วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ศึกออนไลน์แข่งเดือด “ซีพี-เซ็นทรัล” ชิง 2 ล้านล้าน

ศึกออนไลน์แข่งเดือด “ซีพี-เซ็นทรัล” ชิง 2 ล้านล้าน

 
 
ตลาดค้าปลีกออนไลน์กลายเป็นสมรภูมิดุเดือดยิ่งขึ้น ทั้งมูลค่าเม็ดเงินที่คาดว่าจะพุ่งทะลุ 2.1 ล้านล้านบาท และผู้เล่นที่เข้ามาเปิดเกมรุกล่าสุด ทุกค่ายล้วนเป็นยักษ์ค้าปลีก โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มเซ็นทรัลที่ประกาศต่อยอดขยายจากแนวรบในประเทศไทยสู่สงครามอาเซียนด้วย
 
ถ้าดูตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเมื่อปี 2558 เกือบๆ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.65% จากปี 2557 ที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นอีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจด้วยกัน (B2B) ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท, ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) 4.7 แสนล้านบาท และระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) 4 แสนล้านบาท โดยการใช้จ่ายอีคอมเมิร์ซของ B2C กับ B2G เพิ่มขึ้น 15.2% และ 3.9% ตามลำดับ ยกเว้น B2B ที่ปรับตัวลดลง 
 
ที่สำคัญตัวเลข 2 ล้านล้านบาทเมื่อปีก่อนสามารถเติบโตมากกว่านั้น หากไม่เจอสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเติบโตไม่หยุด
 
ขณะที่ผลวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) โดยบริษัทกันตาร์ เวิลด์พาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ความถี่ในการออกไปจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ ไตรมาสแรกปี 2559 เทียบช่วงเดียวกันของปี 2557 กลับลดลงต่อเนื่อง โดยกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตมียอดความถี่จาก 27 ครั้งลดลงเหลือ 21 ครั้ง ร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์ จาก 37 ครั้ง เหลือ 36 ครั้ง และช่องทางร้านค้าโชวห่วยจาก 133 เหลือ 127 ครั้ง  
 
สาเหตุหลักเกิดจากกำลังซื้อที่ลดลงและการลดการเดินทางเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยหันมาใช้ช่องทาง “ชอปปิ้งออนไลน์” มากขึ้น นั่นส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกกระโดดมาเล่นกลยุทธ์กระตุ้นการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นกลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็วและเกาะติดทุกช่วงเวลาตามฐานการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ 
 
หากเปรียบเทียบกลุ่มค้าปลีกทุกเจ้าต้องถือว่า “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีข้อได้เปรียบในแง่เครือข่ายจุดจำหน่าย เพราะมีสาขารองรับการกระจายสินค้ามากกว่า 8,000 แห่ง และตั้งเป้าจะขยายสาขาครบ 10,000 แห่งในปี 2561 ซึ่งเอื้อต่อการรุกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 
 
ล่าสุด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) สั่งยกเครื่องกลุ่มธุรกิจ “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง” พร้อมปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ เปลี่ยนโลโก้เลข 7 เป็น 24 เพื่อตอกย้ำการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซตลอด 24 ชั่วโมงและรุกขยายช่องทางจำหน่ายทั้ง On ground, Online, On air รอบด้าน 360 องศา ทั้งสินค้าที่จำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สินค้ากลุ่มเอสเอ็มอีและสินค้าที่เน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงการส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเออีซี
 
ทั้ง 3 ช่องทางของทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง On ground ได้แก่ การจำหน่ายสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและผ่านแค็ตตาล็อก ซึ่งขณะนี้มียอดพิมพ์แจกลูกค้ามากกว่า 450,000 เล่ม นอกจากนี้ เริ่มเปิดตลาดอาเซียน โดยร่วมกับกลุ่มทุนท้องถิ่นในประเทศลาว ส่งสินค้าไปจำหน่ายในร้าน “ถูกดีแท้” ที่นครเวียงจันทน์ รวมทั้งกำลังเจรจาหาพันธมิตรอีกหลายราย 
 
สำหรับช่องทาง Online ได้แก่ การจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ 4 เว็บไซต์ คือ www.shopat24.com, www.24catalog.com, www.amule24.com และ www.taiwang24.com รวมถึงโมบายแอพพลิเคชั่นและโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ โดย taiwang.com เน้นเจาะตลาดลูกค้าชาวจีนร่วมกับโมบายแอพพลิเคชั่น wechat
 
ส่วน On air ได้แก่ ช่องทางทีวีช้อปปิ้ง ทรูซีเลคท์ ซึ่งทรูวิชั่นส์จับมือกับกลุ่มเกาหลี และการขายผ่านคอลเซ็นเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง 
 
อำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ในกลุ่มซีพี ออลล์ กล่าวว่า ช่วงปี 2559-2561 บริษัทวางแผนลงทุนด้านซอฟต์แวร์ โดยใช้งบเบื้องต้น 400 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รองรับการขยายช่องทางจำหน่าย ทั้งในและต่างประเทศ การจัดระบบสินค้าจากผู้ผลิตรายใหญ่และกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากกว่า 25,000 รายการ จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,500 ราย ซึ่งคาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 28,000 รายการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 2,200 ราย 
         
ขณะเดียวกัน วางเครือข่ายการกระจายสินค้าจากคลังสินค้าใหญ่ใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี สู่ศูนย์กลางคลังสินค้าสำหรับพักสินค้าก่อนส่งต่อในจังหวัดใหญ่ 5 แห่ง ประกอบด้วย ศรีราชา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ตาก และนครราชสีมา โดยมีเครือข่ายร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาใหญ่ 36 สาขา รองรับสินค้ากลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กและมีร้านเซเว่นฯ ขนาดกลางกระจายสินค้าต่อไปยังร้านสาขาอื่นๆ จนถึงมือลูกค้า
 
ปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดคลังสินค้าขนาดใหญ่อีกแห่งทางภาคใต้ โดยกำลังศึกษาทำเลใน จ.สุราษฎร์ธานีหรือชุมพร
 
อย่างไรก็ตาม การยกเครื่องครั้งใหญ่ของกลุ่มซีพียังเน้นจับตลาดผู้บริโภคระดับกลางถึงรากหญ้าทั่วประเทศ ราคาสินค้าไม่แพง เน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ต่างจาก “เซ็นทรัล” เพราะเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ ทั้งซีโอแอล เซ็นทรัลออนไลน์ และซาโลร่า (Zalora) ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการในประเทศไทยเข้ามาอยู่ในเครือ เน้นเจาะตลาดระดับกลางถึงบน เน้นสินค้าแนวแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ทั้งที่จำหน่ายในห้างเซ็นทรัลและกลุ่มเอสเอ็มอี  
 
พรชนก ตันสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจออนไลน์ บริษัท ซีโอแอล จำกัด กล่าวว่า ซาโลร่าถือเป็นออนไลน์แฟชั่นยอดนิยมอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ หนุ่มสาวออฟฟิศ และมีจุดแข็งด้านการเป็นศูนย์รวมแฟชั่นแบรนด์ไทย แบรนด์ดังระดับโลกที่อัพเดทเทรนด์ตลอดเวลา สินค้าและไอเทมหลากหลายกว่า 80,000 รายการ 
 
การซื้อกิจการซาโลร่าทำให้เซ็นทรัลได้ฐานข้อมูลของกลุ่มลูกค้าออนไลน์และซัปพลายเออร์ ซึ่งทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด คาดว่าสามารถผลักดันยอดขายของเซ็นทรัลออนไลน์โตทันที 2 เท่า
 
ทั้งซีพีและเซ็นทรัลจึงมีเป้าหมายเดียวกัน คือช่วงชิงเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มยอดขายสู้วิกฤตค้าปลีก ไม่ต่างกับ “เทสโก้โลตัส” ที่กำลังซุ่มกลยุทธ์รุกธุรกิจออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “ลาซาด้า” ที่ได้ทุนใหม่ “อาลีบาบา” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีน 
 
สงครามค้าปลีกจาก On ground สู่ Online เดือดแน่