Column: AYUBOWAN
นัยความหมายของวันสำคัญที่ทำให้แต่ละสังคมหรือประเทศประกาศให้เป็นวันหยุดของทางราชการหรือภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ของโลก นอกจากจะสะท้อนมิติทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยแห่งความจำเริญงอกเงยทางศิลปวัฒนธรรม รวมถึงคุณค่าที่สังคมเหล่านั้นเชื่อถือและให้ความสำคัญใส่ใจแล้ว
ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นภาพสะท้อนของความเคารพความแตกต่างของผู้คนในแต่ละสังคมให้ได้รับเกียรติและการยอมรับอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติหรือตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ ให้ต้องถูกผลักออกไปเป็นส่วนเกินของสังคม
ประเด็นที่ว่านี้ดูเหมือนว่าสังคมศรีลังกาซึ่งแม้จะมีประชากรชาวพุทธสิงหลมากกว่าร้อยละ 70-75 ของประชากรจำนวน 20 ล้านคนและให้ความสำคัญกับ “วันพระใหญ่” หรือวันพระจันทร์เต็มดวง (Poya Day) ของศาสนาพุทธให้เป็นวันหยุดราชการอย่างน้อยเดือนละครั้ง พร้อมกับการงดเว้นกิจกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยาแล้ว ด้วยเหตุแห่งความเป็นพหุสังคมที่มีการเรียนรู้อดีต ทำให้วันสำคัญทางศาสนาของศาสนาอื่นๆ ก็ได้รับการยอมรับและบรรจุให้เป็นวันหยุดราชการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ศาสนาฮินดู ซึ่งมีชาวศรีลังกาทมิฬนับถืออยู่ประมาณร้อยละ 13-15 ของประชากรทั้งหมด ก็เป็นศาสนาที่มีวันสำคัญและได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในปฏิทินวันหยุดประจำปีของศรีลังกา ไม่น้อยเช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่ามีวันหยุดของศาสนาฮินดูในปฏิทินวันหยุดของศรีลังกาเฉลี่ย 2 เดือนต่อครั้งเลยทีเดียว
วันสำคัญที่นำไปสู่วันหยุดครั้งล่าสุดของศาสนาฮินดูในศรีลังกา คือวัน Maha Shivaratri ที่เป็นวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดย ศิวราตรี แปลว่า ราตรีหรือค่ำคืนแห่ง (การบูชา) พระศิวะเจ้า ศิวราตรีเป็นเทศกาลสำคัญยิ่งวันหนึ่งในรอบปีของชาวฮินดู โดยพิธีศิวราตรีจะจัดขึ้นในช่วงวันแรม (กฤษณปักษ์) แรม 13 ค่ำ (กฤษณไตรโยทศี) หรือ แรม 14 ค่ำ (กฤษณจตุรทศี) ของเดือน มาฆะ หรือเดือน ผลาคุณะ (ตามปฏิทินของฮินดู) หรือตามแบบสากลพิธีนี้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี
ความสำคัญของวัน Maha Shivaratri หรือ “มหาศิวราตรี” ตามตำนานและความเชื่อของชาวฮินดู ในด้านหนึ่งนอกจากจะมาจากต้นทางแห่งความหมายว่าด้วย “ค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ของพระศิวะ” ด้วยเหตุที่เป็นวันที่พระศิวะได้อภิเษกสมรสกับพระแม่ปารวตี (Parvati) ซึ่งเป็นเทวีแห่งความรักแล้ว
“มหาศิวราตรี” ยังเกี่ยวเนื่องกับตำนานการกวนเกษียรสมุทร ที่ทั้งเหล่าทวยเทพและอสูรต่างก็ร่วมมือร่วมใจช่วยกันจนปรากฏหม้อพิษขึ้นมา จากเกษียรสมุทรที่สามารถทำลายทั้งจักรวาลได้ เหล่าเทพและอสูรต่างก็เกรงกลัวพิษภัยนี้ จึงรีบรุดไปกราบทูลพระศิวเทพ ด้วยพระเมตตาของพระองค์ที่จะช่วยเหลือโลกให้อยู่รอด จึงทรงดื่มน้ำพิษนั้นเสีย
แต่แทนที่จะทรงกลืนเข้าไป ก็ทรงเก็บพิษนั้นไว้ที่พระศอ ทำให้พระศอเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการขนานพระนามว่า นีลกัณตะ (Neelakanta) อีกชื่อหนึ่ง และเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในการช่วยเหลือโลกในครั้งนี้ของพระองค์ ชาวฮินดูจึงได้เฉลิมฉลองวันสำคัญ “มหาศิวราตรี” นี้ขึ้นด้วยเหตุดังกล่าว
โดยในวันนี้จะมีการถวายใบมะตูม (Bael / Bilva) เพื่อบูชาพระศิวะ รวมทั้งมีการอดอาหารตลอดทั้งวันและคืน ชาวฮินดูยังนิยมถวายใบกัญชาแด่พระองค์และสาวกของพระองค์ด้วย รวมทั้งการทำทุกรกิริยา โยคะ และทำสมาธิเป็นการบำเพ็ญบุญและเพื่อให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
“ค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ของพระศิวะ” ที่สะท้อนภาพการเป็นวันที่พระศิวะทรงสำแดงอำนาจบารมีเหนือเหล่าทวยเทพและเทพีในศาสนาฮินดูทั้งมวล ท่ามกลางภารกิจการสร้างโลกและสรรพสิ่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่านี้นำไปสู่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วย “ตัณฑวา” (Shiva Tandava) หรือการเต้นรำเป็นจังหวะลีลาแห่งจักรวาล ที่ประหนึ่งเป็นการประกาศพลังที่ไม่สิ้นสุดของการเกิดขึ้น ดำเนินอยู่และการแตกดับ ที่ควบคุมโดยพระศิวะด้วย
ขณะเดียวกัน มหาศิวะราตรียังเกี่ยวโยงกับตำนานว่าด้วยการบูชาพระศิวะ โดยมีการระบุว่าภายหลังจากภารกิจการสร้างโลกและสรรพสิ่งสมบูรณ์ พระแม่ปารวตี (Parvati) ซึ่งเป็นเทวีแห่งความรักทรงถามพระศิวะว่า การบูชาหรือบวงสรวงในโอกาสใดที่พระศิวะโปรดปรานที่สุด ซึ่งพระศิวะตอบกลับมาว่าการบวงสรวงในค่ำคืนที่พระศิวะได้อภิเษกสมรสกับพระแม่ปารวตี เป็นที่โปรดปรานที่สุด ซึ่งก็คือวัน “มหาศิวะราตรี” นั่นเอง
เมื่อเป็นวันที่พระศิวะโปรดปรานดังที่กล่าวแล้ว ผู้นับถือศาสนาฮินดูจึงต่างพยายามปฏิบัติบูชาและบวงสรวงพระศิวะในวันดังกล่าวกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยหวังที่จะให้เป็นที่พึงพอใจของพระศิวะ และดลบันดาลประสาทพรตอบรับการปฏิบัติบูชาบวงสรวงกลับมายังพวกเขา โดยชาวฮินดูจะบูชาพระศิวะตลอด 24 ชั่วโมง ผู้นับถือเคร่งครัดอดอาหารและอดนอนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากตำนานไม่ว่าจะในฐานะที่เป็น “วันปรากฏของพระศิวะ” และ “วันแต่งงานของพระศิวะ” ทำให้เชื่อกันว่าหากบูชาพระศิวะในวันนี้แล้ว จะได้คู่ชีวิตที่ดีและมีความสุขความเจริญ
ตามคัมภีร์ศิวะปูราณะ การบูชาจะทำการอาบน้ำศิวลึงค์ด้วยของต่างๆ เช่น น้ำผึ้ง นมสด ธูปหอม ผงขี้เถ้า น้ำตาล ใบมะตูม หมายความถึงความบริสุทธิ์แห่งจิตวิญญาณ หลังจากนั้นก็จะแต้มชาดลงบนศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงคุณธรรม จากนั้นก็จะถวายผลไม้เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ความพึงพอใจ และการได้สมปรารถนา และถวายธูปหรือกำยานเพื่อความมั่งคั่ง ถวายประทีปหรือไฟ เพื่อปัญญาญาณ และถวายใบพลูเพื่อความสุขในทางโลก ในการทำพิธีผู้บูชาจะทำการสวดพระนาม “โอม นมัส ศิวะ” ตลอดทั้งราตรี
การบูชาจะกระทำ 4 ครั้งในตลอดทั้งคืน โดยเวลาบูชาดังกล่าวจะต้องคำนวณฤกษ์บูชาตามระบบปัญจางคะ ตามปฏิทินฮินดู เพื่อเฟ้นหาฤกษ์ยามที่ดีที่สุดในการบูชา และหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่ไม่ดี อันมีผลต่อการสวดอ้อนวอนให้สัมฤทธิ์ผล และเวลาที่สำคัญที่สุดในการบูชาอ้อนวอน เรียกว่า “ฤกษ์-นีศีลถะกาละบูชา” ซึ่งต้องคำนวณฤกษ์ยามโดยวิธีพิเศษ การบูชาในเวลานี้ถือว่าให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด
นอกเหนือจากเหตุผลร้อยแปดพันประการที่นำมาเชื่อมโยงเป็นฐานคติในการสร้างวันสำคัญแล้ว บางทีความพยายามที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้ากับนาย ก็เป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขให้ต้องน่าเหนื่อยไม่น้อยเช่นกันนะคะ