมียอดขายต่อบิลประมาณ 1,500 บาท
ตามแผนการขยายสาขา เซ็นทรัลฯจะเน้น 2 โมเดลหลักคือ ท็อปส์มาร์เก็ต 10 สาขาจากปัจจุบันมี 85 สาขาและท็อปส์เดลี่เปิดอีก 24 สาขา จากเดิมที่มี 51 สาขา เนื่องจากมีความคล่องตัวในการหาทำเลและขนาดพื้นที่
อลิสเตอร์ยอมรับว่า แม้ท็อปส์มีสาขามากที่สุดในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต แต่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เร่งขยายสาขารูปแบบต่างๆ ซึ่งหากดูมูลค่าตลาดรวมฟู้ดสูงถึง 1 ล้านล้านบาท แยกสัดส่วนเป็นเทรดดิชันนัลเทรด 45% และโมเดิร์นเทรด 55% โดยโมเดิร์นเทรดมีผู้เล่นระดับยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น
สำหรับผลประกอบการในรอบ 5 เดือนแรก บริษัทยังมีอัตราเติบโต 12.8% สูงกว่าภาพรวมค้าปลีกที่เติบโตเพียง 4.9% และสูงกว่าภาพรวมร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่เติบโต 8.3% โดยเดือนมิถุนายนเติบโตถึง 17%
หากแยกยอดใช้จ่ายต่อบิลจะพบว่า เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบิล 650-700 บาท ท็อปส์ มาร์เก็ต และ ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ เฉลี่ย 500 บาท ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม 300 บาท และ ท็อปส์ เดลี่ 200 บาท
แหล่งข่าวจากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า เดิมท็อปส์และบิ๊กซีถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จะไม่แข่งขันกันโดยตรง เพราะบิ๊กซียังถือเป็นธุรกิจของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ แม้ไม่มีอำนาจบริหารทางตรงและวางนโยบายการเจาะตลาดแยกกลุ่มเป้าหมาย สินค้าและบริการ โดยจุดขายของบิ๊กซีเน้นเรื่องราคาประหยัดและจับกลุ่มลูกค้าระดับแมส ขณะที่ท็อปส์เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน มีสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ
ที่สำคัญ เซ็นทรัลคือผู้ก่อตั้งธุรกิจ “บิ๊กซี” ร่วมกับเครืออิมพีเรียล โดยจับมือกันเปิดบริษัท เซ็นทรัล ซูเปอร์สโตร์ จำกัด เผยโฉมห้างสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะเมื่อปี 2537 ก่อนเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ให้คาสิโน กรุ๊ป เหลือหุ้นในมือคนตระกูลจิราธิวัฒน์รวมกันประมาณ 25% และเป็นหนึ่งในผู้เสนอดีลซื้อกิจการบิ๊กซีในประเทศไทยทันทีที่คาสิโนกรุ๊ปประกาศตัดขายกิจการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
กลุ่มเซ็นทรัลวางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนที่จะเร่งสร้างเครือข่ายค้าปลีกครอบคลุมทุกเซกเมนต์และทุกกลุ่มลูกค้าอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่กลุ่มหลัก ห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน เซน ลารีนาเซนเต
กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ท็อปส์ กลุ่มร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ แฟมิลี่มาร์ท นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสเปเชียลสโตร์ ได้แก่ เพาเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอร์ต, บีทูเอส, โฮมเวิร์ค, ไทวัสดุ, ออฟฟิศเมท
หากเซ็นทรัลสามารถฮุบหุ้นใหญ่ “บิ๊กซี” ย่อมหมายถึงการทวงคืนธุรกิจซูเปอร์เซ็นเตอร์และผนึกเป็นเครือข่ายค้าปลีกครบวงจรอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากคาสิโน กรุ๊ป ลงทุนพัฒนา “บิ๊กซี” ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยเมื่อปี 2553 ส่งผลให้สาขาของบิ๊กซีพุ่งพรวดทันทีเป็น 105 สาขา จากเดิม 60 สาขา พร้อมๆ กับการปรับโฉมและเพิ่มโมเดลสาขาต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เจาะลูกค้าอย่างครอบคลุม ทั้งลูกค้าซื้อปลีก กลุ่มค้าส่งและสาขาในปั๊มน้ำมัน
แต่สุดท้าย บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ในเครือของเจริญ สิริวัฒนภักดี สามารถเฉือนเอาชนะยึดกิจการบิ๊กซีในประเทศไทย โดยทุ่มเม็ดเงินเทกโอเวอร์มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เคยระบุในงานแถลงผลประกอบการและแผนธุรกิจประจำปี 2559 ว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่ขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 25% เพราะถือมาเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี และยังได้ชื่อเป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ต้นด้วย
ทว่า ในเวลาต่อมา ทศประกาศขายหุ้นบิ๊กซีและพลิกเกมใหม่ จับมือกับกลุ่มเหงียนคิมซื้อกิจการบิ๊กซี เวียดนามจาก “คาสิโนกรุ๊ป” มูลค่า 920 ล้านยูโร เป้าหมายเพื่อเสริมทัพความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลในการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย เพราะบิ๊กซีเวียดนามฝังตัวในตลาดยาวนานกว่า 18 ปี มีสาขารวม 43 สาขา แบ่งเป็นบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 สาขา คอนวีเนียนสโตร์ 10 สาขา และรูปแบบศูนย์การค้าอีก 30 แห่ง มียอดขายเมื่อปี 2558 ราว 586 ล้านยูโร
ขณะเดียวกัน กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนามซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2554 กำลังเร่งสร้างอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกทุกเซกเมนต์ เพื่อสร้างจุดยุทธศาสตร์หลักก่อนสยายปีกสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
แนวรบฝั่งไทยมี “ท็อปส์” ส่วนแนวรบอาเซียนมี “บิ๊กซี” เกมใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลโยงใยซับซ้อนและยาวเป็นมหากาพย์แน่