“ระบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชุมชน” คือแนวคิดที่เชลล์นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเป็นต้นกำเนิดของความท้าทายทางเศรษฐกิจของชุมชน พลังงานสะอาดที่กำลังเป็นที่นิยมในทุกภาคส่วน ถูกนำมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
เชลล์ บริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลก ผสานความร่วมมือพันธมิตรหลัก สำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทย (GIZ) เทศบาลตำบลทุ่งหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด และวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ริเริ่มโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Shell Water Resource Management) เพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำที่เป็นรากฐานความท้าทายทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นกลไกขับเคลื่อนสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรในปัจจุบัน ขณะเดียวกันเชลล์ก็ได้ปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ภายใต้การดำเนินงานที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (Powering Lives) โดยใช้การลงทุนทางสังคม (Social Investment) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน มุ่งสร้างผลตอบแทนเชิงสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้สังคม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกระยะยาว”
โครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโครงการที่เชลล์ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาระบบจัดการน้ำอย่างครบวงจร และยกระดับการทำการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน มุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการพัฒนาการชลประทานผ่านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ระบบผลิตน้ำดื่มสะอาด ช่วยให้ชุมชนสามารถจัดสรรน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลระบบน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่ออบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์และการบำรุงรักษา ตลอดจนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะของเกษตรกร เยาวชน และชุมชนในพื้นที่
โครงการดังกล่าวส่งผลให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอทั้งในครัวเรือนและการเกษตร ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำดื่มของครัวเรือน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจากการใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว นอกจากนี้ โครงการยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้กับเยาวชนและเกษตรกร ช่วยให้ชุมชนสามารถดูแลระบบได้ด้วยตนเองในอนาคต จากการนำทรัพยากรที่ได้รับมาต่อยอดเพื่อรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในด้านการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
เชลล์นำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานมาช่วยในการส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการน้ำและการเกษตรแบบยั่งยืน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่ร่วมโครงการนี้กว่า 3,390 คน ผ่านการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 พื้นที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนบ้านตาหยวก ระบบชลประทานด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการพัฒนา มีน้ำที่เหมาะสมไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับทั้งเกษตรกร นักเรียน และผู้ปกครองในพื้นที่กว่า 1,300 ราย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นจากการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชนและภาคีเครือข่ายเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยพลังงานสะอาดเพื่อการเกษตรยั่งยืน
ขณะที่บ้านโพนเดื่อ ระบบสูบน้ำบาดาลและตู้จ่ายน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถผลิตน้ำดื่มคุณภาพได้วันละ 1,200 ลิตร ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายชุมชนได้ 155,596 บาทในเวลาเพียง 4 เดือน และยังขยายการผลิตจัดตั้งเป็นวิสาหกิจน้ำดื่มชุมชน สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการจำหน่ายไปยังชุมชนใกล้เคียง
ส่วนที่บ้านโนนสวรรค์ นอกจากโรงสีข้าวชุมชนจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานและการบริโภคของครอบครัวชาวนาแล้ว วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สถานที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาการผลิต และกระจายข้าวพันธุ์ดี ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาระบบนิเวศน์ในนาข้าวของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และความเข้มแข็งของชุมชน ในการนำพลังงานสะอาดมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะความรู้และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน
ดร. นานา คึนเคล ผู้ประสานงานกลุ่มโครงการเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพัฒนาระบบชลประทานและการจัดการพื้นที่เกษตรแบบยั่งยืน และส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงน้ำสะอาดและมีคุณภาพสูงเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น การอบรมการเกษตรแบบยั่งยืนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชุมชน จากนี้เราจะมองหาโอกาสเพื่อสนับสนุนการตลาด เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนและวิสาหกิจชุมชนเรื่องน้ำต่อไป”
“โครงการนี้ไม่เพียงเข้ามายกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น แต่ยังพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชนอีกด้วย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนและสมาชิกในชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรยั่งยืนและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด นักเรียนยังได้รับประโยชน์จากการปลูกผักในโรงเรียน ทำให้มีผักสดบริโภคตลอดปี ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งส่งเสริมโภชนาการที่ดี” นายวิลักษณ์ พูลเทกอง ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “การจัดการระบบชลประทานและการสูบน้ำจากแหล่งบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ยังทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี โดยไม่ต้องพึ่งพาฤดูกาล ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ลดต้นทุนในการสีข้าว และเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ชุมชนสามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น โครงการนี้จึงเป็นทั้งแหล่งความรู้และทรัพยากรที่ยั่งยืน สร้างคุณค่าให้กับชุมชนและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม”
“เชลล์ดำเนินธุรกิจเคียงคู่กับการเติบโตของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิตของชุมชน โครงการบริหารจัดการน้ำจากโซลาร์เซลล์ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลผลิตข้าว และจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคและการเกษตร พื้นที่นี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน แม้จะพบกับอุปสรรคในระหว่างการดำเนินโครงการ แต่ด้วยความร่วมมือจากเกษตรกรที่อยู่ในชุมชน โครงการจึงดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกที่เติบโต เคียงข้างสังคมไทย เรามุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป” นางสาวอรอุทัย กล่าวทิ้งท้าย