หลายต่อหลายครั้งที่ข่าวสารของวงการค้าปลีกไทยที่มักจะวนเวียนอยู่เพียงแค่ไม่กี่กลุ่มบริษัท ซึ่งโดยส่วนใหญ่เนื้อหาสาระที่ถูกกล่าวถึงมักจะเป็นไปในด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ การปักหมุดล้อมเมือง การสร้างฐานที่ตั้งทางธุรกิจใหม่ๆ
แต่หากเป็นข่าวสารที่เกี่ยวกับนวัตกรรมการค้าปลีก ชื่อของนักธุรกิจหญิงจากบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ชฎาทิพ จูตระกูล ที่นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มักจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ หรือหากจะกล่าวว่าเป็นนักปฏิวัติวงการค้าปลีกดูจะไม่เกินไปนัก
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ว่ามีทิศทางเป็นเช่นไร กระแส Talk of the Town ที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดของ ชฎาทิพ จูตระกูล มักจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การคิดการใหญ่ของนักธุรกิจหญิงผู้นี้ที่จับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้ชำนาญด้านการค้าปลีก ร่วมกันพัฒนาสยามพารากอน รวมไปถึงการร่วมกับกลุ่ม MBK ที่ปัดฝุ่นห้างเก่าอย่างเสรีเซ็นเตอร์ และชูให้เป็น “สวรรค์แห่งการชอปปิ้งของกรุงเทพฯ ย่านตะวันออก” และจบที่ชื่อพาราไดซ์พาร์ค
กระทั่งอภิมหาโปรเจกต์บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ร่วมกับกลุ่มซีพี ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในชื่อไอคอนสยาม
นอกเหนือไปจากการปลุกปั้นโครงการใหม่ๆ แล้ว โครงการ Renovate สยามเซ็นเตอร์ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากมันสมองของชฎาทิพ และทีมงานมืออาชีพของสยามพิวรรธน์ กระทั่งถึงเวลาที่สยามพิวรรธน์ตัดสินใจที่จะปรับโฉมศูนย์การค้าอย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Exploratorium โดยมีความพยายามจะทิ้งภาพจำของศูนย์การค้าและปรับสู่การเป็นไฮบริดรีเทลสโตร์แห่งแรกของไทย
หลักฐานดังกล่าวทำให้ ชฎาทิพ ถูกสื่อหลายแขนงเขียนถึงในเชิงบวกเสมอ เพราะนอกเหนือไปจากแนวความคิดของผู้บริหารหญิงรายนี้ ที่มักจะไม่หยุดและจบแค่ในกรอบทฤษฎีเดิมๆ ที่มีอยู่ในตำราการตลาดแทบจะทุกเล่ม หากแต่ยังมีเรื่องราวความเป็นมา เมื่อครั้งที่เริ่มเข้ามาทำงานกับกลุ่มสยามพิวรรธน์เมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
จากหญิงสาวลูกคุณหนู ที่เคยถูกสบประมาทด้วยประโยคว่า “เรื่องแค่นี้ก็ทำไม่ได้” สู่นักบริหารมืออาชีพที่สังคมให้การยอมรับ จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเมื่อครั้งต้องนำพาบริษัทเผชิญกับปัญหาและวิกฤตทางเศรษฐกิจของไทย น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ชฎาทิพเป็นนักธุรกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น
ชั่วโมงบินที่สะสมจากการทำงานร่วมกับสยามพิวรรธน์มายาวนานร่วม 30 ปีนั้น ได้พัฒนาศักยภาพด้านการบริหารของชฎาทิพให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลักการบริหารของเธอจะไม่ได้เพียงยึดเอาทฤษฎีการตลาดที่เน้น 4P เท่านั้น แต่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและเปิดรับเทคโนโลยี เทรนด์ ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้เข้าถึงและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด
