ในห้วงเวลานี้สังคมไทยบางส่วนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่รู้จักบุคคลหรือองค์กรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ซึ่งผลงานโดดเด่นที่ปรากฏให้เห็นอยู่บนแหล่งประวัติศาสตร์อย่างถนนราชดำเนิน คือนิทรรศน์รัตนโกสินทร์และพิพิธบางลำพู คงจะอธิบายความหมายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ TK Park ที่นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอกเสมือนการจุดพลุที่ทำให้ใครหลายคนได้รู้จักกับบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และผู้บริหารนักคิดอย่าง “อุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ”
ครั้งหนึ่ง “ผู้จัดการ 360 ํ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับอุปถัมภ์ถึงแนวความคิดในฐานะของนักย่อยสาร ที่ต้องทำการบ้านเมื่อได้รับโจทย์จากเจ้าของโครงการต่างๆ ที่มีเพียง Conceptual หรือ Content ซึ่งทั้งผู้บริหารและทีมงานไร้ท์แมนจะต้องทำความเข้าใจโจทย์ที่ได้รับ และ Creative รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา และเลือกใช้เครื่องมือที่จะช่วยในการสื่อสาร
ทั้งนี้เทคโนโลยีที่ไร้ท์แมนเลือกใช้คือ Interactive รวมไปถึง Multimedia อื่นๆ ที่จะสะท้อนเรื่องราวไปสู่ผู้เข้าชมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของศูนย์การเรียนรู้นั้นๆ ซึ่งขั้นตอนการทำงานเริ่มตั้งแต่การจัดการที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งแต่ตีความเนื้อหา นำเสนอ และบริการหลังการขาย ที่ไร้ท์แมนมักจะเสนอตัวเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ การอบรมเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการการันตีรายได้
ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ อาจกลายเป็นภาพจำของไร้ท์แมน ในฐานะนักคิด นักแปลสาร หากแต่ในเวลานี้คงไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไปเมื่ออุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ ผุดไอเดียใหม่อย่างการสร้าง Theme Park โดยเล่าเรื่องราวที่มีความคลาสสิกอย่างไดโนเสาร์ ซึ่งเปิดเผยให้เห็นไปแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
จากการเป็นเพียง Creative สู่การเป็นผู้สร้าง Content อุปถัมภ์บอกเล่าแนวความคิดที่ตกผลึกแล้วให้ฟังว่า “เราอยากทำ Theme Park หรือ Traveling Park ที่จะสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งได้ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หรือประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญคือจะต้องตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ด้วย และเรามองว่าหากจะสร้าง Theme Park ที่ดีควรจะเป็นเรื่อง Top Hit ที่มีความคลาสสิกในตัว ควรจะเป็นเรื่องที่มีความเป็น Universal เช่นเรื่องราวของอวกาศ เรื่องของไดโนเสาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องราวที่มีข้อเท็จจริง สุดท้ายเราก็หยุดที่เรื่องไดโนเสาร์ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เราสามารถเติมแต่งจินตนาการให้น่าสนใจขึ้นได้ ด้วยการใส่เทคโนโลยีเพื่อทำให้ตัวไดโนเสาร์มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น”
แม้ว่าตอนนี้ผู้บริหารไร้ท์แมนจะขยับหน้าที่ของตัวเองจากเดิมที่ทำหน้าที่แปลสารที่ได้รับมาสู่การเป็น Content Provider แต่อุปถัมภ์เองเหมือนจะรู้ข้อจำกัดของตัวเอง ทั้งในเรื่องของคอนเนกชั่นที่มีอยู่ซึ่งอาจจะไม่มากพอหากจะจับงานโปรดักชั่นที่ใหญ่และมีรายละเอียดเป็นเรื่องราวเสมือนโลกล้านปีแบบนี้
และเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดไป ไร้ท์แมนจึงต้องหาพันธมิตร “เราต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีคอนเนกชั่นกับบรรดาสื่อ และถนัดงานโปรดักชั่น ซึ่งบริษัทเฟรชแอร์กับไร้ท์แมนเคยร่วมงานกันเมื่อครั้งทำการแสดงละครเวทีพระมหาชนก ในส่วนของบริษัทเวิร์คพอยท์เคยร่วมกันทำ Milano Expo ด้วยกันที่อิตาลี พอเราเสนอโปรเจ็กต์นี้ผู้บริหารจากทั้งสองบริษัทต่างเห็นชอบและตกลงใจที่จะเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในโปรเจ็กต์นี้กับเราทันที ซึ่งนั่นทำให้เราต้องดำเนินการทันทีนับเป็นโปรเจ็กต์ที่รันงานกันเร็วมาก เวลาประมาณ 5 เดือน คือเราเริ่มคิดและทำไปพร้อมๆ กันประมาณปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน คือพอได้สถานที่เราก็ลงมือเลย”
หมุดหมายของ Dinosaur Planet คือการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เข้าชม ในขณะที่โครงการนี้ก็เป็นงานที่ต้องเปิดโลกและแนวคิดใหม่ให้กับไร้ท์แมนด้วยเช่นกัน เพราะจากการเป็นผู้ทำตามโจทย์ แม้ว่าจะคิดนอกกรอบได้แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ในข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่มี
“ผมมักจะบอกลูกน้องเสมอว่า เราต้องรู้สึกสนุกไปกับมัน เปิดจินตนาการให้คิดว่าไดโนเสาร์ยังอยู่ในโลกเรา ซึ่งแม้เรื่องราวของไดโนเสาร์จะเป็นเรื่องราวที่มีข้อเท็จจริง แต่สัตว์โลกดึกดำบรรพ์อย่างนี้ ไม่มีใครเคยเห็นตัวจริงๆ เราเพียงเห็นจากโครงซากของกระดูก และบวกกับข้อสันนิษฐานจากนักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเราสามารถเติมแต่งจินตนาการได้เพื่อให้สิ่งนี้สมจริงที่สุด”
ดูเหมือนว่าแนวความคิดนี้ดูจะตอกย้ำความคิดของผู้บริหารไร้ท์แมนได้เป็นอย่างดีว่าทุกๆ ครั้งที่ต้องสร้างสรรค์งาน งานนั้นๆ จะต้องมีความเป็น Identity ซึ่งการทำงานครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์ของใคร นอกจากโจทย์ของตัวเอง
ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ ผลงานของไร้ท์แมนที่ผ่านๆ มาทำให้ไร้ท์แมนอยู่ในฐานะของ Creative Provider แต่การเดินทางครั้งนี้ของอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ ทำให้ตัวเขาและบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กลายมาเป็น Creative-Content-Provider ซึ่ง CCP จะทำให้ขีดจำกัดบางอย่างที่เคยมีในฐานะผู้รับจ้างหมดไป
ทั้งนี้มูลค่าโดยรวมของนิทรรศการในไทย ทั้งที่เจ้าของโครงการคือองค์กรจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการประมาณตัวเลขอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่านั้นเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักเพียงอย่างเดียวคือการทำให้การสื่อสารที่ออกมานั้นได้ผลมากที่สุด ทำให้ผู้เข้าชมรับรู้และเข้าใจเนื้อหาโดยไม่เกิดอาการเบื่อหรือเดินหนีไปเสียก่อน
ชั่วโมงบินที่สั่งสมมาของอุปถัมถ์ ทำให้เราเห็นความคิดที่สามารถก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการผลิตผลงานชิ้นใหม่อย่าง Dinosaur Planet ที่อุปถัมภ์บอกว่า “นี่คือผลงานที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นงานที่เกิดจากความคิดของตัวเอง และหวังว่า Dinosaur Planet จะสามารถสร้าง Value ได้ด้วยตัวของมันเอง”
นับเป็นอีกก้าวย่างที่อุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ นำพาไร้ท์แมนไปสู่การเป็นหน่วยงานที่มี Unique และปัจจุบันลายเซ็นของไร้ท์แมนที่นับวันจะค่อยๆ แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น กระนั้นผู้บริหารนักคิดคนนี้ยังเน้นย้ำอีกว่า “การจะเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ที่ดี เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา”