ข่าวการปิดตัวไปของสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการคาดการณ์ต่างๆ นานา ถึงอนาคตของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ว่ากำลังจะอัสดงลาลับดับแสงลงแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามแห่งยุคสมัยที่ประพฤติกรรมของผู้คนปรับเปลี่ยนไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ และพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้การเสพรับข่าวสารในปัจจุบันสามารถกระทำได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ผู้บริหารและบรรณาธิการของนิตยสารหลายฉบับที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบและความถี่ในการนำเสนอหรือแม้กระทั่งยุติ-ปิดตัว ระงับการพิมพ์ ถึงกับให้ความเห็นไปในทิศทางใกล้เคียงกันในท่วงทำนองที่ระบุว่า ยุคสมัยของนิตยสารกระดาษกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว เพราะโลกยุคปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก สื่อสิ่งพิมพ์ไม่มีทางสู้กับความรวดเร็วทันใจของสื่อดิจิตอลได้ ทุกวันนี้ใครๆ ก็บริโภคข่าวสารและข้อมูลจากมือถือและอินเทอร์เน็ต ไม่มีใครรออ่านนิตยสารที่จับต้องได้
“ผู้บริโภคมองหาแต่นิวมีเดียใหม่ๆ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลก มันหมดยุคของแมกกาซีนแล้วจริงๆ ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ต่อให้สายป่านยาวแค่ไหนก็รอดยาก” พนิตนาฎ แย้มเพกา บรรณาธิการบริหารนิตยสารเปรียว ซึ่งปิดตัวเองไปเมื่อปลายปี 2558 หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยมานานกว่า 35 ปี ระบุ
ประเด็นที่น่าสนใจของกรณีที่ว่านี้ ก็คือภาวะวิกฤตในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มิได้เป็นปฏิกิริยาชั่วข้ามคืนหากแต่เป็นปรากฏการณ์ที่ได้ส่งเค้าลางแห่งความเสื่อมถอยให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านการบริโภคข่าวสารของผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยแหล่งที่มาของรายได้จากค่าโฆษณาเป็นปัจจัยเร่งอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นอยู่ที่ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา (2548-2558) รายได้จากค่าโฆษณาที่เคยเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ให้สามารถก้าวเดินไปข้างหน้า หดหายไปจากระบบมากกว่าร้อยละ30-40 มูลเหตุด้านหนึ่งได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในระดับนานาชาติ และสถานการณ์ความไม่สงบวุ่นวายไร้ทิศทางของการเมืองภายในประเทศ
หากแต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า สื่อสิ่งพิมพ์ถูกสื่อในรูปแบบและช่องทางอื่นๆ ขยับตัวขึ้นมาท้าทายและกลายเป็นคู่แข่งขันในการดึงดูดเม็ดเงินค่าโฆษณาอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ผลสำรวจของ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงที่ผ่านมาได้เน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่านี้ โดยระบุว่า เงินค่าโฆษณาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ในช่วงปี 2558 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในส่วนของหนังสือพิมพ์ลดลงในอัตราร้อยละ 6.45 จากระดับ 13,166 ล้านบาท ในปี 2557 เหลือ 12,332 ล้านบาท ขณะที่ในฝั่งฟากของนิตยสาร สถานการณ์กลับทรุดหนักยิ่งกว่า โดยรายได้จากค่าโฆษณาของนิตยสารลดลงถึงร้อยละ 14.28 จากระดับ 4,721 ล้านบาทในปี 2557 เหลือเพียง 4,227 ล้านบาทเท่านั้น
ภาวะที่เกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวนี้ดำเนินไปท่ามกลางการเติบโตขึ้นของรายได้จากค่าโฆษณาในสื่อออนไลน์ ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ11.37 จากระดับ 950 ล้านบาท ในปี 2557 มาสู่ระดับ 1,058 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นลำดับจากนี้ ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาก็ยังมีอัตราเติบโตที่ระดับร้อยละ 3.34% จากระดับ 102,348 ล้านบาท ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 122,319 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