ความสำเร็จของศูนย์การค้าทั้ง 4 สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และพาราไดซ์พาร์ค ดูจะเป็นหลักฐานชั้นดีที่จะชี้ให้ถึงกระบวนการคิดที่ “ไม่หยุดนิ่ง” และ “เรียนรู้อยู่เสมอ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของชฎาทิพ ในการพยายามเป็นผู้สร้างนวัตกรรมของวงการค้าปลีก
การปิดปรับปรุงของสยามดิสคัฟเวอรี่เกิดขึ้นเพราะ “ถึงเวลาต้องเปลี่ยน” คำกล่าวสั้นๆ ในงานแถลงข่าวคอนเซ็ปต์ใหม่ของสยามดิสฯ ของชฎาทิพ ทำให้เราเข้าใจนักบริหารหญิงคนนี้ได้ไม่ยากนัก แม้ส่วนหนึ่งจะรู้สึกถึงความเสี่ยง เพราะการปรับปรุงศูนย์การค้าจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งในครั้งนี้สยามพิวรรธน์ควักเงินสูงถึง 4,000 ล้านบาท
“ผู้บริโภคเบื่อแล้ว ต้องการแนวทางใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเงินทุกบาททุกสตางค์คุ้มค่า จะทำให้สยามดิสคัฟเวอรี่ก้าวไปอีกขั้น ที่ไม่ใช่เพียงแต่ขายสินค้า ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ได้ทดลองทำสิ่งเหล่านี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เห็นได้จากการรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์แล้วได้ผลลัพธ์ดีมาก” ชฎาทิพขยายความ
ในทุกๆ ครั้งที่สยามพิวรรธน์มีการแถลงข่าวผู้นำอย่างชฎาทิพ จูตระกูล มักจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะดูเหมือนแต่ละครั้งที่มีการขยับของสยามพิวรรธน์ สิ่งที่ตามมาคือปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นให้แก่วงการค้าปลีกไทย
และในหลายๆ ครั้งชฎาทิพจะกลายเป็นผู้บุกเบิก จากที่เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อต่างๆ ว่า “การทำศูนย์การค้าหลายคนอาจคิดว่าง่าย เพียงแค่สร้างตึกเสร็จแล้วเก็บค่าเช่า ความจริงไม่ใช่เลย เราไม่ได้คิดว่าเป็นเพียง Developer แต่คิดว่าเราเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านค้าที่อยู่กับเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องระยะยาวให้ได้ และถือเสมือนว่าบริษัทกับบรรดาผู้เช่าเป็นทีมเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เราต้องช่วยพัฒนาธุรกิจของทุกๆ รายให้แข็งแกร่งทันสมัย สร้างฐานลูกค้าและความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในศูนย์ฯ ของเราอยู่ตลอดเวลา โดยจะต้องนำเสนอสินค้าและบริการในศูนย์การค้าที่ Trendy และล้ำหน้ากว่าศูนย์การค้าอื่นๆ อยู่เสมอ”
ดูเหมือนว่าทุกท่วงทำนองและการก้าวเดินบนเส้นทางธุรกิจของชฎาทิพนั้น มักจะสร้างความท้าทายทั้งต่อตัวเองและทีมงานเสมอ คล้ายกับจะสื่อสารว่าหากไม่ขยับตอนนี้จะทำให้โอกาสที่ดีหลุดลอยไป
แม้ว่าในช่วงเวลาปัจจุบันที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลงจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ ศูนย์การค้าไม่มีการจับจ่ายเท่าที่ควร นักธุรกิจชะลอการลงทุนเพราะความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยน
แต่สภาวะดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้กับผู้นำของสยามพิวรรธน์ ที่กลับมองเห็นโอกาสในกระแสวิกฤต ปรับเปลี่ยนศูนย์การค้าที่จับแต่กลุ่ม Niche Market มาเป็นพื้นที่ที่พร้อมสำหรับเปิดรับคนทุกกลุ่ม
หากอนาคตจะเป็นเครื่องพิสูจน์เจตจำนงว่าจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ที่ตั้งเอาไว้หรือไม่ แต่สำหรับนักธุรกิจหญิงเช่นชฎาทิพ จูตระกูล ผู้ที่มักสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการค้าปลีกแล้ว คงไม่ต้องรอให้ถึงอนาคต เพราะเพียงแค่ปัจจุบันก็ดูจะเป็นคำตอบที่ดี