สกว. ยกทีมวิจัยหารือภาคเอกชนเพื่อนำผลงานวิจัย สกว. มาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายทั้งด้านการเกษตร ท่องเที่ยว และระบบการขนส่ง หวังหาจุดเด่นในพื้นที่มาสร้าง “แบรนด์เชียงราย” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการประชารัฐและภาควิชาการ
ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานสภาหอการค้าจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมร่วมเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัย (คอบช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสภาหอการค้าจังหวัดเชียงราย เรื่อง “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย” ณ ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดเชียงราย เพื่อหารือร่วมกันถึงบทบาทของงานวิจัย สกว. ที่มีต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการ สกว. และผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ สกว. คือ ต้องการให้เชียงรายได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สกว.ได้รับทุนจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการมุ่งเป้าเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และคาดว่าจะมีข้อมูลจากงานวิจัยของชุดโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดเชียงรายได้
ขณะที่ ดร.อนุรัตน์ระบุว่าแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายจะมุ่งเน้น 3 เรื่องที่มีพื้นฐาน ได้แก่ (1) ด้านการเกษตรและการแปรรูป ซึ่งหลายฝ่ายให้การสนับสนุนเพราะเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่การบริหารจัดการน้ำยังเสียโอกาส ปล่อยทิ้งไปแบบเสียประโยชน์ ขณะที่ดินก็ดีมาก ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวเขี้ยวมูลเป็นเบอร์หนึ่งของไทย แต่หลังๆ เริ่มทิ้งไป ต้องการจะกลับมาฟื้นการผลิตอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรม
(2) ด้านการท่องเที่ยว เชียงรายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ อากาศดี ภูมิประเทศได้เปรียบ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัญหาคือมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืน เช่น ท่องเที่ยวดูงานในโครงการในพระราชดำริ ท่องเที่ยวชุมชน และต้องเสาะหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เชียงแสนซึ่งได้รับงบประมาณในการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปแล้ว
(3) ระบบการขนส่ง เชียงรายมีชายแดนติดพม่าและลาว รวมถึงเชื่อมโยงกับจีนในมณฑลยูนาน ซึ่งจีนมีความต้องการสินค้าไทยเพื่อการอุปโภคบริโภคเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยเป็นที่ต้องการสูงมาก เช่น ข้าวอินทรีย์ แต่ข้าวไทยที่ส่งออกเป็นกระสอบมักถูกปลอมปนใส่ในบรรจุภัณฑ์ใหม่แล้วอ้างว่าเป็นข้าวของไทย จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข
“บริบทของเชียงราย คือ การชูโรงจุดเด่นของจังหวัด แต่เรายังหาไม่เจอว่าถ้ามาเชียงรายแล้วต้องซื้ออะไร จึงต้องมาช่วยกันคิดให้เกิดเป็น “แบรนด์เชียงราย” ซึ่งเชื่อว่าโครงการประชารัฐจะสามารถตอบโจทย์และสร้างความยั่งยืนได้ เพราะมีความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงภาควิชาการที่จะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน กำหนดแนวทางในการพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ
ขณะที่นายพละวัต ตันศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เสริมว่าเป็นที่ชัดเจนว่าจุดยืนหลักของเชียงราย คือ เป็นจังหวัดการค้าชายแดนสำคัญของไทย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจากการมีทรัพยากรสำคัญๆ ศิลปินระดับชาติ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการเกษตร แต่ที่เป็นฐานรายได้หลักคือ เกษตร สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือจะเดินไปสู่สิ่งที่คาดหวังได้อย่างไร ภาคส่วนต่างๆ ต้องเป็นผู้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อน รวบรวมผลิตผลทางการเกษตรและแปรรูปขั้นต้นส่งไปยังส่วนกลาง แต่ปัจจุบันข้าวและข้าวโพดซึ่งพืชหลักมีการแปรรูปน้อยมาก ขณะที่การท่องเที่ยวเพิ่งเกิด จึงต้องวางแผนรับมือให้ดี ดังนั้นจึงควรพัฒนาสินค้าทางการเกษตรได้รับการแปรรูปมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและอุปโภคบริโภคให้ประเทศเพื่อนบ้าน ตนอยากให้มีสัดส่วนจีดีพีจากการท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะในระยะยาวอีก 10-20 ปีข้างหน้า คาดว่าลาวและพม่าจะแบ่งสัดส่วนจากภาคการเกษตรของไทยมากขึ้น เพราะมีผลิตภัณฑ์ออแกนิกจำนวนมาก
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้ประสานงาโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กล่าวว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูล ความจำเป็น และความต้องการของพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาสี่เหลี่ยมทองคำ อันได้แก่ เชียงใหม่และเชียงราย (ไทย) เชียงรุ้ง (จีน) เชียงตุง (พม่า) เชียงทองหรือหลวงพระบาง (ลาว) ทั้งนี้ตัวอย่างงานวิจัยด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายที่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมในมณฑลวัฒนธรรมสองฝั่งโขง” ซึ่งส่งเสริมให้พื้นที่ล้านนาตะวันออกเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรม โดยเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายที่ด่านชายแดนแม่สายเพื่อเชื่อมต่อไปยังเมืองเชียงตุง พม่า และที่ด่านชายแดนเชียงของเพื่อเชื่อมต่อไปยังแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว “แนวทางการพัฒนาพื้นที่ด่านชายแดนบ้านฮวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน” เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายกับพะเยาและแขวงไชยะบุรีของลาว และ “การพัฒนาศักยภาพล้านนาตะวันออกเพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง” โดยเชื่อมโยงจากด่านชายแดนแม่สายไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองสิงของพม่า และที่ด่านชายแดนเชียงของเชื่อมต่อไปยังแขวงบ่อแก้วของลาว
ด้าน ผศ. ดร.ปนัดดา กสิกิจวิวัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ระบุว่ากรอบการกำหนดรูปแบบกิจการเป้าหมายของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนควรเชื่อมโยงและไม่ซ้ำซ้อนกับธุรกิจภายนอกพื้นที่ และมีวัตถุประสงค์ก้าวไกลกว่าแผนพัฒนาจังหวัด โดยรูปแบบที่เสนอแนะ ได้แก่
1. การค้า (ส่งเสริมความสามารถในการสร้างมูลค่าในทางธุรกิจ โดยการเปิดประตูการค้า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งอาเซียน โดยมีอี้อูของจีนเป็นต้นแบบตลาดระดับภูมิภาค และเมืองสินค้าเบ็ดเตล็ดของโลก)
2. การท่องเที่ยวด้านศูนย์การเรียนรู้และวัฒนธรรมอาเซียน (การผลิตและเผยแพร่สินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรม โดยมีสาระสำคัญคือ ประชาคมอาเซียนและพันธกรณี อีกทั้งใช้การท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21 เป็นกรอบในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องตระหนักในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะมีผลกระทบต่อชุมชน ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมของเจ้าบ้านและผู้มาเยือนต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว)
3. การผลิตอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ (นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขามาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ดังตัวอย่างตลาดสุขใจและสวามพรานโมเดล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยของ สกว.