สถานการณ์เช่นว่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยเผชิญกับภาวะผลกำไรชะลอตัว รวมถึงขาดปัจจัยเสริมในการขยายตัวทางธุรกิจ ขณะที่อีกบางส่วนต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน และถูกผลักให้ต้องทบทวนหาวิธีการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเพิ่มช่องทางหรือแม้กระทั่งการปรับไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้ามีชีวิตต่อไปได้
ความพยายามที่จะแสวงหาหนทางเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นในกรณีของการเปิดเว็บไซต์ข่าว ซึ่งเป็นไปทั้งโดยหวังจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารผลงานต่อยอดจากสื่อสิ่งพิมพ์หลักให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ช่องทางดังกล่าวนี้ยังเชื่อว่าจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่จากค่าโฆษณาที่มีสัดส่วนแปรผันตามยอดจำนวนผู้อ่านหรือยอดวิวอีกด้วย
พัฒนาการของสื่อที่มุ่งเน้นยอดผู้เข้าอ่านข่าว ทำให้มิติมุมมองของข่าวเปลี่ยนจากการให้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกหรือข่าวสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องราวความเป็นไปของสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบ hard news เช่นในอดีต ถูกแทนที่ด้วยข่าวเชิงสีสัน ความอยากรู้อยากเห็นว่าด้วยเรื่องราวของเหล่าดารา รวมถึงคนดัง (celebrity) ในแวดวงสังคมและข่าวชาวบ้านร้านถิ่นแบบ soft news ที่เสพง่าย ไปโดยปริยาย
ภาวะดังกล่าวยิ่งทำให้สถานะของสื่อถดถอยลงไปอีก เมื่อข้อเท็จจริงของเทคโนโลยีสมัยใหม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้อุปกรณ์แทบทุกคนสามารถผันตัวเป็นนักข่าวพลเมืองเพื่อสื่อสารหรือเผยแพร่กระจายข่าวสารในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส และทำให้ข่าวสารที่กระจายอยู่ในระบบออนไลน์ดำเนินไปไม่ต่างจากมวลน้ำที่ไหลบ่าท่วมทะลัก ที่ดูจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยรวมมากกว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมอย่างแท้จริง
ภาพสะท้อนความเป็นไปของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งอยู่ที่จำนวนผู้เข้าร่วมชม “งานสัปดาห์หนังสือ” ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ภายใต้ชื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (เดือนมีนาคม) และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (เดือนตุลาคม) ที่มีปริมาณนักอ่านเข้าร่วมชมงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอกย้ำภาวะเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยในยุคดิจิตอลนี้ไม่น้อยเลย
ข้อเสนอหรือแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ในลักษณะของการนำข้อมูลไปผูกหรือเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีออนไลน์และดิจิตอลแพลทฟอร์ม ดูจะเป็นวิถีความคิดเบื้องต้นในการรับมือกับการปรับตัวลดลงของสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนัก หากแต่ประเด็นสำคัญในการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณามากกว่านั้น
เพราะภายใต้สถานการณ์ที่สื่อออนไลน์มีลักษณะท่วมทะลักนั้น ข้อแตกต่างระหว่างผู้สื่อข่าววิชาชีพกับผู้สื่อข่าวพลเมืองอยู่ที่เนื้อหาและมิติมุมมอง ซึ่งผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์มิได้มีความจำเป็นเฉพาะการปรับเปลี่ยนแพลทฟอร์มเท่านั้น หากทางเลือกทางรอดของผู้ประกอบการสื่อในระยะยาวอยู่ที่ความสามารถที่จะเป็น content provider ที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไม่สิ้นสุดในทุกวิถีและช่องทางการสื่อสารที่สามารถรองรับได้มากกว่า
