ความเป็นไปของเขตบ้านย่านเมืองของกรุงเทพมหานครในห้วงยามที่กำลังจะเข้าสู่วาระแห่งการเฉลิมฉลอง 234 ปีของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนจะไม่มีย่านใดส่งผ่านและสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงได้ครึกโครมและเป็นประเด็นให้ต้องพิจารณาดั่งเช่นกรณีที่เกิดขึ้นบนถนนเจริญกรุงและถนนเจริญนคร สองเส้นทางสัญจรทางบกที่ทอดตัวยาวเป็นคู่ขนานกันและที่ขนาบข้างอยู่คนละฝั่งฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศด้วย
จากจุดเริ่มต้นในฐานะถนนที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบยุโรปสายแรกของสยามประเทศ ที่เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2404 หรือเมื่อกว่า 150 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับความทันสมัยและเป็นที่เชิดหน้าชูตาว่าสยามก็มีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยถนนสายใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นรวมระยะทางกว่า 8.5 กิโลเมตรในครั้งนั้น ได้รับการเรียกขานว่า New Road ก่อนที่จะได้รับพระราชทานนาม “เจริญกรุง” ในเวลาต่อมา
ความแออัดคับคั่งและการขยายตัวของชุมชนเมืองได้ส่งให้ตลอดเส้นทางของถนนเจริญกรุงอุดมด้วยเรื่องราวและสีสันหลากหลายให้ได้ร่วมพิจารณาและศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในบทบันทึกประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมแห่งนี้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งการมาถึงของถนนสายใหม่ ไล่เรียงมาสู่แนวเส้นทางของรถรางรอบเมืองในอดีต ได้ช่วยปรับแต่งและต่อเติมพัฒนาการของเขตบ้านย่านเมืองบนถนนเจริญกรุงให้ได้ก่อรูปและตกผลึกขึ้นอย่างช้าๆ เป็นผลกระทบที่ผู้คนในชุมชนต่างค่อยๆ ปรับตัวเพื่อก้าวย่างสู่บริบทใหม่
หากแต่การมาถึงของความเจริญก้าวหน้าครั้งใหม่ในนามของโครงข่ายการคมนาคมระบบรางที่กำลังแทรกตัวขึ้นมาในรูปแบบของรถไฟฟ้าใต้ดิน กำลังส่งผลในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเจริญกรุงด้วยอัตราเร่งอย่างที่ผู้คนในชุมชนไม่เคยเผชิญมาก่อน ขณะที่วิถีชีวิตและความเป็นไปในมิติของวัฒนธรรมกำลังจะถูกฉีกกระชากให้เหลือแต่ซากอดีตให้ได้จดจำและกล่าวถึง
การล่มสลายและผุพังลงของชุมชนเก่าเป็นภาพสะท้อนที่วิ่งสวนทางกับภาพประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาที่ดินครั้งใหม่ที่มีจำนวนไม่น้อยและผุดพรายขึ้นเข้ามาเบียดแทรกและแทนที่ ช่วยถมช่องว่างของการพัฒนาและความเจริญทันสมัยของเขตนี้ไปโดยปริยาย
“เจริญกรุง” อาจให้ภาพของการเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองและดำเนินไปท่ามกลางพลวัตทางธุรกิจที่หล่อเลี้ยงองคาพยพเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่อดีต และกำลังเดินหน้าเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาพื้นที่โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมกันนำเสนอ โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง (Co—Create Charoenkrung) ด้วย
วัตถุประสงค์ของโครงการที่ว่านี้ ได้รับการระบุว่า เป็นไปเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุง ซึ่งเคยเป็นย่านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในอดีต ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบของความเจริญทางธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทางกายภาพ จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านการจัดทำกิจกรรมออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับชุมชนย่านเจริญกรุง และใช้องค์ความรู้การออกแบบบริการ (Service Design) ในการค้นหาปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สอดคล้องกับชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ถึง มิถุนายน 2559
โครงการระยะสั้นที่มีลักษณะชั่วคราวเช่นนี้ ในด้านหนึ่งช่วยสะท้อนภาพความพยายามที่จะพัฒนาความทันสมัยให้สอดรับกับวิถีชุมชน แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ตอกย้ำความเป็นจริงว่าด้วยการพัฒนาเขตเมืองและชุมชนของสังคมไทยว่าให้คุณค่าความหมายและมีรูปการณ์จิตสำนึกว่าด้วยการพัฒนาและความเจริญอย่างไร
กรณีที่ว่านี้ ดูเหมือนผู้ประกอบการในอภิมหาโครงการอย่าง IconSiam ซึ่งกำลังจะเป็นโครงการที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ย่านเจริญนคร ถนนอีกสายหนึ่งที่ขนาบอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา พยายามหยิบนำมาเป็นประเด็นเพื่อทั้งสื่อสารสาธารณะในบทบาทภาพลักษณ์ของโครงการและพยายามหามิติที่สามารถสร้างความแปลกแตกต่างจากโครงการพัฒนาอื่นๆ อยู่เป็นระยะ
สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารของ IconSaim พยายามสื่อแสดงตลอดเวลาของการประชาสัมพันธ์โครงการอยู่ที่การเป็นเพื่อนบ้านที่ดี (good neighbor) ที่จะเติบโตไปในอนาคตพร้อมๆ กัน แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีชุมชนเดิมได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนที่ว่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การมาถึงของ IconSaim บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเปิดตัวโครงการมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทไปตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนและกระตุ้นให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในย่านเจริญนครดำเนินไปด้วยอัตราเร่งและความคึกคักอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจนถึงขณะปัจจุบันโครงการจะมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไม่มากนักก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจในกรณีของ IconSiam อีกด้านหนึ่งก็คือ โครงการที่ว่านี้ อุดมด้วยสายสัมพันธ์และแรงสนับสนุนจากผู้คนในแวดวงสังคมหลากหลาย และเป็นประหนึ่งโครงการนำร่องของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐตั้งแต่เริ่มต้นวางแผน เพื่อให้มี Infrastructure ที่เอื้ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้คนในชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจโดยรอบโครงการ ซึ่งอาจจะเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคต
ภูมิทัศน์ของย่านเจริญนคร ซึ่งแต่เดิมเป็นชุมชนตึกแถวกำลังปรับเปลี่ยนและยกระดับให้ฉายโชนภาพของการเป็นเขตที่พักอาศัย ที่เบียดแทรกอยู่ควบคู่กับ community mall หลากหลายขนาดใหญ่น้อยไปตามลักษณะพื้นที่
ความเป็นไปของเจริญกรุงและเจริญนครซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในห้วงยามขณะปัจจุบันนี้ กำลังดำเนินขนานควบคู่ไปสู่การพัฒนาและความเจริญครั้งใหม่ ภายใต้อัตลักษณ์ที่มีอยู่เดิมและกำลังจะสร้างขึ้นใหม่ของแต่พื้นที่
ขณะเดียวกัน บริบทที่กำลังดำเนินไปนี้อาจเป็นประหนึ่งเงาร่างที่สะท้อนให้เห็นได้ทั้งความงดงามและอัปลักษณ์ขึ้นอยู่กับว่าจะประเมินจากมิติมุมมองเช่นไร และแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงไม่ใช่กระจกวิเศษที่จะเป็นผู้ให้คำอรรถาธิบาย