วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ภาษา “ทมิฬ”

ภาษา “ทมิฬ”

 
Column: AYUBOWAN
 
ช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สังคมไทยดูจะอยู่ในช่วงพักร้อนยาวจากปฏิทินวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลงานพิธีหลากหลาย ซึ่งไม่แตกต่างจากความเป็นไปของศรีลังกามากนัก
 
เพราะหลังจากผ่านช่วง Avurudu หรือปีใหม่ของทั้งชาวสิงหลและทมิฬที่ไล่เรียงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน และหยุดยาวต่อเนื่องกว่าที่สังคมและภาคธุรกิจจะกลับเข้าสู่การทำงานปกติก็ล่วงเลยไปจะถึงสิ้นเดือนกันเลยทีเดียว
 
เหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะนอกจากช่วง Avurudu จะนับเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและใช้เวลากับครอบครัวแล้ว บรรษัทห้างร้านก็ถือโอกาสให้เป็นช่วงเวลาของการสังสรรค์ภายใน ยังไม่นับรวมถึงกิจกรรมของแต่ละชุมชนและกลุ่มสมาคมชมรมที่จัดตารางกิจกรรมหนาแน่นไปตลอด 2-3 สัปดาห์
 
ครั้นพอเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม การประดับโคมประทีปเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองในเทศกาลวันวิสาขบูชา หรือ Vesak ซึ่งถือเป็นวันพระใหญ่สำคัญของชาวพุทธก็เริ่มดำเนินทอดยาวไปอีก ไม่ต่ำกว่า 3-4 สัปดาห์
 
เรียกได้ว่าหลังจากผ่านช่วงเวลาสนุกหรรษาเถลิงศกใหม่ก็มาถึงงานบุญงานกุศล เพื่อเป็นพุทธบูชาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของสังคมชาวพุทธและความเป็นพหุสังคมของศรีลังกาได้เป็นอย่างดี
 
ยิ่งเมื่อเข้าถึงเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนสำคัญแห่งการถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Holy Month of Ramadan) โดยในปีนี้เริ่มเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะประกอบส่วนด้วยวัตรปฏิบัติของชาวมุสลิมแต่ละท่านแล้วยังมีกิจกรรมแวดล้อมของกลุ่มสมาคมและองค์กรการกุศลเข้าร่วมด้วย
 
ท่ามกลางการเฉลิมฉลองและพิธีกรรมที่หลากหลายของผู้คนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมศรีลังกา วันที่ 6 มิถุนายนปีนี้ก็นับว่าเป็นวันสำคัญไม่น้อยสำหรับชาวทมิฬ และผู้ใช้ภาษาทมิฬทั้งในศรีลังกาและอีกกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก
 
เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2004 รัฐสภาอินเดียได้ลงมติยกสถานะภาษาทมิฬให้เป็น Classical Language ของอินเดีย ซึ่งถือเป็นภาษาแรกในภาษาราชการจำนวน 22 ภาษาของอินเดียที่ได้รับสถานะที่ว่านี้ แม้ว่าในอินเดียจะมีผู้ใช้ภาษาทมิฬอยู่เพียงประมาณ 70 ล้านคนจากจำนวนประชากรรวมกว่า 1,200 ล้านคนก็ตาม
 
นัยความหมายของการเป็น Classical Language หรือภาษาคลาสสิกในด้านหนึ่งก็คือการยอมรับว่าภาษาทมิฬมีส่วนเป็นรากฐานให้กับภาษาอื่นๆ และมีคุณค่าในมิติของวรรณกรรม ไม่นับรวมบทบาทของภาษาทมิฬที่ปรากฏเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์อยู่ในคัมภีร์ Ayyavazhi และบทสรรเสริญพระเจ้าในวัฒนธรรมของชาวฮินดู ทั้ง Shaivism และ Vaishnavism ด้วย
 
ภาษาทมิฬอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษา Dravidian ที่มีชีวิตยืนยาวมากที่สุดภาษาหนึ่งของโลกและถือเป็นภาษาร่วมสมัยที่ยังใช้อยู่ในอินเดียที่ได้รับการกล่าวชื่นชมถึงอดีตที่รุ่งเรือง ทั้งในมิติของความหลากหลายและคุณภาพของงานวรรณกรรมภาษาทมิฬ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรากฐานของทั้งวัฒนธรรมประเพณีและรูปแบบงานวรรณกรรมของโลกเลยก็ว่าได้
 
หลักฐานความเก่าแก่ของงานวรรณกรรมภาษาทมิฬสามารถสืบย้อนกลับไปได้กว่าสองพันปี และถือเป็นงานวรรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มภาษา Dravidian และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
 
ความสำคัญของภาษาทมิฬไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในฐานะที่เป็นภาษาหลักในรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย และในพื้นที่อื่นๆ ของรัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ รัฐอานธรประเทศ และรัฐมหาราษฏระในอินเดียเท่านั้น
 
หากในพื้นที่ภาคตะวันออกของศรีลังกาและในกรุงโคลัมโบเองก็มีการใช้ภาษาทมิฬอย่างแพร่หลาย และได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาราชการของศรีลังการ่วมกับภาษาอังกฤษและสิงหล แม้จะมีประชากรชาวทมิฬในศรีลังกาเพียงร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศหรือประมาณ 2.3 ล้านคนก็ตาม
 
ขณะเดียวกันการอพยพของชาวทมิฬในช่วงสมัยอาณานิคม ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้พูดภาษาทมิฬกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชียไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ โดยในกรณีของสิงคโปร์ ภาษาทมิฬถือเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่งด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีชาวทมิฬจากทั้งอินเดียและศรีลังกาที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในยุโรป ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และตะวันออกกลางที่นำพาทั้งวัฒนธรรมประเพณีและภาษาทมิฬให้แผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
 
แม้ภาษาและวัฒนธรรมทมิฬจะจำเริญต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับได้กว่า 2 พันปี แต่ภายใต้อคติทางชาติพันธุ์ทำให้ คำว่า “ทมิฬ” ถูกกระทำให้กลายเป็นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยได้รับการถ่ายทอดคติจากชาวสิงหลที่มาพร้อมกับคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ควบคู่กับพงศาวดารของศรีลังกา ที่ทำให้คำว่าทมิฬมีความหมายเชิงลบว่าด้วยความอำมหิต โหดร้ายและป่าเถื่อน ไปโดยปริยาย
 
บางทีบทเรียนว่าด้วยภาษา “ทมิฬ” อาจทำให้เราต้องหันกลับมาพิจารณารากและอคติที่เกาะกุมสังคมก่อนการก้าวเดินไปข้างหน้าครั้งใหม่นะคะ