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ดูเหมือนจะตั้งความหวังไว้ที่การเบียดแทรกตัวเข้าสู่สมรภูมิใหม่บนหน้าจอทีวี ซึ่งพบว่ากลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์รายใหญ่ต่างประกาศตัวเข้าช่วงชิงทีวีดิจิตอลกันอย่างเอิกเกริก เพราะไม่เพียงเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจทีวี หากแต่ตัวเลขและแนวโน้มการโฆษณาบนสื่อโทรทัศน์ที่ยังมีการเติบโตปรากฏให้เห็น ด้วยมูลค่ารวมนับแสนล้านบาท ขณะที่การใช้งบโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์กลับอยู่ในภาวะ “ทรงตัว” และมีแนวโน้ม “ถดถอย” ต่อเนื่องอีกด้วย
กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์พยายามปรับทิศทางธุรกิจในแนวทางดังกล่าวมาเป็นระยะ โดยเริ่มจากช่องทีวีดาวเทียม และขยายสู่ทีวีดิจิตอล ซึ่งการขยายเข้าสู่แพลทฟอร์มทีวีดิจิตอล ดำเนินไปท่ามกลางการเล็งผลเลิศว่าด้วยโอกาสการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาที่ประมาณการว่าจะอยู่ในระดับที่มีมากถึง 1.7 หมื่นล้านบาทเป็นด้านหลัก
แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องเผชิญกับการคาดหมายอาจไม่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เพราะนอกจากทีวีดิจิตอลจะมีการแข่งขันและลงทุนสูงจากต้นทุนการประมูลใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย และการผลิตรายการแล้ว การกำหนดราคาค่าโฆษณายังต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับเรตติ้งผู้ชมอีกด้วย
แม้ว่าจุดเด่นของผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เข้าบริหารช่องข่าวบนแพลทฟอร์มทีวีดิจิตอล จะมีความได้เปรียบเพราะถือเป็นกลุ่มที่มี “คอนเทนต์” ข่าวเป็นฐานเดิมรองรับการขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่าไม่ใช่เรื่อง “ง่าย” ที่จะให้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังเลย และกำลังนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหม่อย่างไม่อาจเลี่ยง
“ผู้ประกอบการสื่อ” ไม่เพียงแต่ได้พบกับความท้าทายจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปเท่านั้น หากแต่ความฉาบฉวยของข้อมูลข่าวสารที่ดำเนินอยู่บนความสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ยังไม่เห็นแนวโน้มใหม่ที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนหนทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด แม้ว่าทุกองค์กรผู้ประกอบการสื่อจะมีความพยายาม “ปรับตัว” แต่ก็ดูเหมือนว่าธุรกิจที่ว่านี้กำลังหรี่แสงที่เคยเจิดจรัสลงด้วยอัตราเร่ง
ความคาดหวังว่าด้วยการรักษาฐานที่มั่นบนธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ให้อยู่รอดได้นานที่สุด ในฐานะที่เป็น “สถาบันสื่อ” ในห้วงยามที่ดูเหมือนสถานการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจโดยรอบกำลังเดินหน้าเข้าสู่จุดเสื่อมทรามครั้งใหม่ และมีแนวโน้มจะหนักหน่วงที่สุด ประหนึ่งบ่อโคลนดูด ที่พร้อมจะดูดกลืนสรรพสิ่งให้ถลำลึกและโถมทับ เช่นว่านี้
ดูเหมือนสถานการณ์ตลอดปีวอกในปี 2559 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะเป็นประหนึ่งช่วงเวลาที่ท้าทายไม่เฉพาะในมิติของสติปัญญาความสามารถขององค์กรผู้ประกอบการสื่อ ว่าจะสามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์ “ลิงแก้แห” ไปได้อย่าง “ไม่วอกแวก” ไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างใดหรือไม่เท่านั้น
หากยังเป็นความท้าทายในมาตรฐาน “วิชาชีพ” ที่จะเรียกร้องศรัทธาและความเชื่อมั่นจากสังคมในฐานะที่เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สะท้อนและกระตุ้นเตือนสังคม และดำเนินอยู่บนวิถีแห่งนักวิชาชีพสื่อที่ได้รับการยอมรับไปพร้อมกัน
ซึ่งนั่นอาจเป็นบทพิสูจน์ที่แหลมคมและท้าทายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย