Column: Well – Being
ตามธรรมชาติแล้วเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเริ่มสูงขึ้น เราต้องมีเหงื่อออก ซึ่งตามปกติแล้วถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหงื่อช่วยระบายความร้อน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง เหงื่อยังทำให้ร่างกายหลั่งสารออกมาตามผิวหนังทั่วร่างกายที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ทั้งยังช่วยให้เราค้นพบเนื้อคู่ในฝันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราถูกดึงดูดจากกลิ่นของใครบางคน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสาร pheromones ที่ร่างกายผลิตออกมาพร้อมเหงื่อนั่นเอง
แต่นิตยสาร GoodHealth กล่าวว่า เหงื่อกลายเป็นปัญหาได้เช่นกัน เพราะบางครั้งร่างกายผลิตเหงื่อมากเกินไปที่เรียกว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก” (hyperhidrosis) หรือเมื่อออกเหงื่อแล้วทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ทางการแพทย์เรียกว่า “กลิ่นตัว” (bromhidrosis)
กลิ่นตัว
ดร.เอชินี เพอเรรา แพทย์แห่งบริสเบนกล่าวว่า หากออกเหงื่อแล้วมีกลิ่นไม่พึงประสงค์บ้างเล็กน้อย ถือว่าปกติ “แต่ถ้ากลิ่นนั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือรุนแรงเป็นพิเศษ ต้องถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
ดร.คริส คอลล์เวิร์ท นักวิจัยเกี่ยวกับกลิ่นตัวแห่งมหาวิทยาลัยเกนท์ ประเทศเบลเยียม อธิบายว่า คุณจะมีกลิ่นตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดแบคทีเรียที่เจริญเติบโตบริเวณใต้รักแร้ แบคทีเรียบางชนิดสามารถย่อยสลายไขมันในเหงื่อจนก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ กลิ่นเหงื่อหรือกลิ่นตัวของคุณจะรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณของแบคทีเรียแต่ละชนิดว่ามีมากเพียงใด
ดังนั้น การกำจัดกลิ่นตัวจึงเกี่ยวข้องกับการลดปริมาณแบคทีเรียใต้รักแร้โดยตรง และ/หรือการลดปริมาณเหงื่อที่เป็นอาหารของแบคทีเรียเหล่านี้นั่นเอง
สารระงับเหงื่อ vs สารระงับกลิ่น
ทั้งสองชนิดเป็นผลิตภัณฑ์มุ่งกำจัดกลิ่นตัวเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่วิธีทำงาน สารระงับเหงื่อ (antiperspirant) ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้ร่างกายหลั่งเหงื่อน้อยลง ขณะที่สารระงับกลิ่น (deodorant) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารต้านจุลชีพที่มุ่งกำจัดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัว
ดร.คอลล์เวิร์ทแนะนำว่า ถ้าคุณมีปัญหากลิ่นตัวอย่างเด่นชัด ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น เพราะสารระงับเหงื่อทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของแบคทีเรียใต้รักแร้ ซึ่งหมายความว่า คุณอาจประสบปัญหามากขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย corynebacteria ที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัวรุนแรงขึ้น แต่ถ้าคุณใช้สารระงับกลิ่นแล้ว มักไม่เกิดปัญหาดังกล่าว
สารระงับเหงื่อมีส่วนประกอบหลักคือ aluminium salt ซึ่งยิ่งมีปริมาณเข้มข้นสูง ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพการทำงานสูง เช่น Driclor, Rexona และ Mitchum Clinical
ดูแลเสื้อผ้าที่สวมใส่
แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัวไม่ได้อาศัยบนผิวหนังเท่านั้น ยังอาศัยอยู่ตามเสื้อผ้า ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดเซลล์เดี่ยวหรือ micrococcus ที่ชอบเสื้อผ้าเส้นใยโพลีเอสเตอร์มากเป็นพิเศษ
ดร.คอลล์เวิร์ทอธิบายวิธีกำจัดแบคทีเรียดังกล่าวว่า ให้ซักเสื้อผ้าในน้ำร้อนหรือตากแดด เพราะทั้งออกซิเจนและแสงยูวีสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
ถ้าได้ลองวิธีข้างต้นนี้แล้วแต่ยังไม่ได้ผล คุณยังมีกลิ่นตัวน่ารังเกียจ แสดงว่าแบคทีเรียได้ฝังรากลึกอย่างถาวรแล้ว กลิ่นนั้นจะคงอยู่ตลอดไป
ภาวะหลั่งเหงื่อมากเกินไป
ภาวะหลั่งเหงื่อมากเกิดขึ้นโดยการผลิตเหงื่อออกมามากผิดปกติ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งแม้เมื่ออยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ผู้มีภาวะหลั่งเหงื่อมากก็ยังมีเหงื่อออกมากมาย
บางครั้งการหลั่งเหงื่อมากเกินไป ถือเป็นการส่งสัญญาณของร่างกายว่า คุณกำลังย่างเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เบาหวาน ก็เป็นได้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือน้ำหนักตัวลด คุณต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย มีบ่อยครั้งเหมือนกันที่การหลั่งเหงื่อมากไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ ภาวะนี้เรียกว่า primary hyperhidrosis
ศาสตราจารย์คาร์ล อึ๊ง แห่งสถาบัน Sydney North Neurology & Neurophysiology อธิบายว่า “ภาวะหลั่งเหงื่อมาก เกิดขึ้นกับประชากรทุกหนึ่งใน 40 คน และมักสืบทอดกันภายในครอบครัวโดยไม่อาจหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดจากระบบประสาททำงานมากผิดปกติได้”
ผู้มีปัญหาดังกล่าวมักมีอาการผิดปกติตั้งแต่ก่อนอายุครบ 25 ปี โดยมีเหงื่อชุ่มโชกบริเวณใต้รักแร้ อุ้งมือ อุ้งเท้า และบนใบหน้าในบางครั้ง
วิธีแก้ปัญหา
คุณอาจแก้ปัญหาด้วยวิธีแรก ด้วยการใช้สารระงับเหงื่อที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจทำให้ปัญหาเลวร้ายลงจากการเกิดกลิ่นตัวน่ารังเกียจได้
ดร.เพอเรราอธิบายว่า “สารระงับเหงื่อเข้าไปยับยั้งการทำงานของต่อมเหงื่อ จึงควรทาเวลากลางคืนซึ่งมีเหงื่อน้อยกว่า ทำให้ส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์สามารถแทรกซึมเข้าไปทางท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในกรณีที่ใช้สารระงับเหงื่อแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาเหงื่อออกบริเวณรักแร้มากเกินไป ให้ฉีดโบท็อกซ์ (botulinum toxin) หรือผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกันแทน เพื่อยับยั้งการผลิตสารเคมีที่กระตุ้นให้ต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อออกมานั่นเอง
วิธีรักษาใหม่ล่าสุดเรียกว่า miraDry ที่ใช้ความร้อนเข้าไปทำลายต่อมเหงื่อใต้วงแขน ซึ่งเป็นการทำลายอย่างถาวร
ถ้าคุณมีปัญหาเหงื่อออกมากบริเวณมือหรือเท้า ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับสารระงับเหงื่อมาทาบริเวณที่เป็นปัญหา หรือใช้วิธีฉีดโบท็อกซ์ หรือการรักษาที่เรียกว่า iontophoresis ซึ่งเป็นการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อยับยั้งการทำงานของต่อมเหงื่อ
แต่ทุกวิธีล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ศาสตราจารย์อึ๊งจึงแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุด
เคล็ดลับลดกลิ่นตัว
– สวมใส่ผ้าฝ้าย เพราะโดยทั่วไปแล้วผ้าฝ้ายไม่จัดว่าเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัว
– หมั่นโกนขนรักแร้ เพราะขนรักแร้ที่งอกยาวเกิน 6 สัปดาห์ เป็นแหล่งสะสมกลิ่นให้เกิดกลิ่นไม่ถึงประสงค์มากขึ้น
– ใช้สบู่ เพราะช่วยลดปริมาณแบคทีเรีย และทำให้มีไขมันเคลือบบนผิวหนัง แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ไม่ดี