วันอาทิตย์, ธันวาคม 15, 2024
Home > PR News > นักวิชาการเตือนอย่าประมาทสึนามิ มุ่งสร้างความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง

นักวิชาการเตือนอย่าประมาทสึนามิ มุ่งสร้างความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง

ฮับแผ่นดินไหวจับมือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ร่วมรำลึก 20 ปีสึนามิ และหามาตรการรับมือภัยพิบัติผ่านความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบเตือนภัยและซักซ้อมอพยพ หวังสร้างความปลอดภัยแก่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยง ด้าน สว. กระตุ้นรัฐให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการสูญเสีย

ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานรำลึก 20 ปี ภัยพิบัติสึนามิ และการประชุมสัมมนางานวิจัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดพังงา พร้อมกับนำคณะวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติผ่านการบรรยายและกิจกรรมเชิงปฏิบัติแก่นักเรียนที่เน้นการใช้เครื่องมือจริงและการเล่นเกมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยจากภัยพิบัติ ตลอดจนสำรวจสถานที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2547 รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิที่ครอบคลุมการวิจัยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พร้อมถอดบทเรียน หาแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต และสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาความปลอดภัยจากสึนามิ

น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติสึนามิ คือระดับนโยบายของไทยยังมุ่งเน้นการเยียวยาเป็นหลัก แต่ขาดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของการเตรียมพร้อมรับมือ ไทยจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสึนามิ ทั้งการตระหนักรู้ ป้องกัน เตือนภัย และซักซ้อมจริง โดยการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินควรจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนภัยพิบัติต่าง ๆ ให้กับนักเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกตกใจจนสูญเสียการควบคุม

“อยากให้รัฐสภาเน้นย้ำระดับนโยบายให้เห็นผลจริงในการปฏิบัติ รวมถึงสนับสนุนการศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยและออกแบบก่อสร้างเมืองให้พร้อมรับมือโดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยป้องกันและจำลองการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณของประเทศได้อย่างมหาศาลและทำงานอย่างมีทิศทาง ที่สำคัญคือการบูรณาการการจัดการภัยพิบัติ การทำผังเมืองจำเป็นต้องออกแบบให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ อีกทั้งต้องพัฒนาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ และหาทางให้นักวิจัยมาช่วยกันทำงาน”

ด้าน ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ที่ระบุว่าภัยสึนามิที่เกิดขึ้นทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง ที่ผ่านมาได้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่ อุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเลและคลื่นสึนามิ การจำลองการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ รวมถึงนำมาตรการที่ได้ผลของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของไทย

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และสึนามิขึ้นอีกในช่วงชีวิตของเรา โดยรอยต่อแผ่นดินไหวอาระกันที่ยังไม่คลายพลังงานและอาจเกิดเหตุรุนแรงในหมู่เกาะอันดามันอีกครั้ง จึงไม่ควรประมาทและต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการปรับปรุงระบบเตือนภัยให้เร็วขึ้น สามารถรับรู้ได้ภายใน 20-30 นาที และอพยพผู้คนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

“มีหลายสิ่งที่เรายังไม่พร้อม เช่น ระบบเตือนภัย หลายพื้นที่อยู่ห่างไกลจากหอเตือนภัยจึงไม่ได้ยินสัญญาณ และควรเปลี่ยนระบบการส่งข้อความจากวิทยุโทรทัศน์มาเป็นการส่งเข้ามือถือเพื่อให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้อย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับในต่างประเทศ รวมทั้งต้องซักซ้อมอพยพเสมือนจริง และมีศูนย์พักพิงที่เหมาะสม บางแห่งที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น เขาหลัก เกาะพีพี จึงจำเป็นต้องมีที่หลบภัยแนวดิ่งเป็นอาคารสูงที่แข็งแรง ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น โรงแรม เพื่อขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่ และจัดทำป้ายนำทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติกล่าวทิ้งท้าย