ในห้วงยามที่ไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในปี ค.ศ. 2020 โดยเน้นไปที่กระทรวงคมนาคม ที่มุ่งหวังให้เกิดศักยภาพด้านการคมนาคมภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างเส้นทางโลจิสติกเพื่อเชื่อมประสานไทยกับประเทศอื่นๆ ด้วยเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีเป้าประสงค์จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ทั้งนี้โครงการที่นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงคมนาคมและสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง คือโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ถนนทางหลวง ถนนทางหลวงชนบท
นโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกมาดูเหมือนว่าการให้น้ำหนักของรัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามาบริหารประเทศจะมุ่งเน้นไปที่การขนส่งระบบราง ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และคาดหวังให้ประชาชนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งคงเป็นไปได้ยากเมื่อในบางพื้นที่การขนส่งระบบรางไม่มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนจำต้องใช้บริการรถรับจ้างเอกชน นำมาซึ่งภาระค่าครองชีพที่มากขึ้น
กระนั้นการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นทำให้คาดหวังถึงผลสำเร็จที่จะตามมาในไม่ช้าไม่นาน ซึ่งหากกำหนดการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดในปี พ.ศ. 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะย้ายการเดินรถจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางบางซื่อ
ทั้งนี้มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าภายในปี พ.ศ. 2563 จะใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นชุมทางรถไฟหลักแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งจะทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีที่มีรถไฟ 4 ระบบ ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และรถไฟใต้ดิน
ซึ่งจะทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพมีขบวนรถไฟที่วิ่งเข้ามาน้อยลงไปประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเหลือเฉพาะรถไฟดีเซลท่องเที่ยว และรถไฟที่มาจากชานเมืองอย่างรถไฟสายใต้จากแม่กลอง-นครปฐม ทั้งนี้ในปัจจุบันสถานีรถไฟกรุงเทพรองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน ทั้งจากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ และแม้ว่าปัจจุบันสถานีรถไฟกรุงเทพจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยายใหม่ก็ตาม หากแต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ สถานีรถไฟกรุงเทพจะถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว
ทุกๆ การเดินทางมีเรื่องราว และการเดินทางโดยรถไฟมักเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต้องการซึมซับเสน่ห์และเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านหน้าต่างตู้รถไฟ เฉกเช่นเดียวกับที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่ใครหลายคนมักเรียกกันติดปากว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง อุดมไปด้วยเรื่องราวกระทั่งปีนี้ครบรอบ 100 ปี
กิจการรถไฟได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่มีระยะทางวิ่งเพียง 21 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึง สมุทรปราการ หลังจากนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้น และในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระองค์จึงเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-อยุธยา และได้ถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟหลวง
สถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศและเป็นสถานีเก่าแก่ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2453 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเข้าสู่สถานี
สำหรับสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟกรุงเทพนั้นได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ ลักษณะของสถานีเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแนวเรอเนสซองซ์ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
ในช่วงแรกของการเดินรถไฟ ยังไม่มีการวิ่งรถในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แม้ว่าในระยะหลังจะมีการเพิ่มรอบเดินรถในเวลากลางคืน แต่ก็ยังเดินรถแบบวันเว้นวัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดธุรกิจโรงแรมตามรายทางรถไฟตามมา
กาลเวลาได้นำพาเอาความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามา แม้จะเป็นข้อดีที่ทำให้เกิดการพัฒนา ขณะเดียวกันความเจริญก็สร้างประวัติศาสตร์และเรื่องราวแห่งความหลังเอาไว้มากมายเช่นกัน
อย่างกรณีของโรงแรมริมทางรถไฟที่เปิดให้บริการในยุคที่มีการเดินรถไฟในเวลากลางคืนแบบวันเว้นวัน ซึ่งทำให้ผู้โดยสารจำต้องพักค้างคืนเพื่อรอใช้บริการรถไฟในวันถัดไป แม้ว่าปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งจะปิดบริการไปแล้ว รวมไปถึงโรงแรมราชธานี ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานของตัวอาคารเพื่อประโยชน์อย่างอื่น จะมีก็เพียงโรงแรมที่หัวหิน แม้ในห้วงยามนี้ตัวโรงแรมจะยังอยู่และคงสภาพเดิม แต่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงแรมเซ็นทารา หัวหิน
การเดินทางผ่านอดีต เรียนรู้เรื่องราวและสั่งสมประสบการณ์ เพื่อทำให้ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด หากแต่นั่นก็อาจยังไม่ดีพอ กระนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนซึ่งอาจรวมไปถึงการสร้างรากฐานที่มั่นคงขึ้นกว่าอดีตเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น และสำหรับสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง แม้ว่าจะเห็นเค้าลางของความเป็นไปในอีก 3-4 ปีข้างหน้า หากแต่ยังไม่มีหน่วยงานใดฉายภาพแห่งอนาคตได้ชัดเจนนัก
เพราะปัจจุบันมีเพียงแผนการที่จะเปลี่ยนสถานีรถไฟกรุงเทพเป็นแหล่งท่องเที่ยว คล้ายกับสถานีรถไฟในต่างประเทศที่ปรับปรุงเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในบรรยากาศย้อนยุค แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกออกแบบมาในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มเอ็นจีโอ เพื่อจัดระเบียบคนด้อยโอกาส คนไร้บ้าน รวมไปถึงสุนัขและแมวจรที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
คงจะไม่ผิดนักหากจะมีใครตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของคนด้อยโอกาส ที่มักจะอาศัยใช้สถานีรถไฟกรุงเทพเป็นที่นอนในยามค่ำ ว่าก่อนหน้านี้ได้เคยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มกำลังแล้วหรือไม่ เหตุใดจึงละเลยจนเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยาก และปล่อยจนกระทั่งการรถไฟมีแผนจะปรับปรุงสถานีในวาระครบ 100 ปีเช่นนี้
ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยมุ่งหวังจะให้สถานีรถไฟกรุงเทพเป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยความมีระเบียบ สะอาด ปลอดภัย และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้การรถไฟ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนจะปรับปรุงสถานีรถไฟจิตรลดา เพื่อถวายการรับรองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟไปยังจังหวัดกาญจนบุรีด้วย
บนเนื้อที่ 120 ไร่ ของหัวลำโพง แม้จะมีความชุลมุนวุ่นวายทุกครั้งที่ขบวนรถไฟเทียบชานชาลา ไม่ว่าสถานีกรุงเทพจะเป็นต้นทางหรือปลายทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือช่วงไฮซีซันส์ ปีใหม่ สงกรานต์ กระแสการเดินทางของผู้คนที่เกิดขึ้นจนทำให้สถานีแห่งนี้ดูคับแคบลงไปถนัดตา หากแต่ก็อุดมไปด้วยเสน่ห์
เสียงฉึกฉัก ฉึกฉัก ที่ร้องตามเสียงของรถไฟในวัยเด็ก จนถึงวันนี้บางเรื่องราวยังคงอวลอยู่ในความทรงจำ รถไฟหัวลำโพงเป็นทั้งต้นทางและปลายทางสำหรับบางคน การเดินทางที่นำมาซึ่งการจากลา การพบกันใหม่ สำหรับบางคนคือความฝัน ความหวัง และจนถึงตอนนี้ 100 ปีผ่านมาสถานีรถไฟกรุงเทพยังคงทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งสำหรับคนไทยและผู้คนอีกหลากหลายเชื้อชาติ
สุดท้ายแล้วปลายทางของหัวลำโพงจะดำเนินไปในทิศทางใด เสน่ห์ของเรื่องราวจะยังถูกส่งต่อหรือถ่ายทอดออกมาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม