วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Recreation > From Paris > งานศิลป์สะสมของอองบร็วส โวลลารด์

งานศิลป์สะสมของอองบร็วส โวลลารด์

พิพิธภัณฑ์มาร์มอตตอง (Musée Marmottan) เป็นศูนย์รวมภาพเขียนของโคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) ซึ่งลูกชายคือมิเชล โมเนต์ (Michel Monet) มอบให้ Institut de France รวมทั้งภาพเขียนของจิตรกรผู้นี้ที่เอกชนอื่นๆ มอบให้ ที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Musée de l’Orangerie) มีภาพชุดดอกบัวขนาดใหญ่ Les nymphéas ของโคล้ด โมเนต์ ซึ่งเจ้าตัวมอบให้รัฐในโอกาสที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง นอกจากนั้นยังมีคอลเลกชั่นภาพเขียนซึ่งปอล กีโยม (Paul Guillaume) พ่อค้างานศิลป์ได้มอบให้แก่รัฐ แม้อาจจะเป็นวิธีหนึ่งในการลดหย่อนภาษี หากผู้ได้ประโยชน์คือประชาชนทั่วไปที่สนใจศิลปะ

 

ในบรรดาพ่อค้างานศิลป์ ผู้หนึ่งซึ่งเป็นข่าวอยู่เสมอคือ อองบร็วส โวลลารด์ (Ambroise Vollard) ด้วยมีสายตาแหลมคมเกี่ยวกับศิลปะ

 

อองบร็วส โวลลารด์เกิดในปี 1866 ที่เกาะลา เรอูนิอง (La Réunion) จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส เดินทางมาศึกษาที่มงต์เปลลีเอร์ (Montpellier) และจบกฎหมายที่ปารีส ความชื่นชอบศิลปะทำให้เขาเปิดอาร์ตแกเลอรีที่ปารีสในปี 1893 เขาเป็นผู้ค้นพบจิตรกรใหม่ๆ อาทิ ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) อองรี มาติส (Henri Matisse) ปอล โกแกง (Paul Gauguin) ปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) เอดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เอดูอารด์ วุยยารด์ (Edouard Vuillard) โอดิลง เรอดง (Odilon Redon) จิตรกรกลุ่มโฟวิสต์ (fauviste) อย่างอองเดร เดอแรง (André Derain) โมริซ เดอ วลาแมงค์ (Maurice de Vlaminck) หรือกลุ่มนาบิ (Nabi) อย่างปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) อาร์ตแกเลอรีของอองบร็วส โวลลารด์จึงเป็นจุดหมายปลายทางของผู้รักศิลปะจากทุกมุมโลก เขาเป็นคนแรกที่จัดนิทรรศการภาพเขียนของปาโบล ปิกัสโซ

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อองบร็วส โวลลารด์หอบผลงานที่เขาสะสมไว้ไปยังโซมูร์ (Saumur) กว่าที่เขาจะเดินทางกลับปารีสเพื่อเปิดแกเลอรีอีกก็ในปี 1919 เขาหันมาสนใจเขียนหนังสือและมีผลงานพิมพ์หลายเล่ม

 

ในปี 1928 ไอริช สโลโมวิช (Eirich Slomovic) เด็กหนุ่มชาวยิวในยูโกสลาเวียได้อ่านหนังสือภาพเขียนของปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ ซึ่งบรรยายโดยอองบร็วส โวลลารด์ เขาประทับใจมาก จึงเขียนจดหมายถึงอองบร็วส โวลลารด์เพื่อบอกว่าเขาอยากเป็นพ่อค้างานศิลป์เมื่อโตขึ้น ขณะนั้นไอริช สโลโมวิชอายุ 13 ขวบ ในขณะที่อองบร็วส โวลลารด์อายุ 62 ปี เขาจึงเขียนตอบไปว่า ให้เอาใจใส่การเรียนและใฝ่หาความรู้ เมื่อโตขึ้นและมีโอกาสเดินทางมาปารีส เขาพร้อมที่จะให้พบ

 

7 ปีต่อมาไอริช สโลโมวิปรากฏตัวที่อาร์ตแกลเลอรีของอองบร็วส โวลลารด์ วันนั้นอองรี มาติสอยู่ด้วย อองบร็วส โวลลารด์จึงนำภาพเขียนรูปแล้วรูปเล่าให้ไอริช สโลโมวิชดูและถามความเห็น หนุ่มน้อยตอบได้ฉาดฉาน จึงได้ทำงานกับอองบร็วส โวลลารด์จนฝ่ายหลังถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1939 ระยะเวลา 5 ปีเพียงพอที่จะให้ไอริช สโลโมวิชรู้จักจิตรกรดังในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นมาร์ก ชากาล (Marc Chagall) อองรี มาติส (Henri Matisse) ปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) อริสตีด ไมยอล (Aristide Maillol)

 

อองบร็วส โวลลารด์ไม่มีลูก งานศิลป์ที่เขาสะสมไว้ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 5-6,000 ภาพ จึงกระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ ไอริช สโลโมวิชนำภาพเขียน 140 ภาพฝากในตู้นิรภัยของธนาคารโซซิเอเต เจเนรัล (Société Générale) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุ ไอริช สโลโมวิชและเจ้าหน้าที่สถานทูตยูโกสลาเวียเดินทางกลับเบลเกรด (Belgrade) ในปลายปี 1939 พร้อมด้วยภาพสีน้ำมันของปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ 48 ภาพ เอดการ์ เดอกาส์ 29ภาพ โมริซ เดอ วลาแมงค์ 12 ภาพ ปิแอร์ บอนนารด์ 11 ภาพ โอดิลง เรอดง (Odilon Redon) 11 ภาพ ภาพสีน้ำของปอล เซซานน์ ปอล โกแกง ปาโบล ปิกัสโซ มาร์ก ชากาล รูปปั้นบรอนซ์ของอริสตีด ไมยอล รวมทั้งหมด 429 ชิ้นด้วยกัน ไอริช สโลโมวิชนำผลงานเหล่านี้ไปแสดงที่ซาเกรบ (Zagreb) ในเดือนเมษายน 1941 เมื่อเยอรมันเข้ายึดครองเมืองเบลเกรด ไอริช สโลโมวิชและครอบครัวจึงอพยพหนีภัยไปยังบาซีนา (Bacina) ก่อกำแพงซุกซ่อนภาพเขียนอันล้ำค่าจากการคุกคามของเยอรมัน ทว่าครอบครัวสโลโมวิชไม่พ้นภัยนาซี สมาชิกผู้ชายอันมีไอริช พ่อและพี่ชายถูกจับส่งตัวไปค่ายกักกันในปี 1942 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่ของไอริช สโลโมวิชและลูกอีก 2 คนเดินทางโดยรถไฟกลับกรุงเบลเกรด หากเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถบรรทุกทหาร ทั้งสามเสียชีวิต เหลือแต่ญาติอีก 1 คนชื่อ มารา (Mara) เธอนำกล่องใส่ภาพเขียนทั้งหมดไว้ที่บ้านญาติและเดินทางไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในเมืองอื่น และแล้วตำรวจไปหาเธอเพื่อถามหาภาพเขียนที่แม่ของไอริช สโลโมวิชสัญญากับอิวาน ริบาร์ (Ivan Ribar) ซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีหลังสงคราม ว่าจะมอบให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของยูโกสลาเวียจึงได้รับภาพเขียน 356 ภาพ ขาดหายไปประมาณ 80 ภาพซึ่งไม่ทราบว่าผู้มีอำนาจคนใดเม้มไว้ หรือไอริช สโลโมวิชได้ขายไป

 

ในปี 1957 ญาติข้างแม่ของไอริช สโลโมวิชฟ้องศาลอ้างสิทธิในภาพเขียนดังกล่าว หากศาลถือว่าผลงานเหล่านี้ถูก “ละทิ้ง” จึงตกเป็นสมบัติของรัฐโดยอัตโนมัติ

 

ไม่มีใครรู้ว่ามีภาพเขียนซึ่งอองบร็วส โวลลารด์สะสมในตู้นิรภัยของธนาคารโซซิเอเต เจเนรัล ธนาคารรอหลายสิบปีให้เจ้าของมาแสดงตัว หากก็ผิดหวัง จึงดำเนินการเปิดตู้นิรภัยนี้ในปี 1948 พบภาพเขียนที่มองแล้วไร้ค่า จึงปิดตู้ไป ในปี 1980 จึงเปิดเป็นครั้งที่สอง หมายใจนำออกขายประมูลเพื่อนำเงินมาชดเชยเป็นค่าเช่าที่ไม่ได้จ่ายตลอดระยะเวลานั้น ประเมินราคาไว้ประมาณ 5 ล้านฟรังก์ ทว่าการประมูลต้องยกเลิกไป เพราะพลันที่แค็ตตาล็อกภาพเขียนเหล่านี้แพร่ออกไป ครอบครัวโวลลารด์ได้ยื่นศาลอ้างสิทธิในงานศิลป์เหล่านี้ ในทำนองเดียวกัน ครอบครัวสโลโมวิชก็อ้างสิทธิเช่นกัน เป็นคดีความยาวนานถึง 15 ปี ในที่สุดในปี 1996 ศาลฎีกาตัดสินให้ครอบครัวโวลลารด์เป็นผู้มีสิทธิในงานศิลป์สะสมของอองบร็วส โวลลารด์ จึงเป็นที่มาของการนำออกประมูลขายในเดือนมิถุนายน 2010

 

ในบรรดางานศิลป์เหล่านี้มีภาพของปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ 14 ภาพ ภาพ Arbres à Collioure ของอองเดร เดอแรง (André Derain) ภาพพอร์เทรตของเอมิล โซลา (Emile Zola) นักเขียนดังของฝรั่งเศสซึ่งปอล เซซานน์เป็นผู้วาด ภาพโอโตพอร์เทรต (autoportrait) ของปิแอร์โอกุสต์ เรอนัวร์ ซึ่งเซ็นมอบให้อองบร็วส โวลลารด์ ภาพ La fête de la patronne ของเอดการ์ เดอกาส์ ภาพ Baigneuses ของปาโบล ปิกัสโซ ภาพ Guitariste ของอองรี มาติส รวมทั้งภาพเขียนของปิแอร์ บอนนารด์ ปอล โกแกง โมริซ อูทริโย (Maurice Utrillo) ฌอง กอกโต (Jean Cocteau) ซึ่งมอบให้ไอริช สโลโมวิช 12 ภาพ ภาพพิมพ์และต้นฉบับลายมือเขียน

 

ในปี 2007 พิพิธภัณฑ์แห่งออร์เซย์ (Musée d’Orsay) นำงานศิลป์ที่อองบร็วส โวลลารด์สะสม 170 ภาพมาจัดนิทรรศการ De Cézanne à Picasso: chefs-d’œuvre de la galerie Vollard

 

อยากจะคิดว่าอองบร็วส โวลลารด์เป็นพ่อค้างานศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด