เชลล์ เปิดตัวรถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์คันล่าสุด ที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้น้ำมันน้อยกว่าที่รถอีโค่คาร์ของไทยใช้เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้นหากมีการนำมาผลิตให้สามารถใช้ได้จริง รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ดังกล่าวจะสร้างความแตกต่างให้กับแวดวงยานยนต์ได้อย่างมากในเรื่องของการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยรถยนต์สามที่นั่งรุ่นนี้ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีกระบวนการการออกแบบทางวิศวกรรมร่วมกัน (co-engineering) ทั้งในส่วนของชิ้นส่วนยานพาหนะ ตัวเครื่องยนต์ และน้ำมันเครื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการค้นคว้าวิจัยเพื่อปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยการออกแบบร่วมกันตั้งแต่ต้นนั้น สามารถทำได้ และให้ผลสำเร็จที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย
ผลการทดสอบอิสระและการศึกษาอายุการใช้งานของรถต้นแบบนี้กับรถทั่วไปในสหราชอาณาจักรพบว่ารถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์ จะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงหลักถึงร้อยละ 34 ตลอดอายุการใช้งานเมื่อเทียบกับรถยนต์ซิตี้คาร์ทั่วไป และรถยนต์คันนี้จะใช้พลังงานเพียงครึ่งหนึ่งของพลังงานที่รถขนาดครอบครัวต้องใช้ในการวิ่งบนท้องถนน และใช้พลังงานน้อยกว่ารถเอสยูวี ถึงร้อยละ 69
รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์คันนี้เป็นการนำเอารถ T.25 ของกอร์ดอน เมอร์เรย์ ดีไซน์ มาต่อยอดทางความคิดใหม่ออกไปอีก โดยรถ T.25 นี้ถูกผลิตขึ้นในปี 2553 และเป็นนวัตกรรมยานยนต์ของเมืองแห่งอนาคตในขณะนั้น สำหรับการได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานน้อยลงในครั้งนี้ เชลล์มีบทบาทในฐานะผู้ผลิตน้ำมันต้นแบบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรถ โดยคอนเซ็ปต์คาร์รุ่นใหม่นี้ เกิดขึ้นจากการออกแบบร่วมกันด้านวิศวกรรม (co-engineering) ระหว่างผู้ออกแบบรถยนต์ เครื่องยนต์ และน้ำมันเครื่องชั้นนำของโลก เพื่อให้การทำงานของส่วนที่สำคัญทั้งสามส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งกว่าที่จะสำเร็จได้นั้นผู้พัฒนาจำเป็นต้องมองให้เห็นถึงภาพของการลดการใช้พลังงานแบบองค์รวม โดยมุ่งเน้นการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ลดขนาดของตัวรถเพื่อลดการใช้พลังงานลง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านการออกแบบเครื่องยนต์ และพัฒนาสูตรของน้ำมันเครื่องเพื่อช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้มากที่สุดตลอดอายุการใช้งาน
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์คันนี้ถูกวัดโดยข้อบังคับที่เกี่ยวกับการทดสอบยานยนต์หลากหลายวิธี ซึ่งครอบคลุมทั้งแบบขับโดยใช้ความเร็วคงที่และการขับขี่ในเมือง ผลการทดสอบตัวอย่างพบว่า เมื่อขับที่ความเร็วคงที่ 45 ไมล์ หรือ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานจะอยู่ที่ 107 ไมล์ ต่อ 1 แกลลอน (38 กม./ลิตร หรือ 89.1 ไมล์/ยูเอสแกลลอน) หรือคิดเป็น 2.64 ลิตร/100 กม. เมื่อเทียบกับมาตรฐานข้อกำหนดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถอีโค่คาร์ในประเทศไทย ซึ่งกำหนดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันไว้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ลิตร/100 กม. แล้ว ถือว่าคอนเซ็ปต์คาร์รุ่นนี้ทำได้ดีกว่ามากทีเดียว นอกจากนี้อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถรุ่นนี้ยังอยู่ในระดับที่ดีขึ้นอีกด้วย เมื่อเทียบกับมาตรฐานการวัดค่าไอเสียและอัตราสิ้นเปลืองในการขับขี่ของยุโรป (New European Driving Cycle (NEDC)) โดยเปลี่ยนแปลงถึง 4.67 กรัม/กม. ซึ่งเป็นผลจากการใช้น้ำมันเครื่องที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ หรือพูดได้ว่า ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องเกรดมาตรฐานทั่วไป
มาร์ค เกนส์โบรห์ รองประธานกรรมการบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ กล่าวว่า “นี่เป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวิศวกรรมยานยนต์ ผมภูมิใจมากกับความสำเร็จครั้งนี้ของนักวิทยาศาสตร์เชลล์และพันธมิตรจาก จีโอ เทคโนโลยี และ กอร์ดอน เมอร์เรย์ ดีไซน์ ข้อมูลเชิงลึกที่เราได้จากโครงการนี้สามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อช่วยแก้ปัญหาการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้การใช้พลังงานและปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาสำคัญของสังคม โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า หากมีการนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในปัจจุบันมาใช้ ซึ่งรวมถึงศาสตร์ด้านน้ำมันเครื่องที่ล้ำสมัย เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นอกจากนี้ประโยชน์ในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากการออกแบบร่วมกันของเครื่องยนต์และน้ำมันเครื่องครั้งนี้ยังเป็นที่น่าประทับใจ และเน้นให้เห็นถึงข้อดีมากมายที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพันธมิตรในโครงการนี้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าน้ำมันเครื่องมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยทำให้ไปถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย”
รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์ ผ่านการทดสอบอิสระร่วมกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ณ ศูนย์ทดสอบที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของสหราชอาณาจักร ภายใต้รูปแบบการทดสอบแบบเดียวกัน เพื่อวัดอัตราการประหยัดน้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการทดสอบ NEDC รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าทั้งรถซิตี้คาร์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง (28%) และรุ่นไฮบริด (32%)
ในการคิดค้นครั้งนี้ เชลล์ เป็นผู้จัดเตรียมน้ำมันทั้งหมดที่ต้องใช้กับรถยนต์ รวมถึงออกแบบน้ำมันเครื่องให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมให้กับรถยนต์ และลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ทีมงานด้านเทคโนโลยีน้ำมันเครื่องของเชลล์ได้ผลิตน้ำมันเครื่องขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยใช้ต้นแบบจากเชลล์ เฮลิกส์ อัลตร้า ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เกรดพรีเมี่ยมที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีเพียวพลัส ขณะเดียวกัน ทีมงานของ โอซามุ โกโต จากจีโอ เทคโนโลยี ยังได้พัฒนาเครื่องยนต์แบบ 3 กระบอกสูบ ซึ่งเป็นการออกแบบใหม่และปรับปรุงส่วนประกอบเครื่องยนต์ภายในหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับการเสียดทาน โดยในการทดสอบ NEDC ภายใต้สภาพอากาศเย็น ของเหลวที่อยู่ในเครื่องยนต์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ร้อยละ 7.1 และในการทดสอบแบบผสม สามารถลดได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องเกรดปกติ** เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการออกแบบเครื่องยนต์และน้ำมันที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์แสดงถึงการพลิกโฉมของแนวคิดการผลิต โดยใช้ตรรกะในการออกแบบ พัฒนา และผลิตรถยนต์ ด้วยแพลตฟอร์ม iStream ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ของกอร์ดอน เมอร์เรย์ ดีไซน์ รถยนต์คันนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นเยี่ยม เพื่อให้ได้น้ำหนักเบา โดยรถทั้งคันมีน้ำหนักเพียง 550 กิโลกรัม และผลิตด้วยวัสดุที่ผ่านการเลือกเฟ้นอย่างดี โดยวัสดุเหล่านี้ก็ต้องถูกผลิตโดยขั้นตอนที่ใช้พลังงานน้อยและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำด้วย ประสบการณ์ของกอร์ดอน เมอร์เรย์ในการแข่งรถ ฟอร์มูล่า วัน (Formula One™) ยังถูกนำมาใช้ในการพัฒนารถยนต์ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน และเรื่องของความเบา ชิ้นส่วนจำนวนมากของรถยนต์คันนี้สร้างขึ้นจากการพิมพ์แบบสามมิติ (3D printing) เพื่อเร่งกระบวนการสร้างรถยนต์ต้นแบบให้เร็วขึ้น และยังใช้คาร์บอนไฟเบอร์แบบรีไซเคิลในส่วนของตัวรถ ซึ่งมีต้นทุนเพียง 1 ใน 4 ของรถยนต์ปกติที่ทำจากเหล็ก อีกทั้งตัวรถยนต์เกือบทั้งหมดยังสามารถนำมารีไซเคิลได้เมื่ออายุการใช้งานสิ้นสุดลง นอกจากนี้รถยนต์คันนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น ไดร์ฟแอพ (Drive App) เวอร์ชั่นอัพเดทของเชลล์ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์กับคนขับผ่านกราฟฟิคบนหน้าจอ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้น้ำมันนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนขับเป็นอย่างมาก
หากมองในมุมของการออกแบบ รถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเชลล์คันนี้มีความแปลกใหม่ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูสูงและแคบ แฝงความสนุกด้วยการวางตำแหน่งคนขับไว้ตรงกลางแบบสปอร์ต พร้อมที่นั่งผู้โดยสารสองที่ด้านหลัง ซึ่งถือเป็นการจัดที่นั่งแบบล้ำสมัย จึงสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึงสามคนแม้มองจากภายนอกจะดูมีขนาดเล็กมาก รวมทั้งยังทำให้วงเลี้ยวของรถแคบลงอีกด้วย โดยรถคันนี้สามารถเลี้ยวเป็นวงกลมภายในหน้าปัดหอนาฬิกาบิ๊กเบนได้เลย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในเมือง
ดร.แอนดรูว์ เฮเปอร์ รองประธานทีมวิจัยน้ำมันเครื่องของเชลล์กล่าวว่า “รถยนต์ของเราอาจมีขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยศักยภาพ เราต้องการให้มีการพูดถึงการสร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในอีกไม่นานนี้ เราก็ตั้งใจที่จะแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากการวิจัยในโครงการนี้ให้กับนักออกแบบเครื่องยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ในแวดวงรถยนต์ด้วยเช่นกัน”