วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > สื่อ: เสรีภาพและการคุกคาม

สื่อ: เสรีภาพและการคุกคาม

 
Column: AYUBOWAN
 
เดือนมกราคมที่ผ่านมาดูเหมือนว่า แวดวงการทำงานของสื่อในสังคมไทยจะถูกตั้งคำถามและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม รวมถึงมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพอย่างกว้างขวาง ซึ่งคงทำให้นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทยต้องให้ความสนใจและทบทวนบทบาทและภาพลักษณ์ที่ผ่านมาพอสมควร
 
การรณรงค์ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะด้วยถ้อยวลี “Journalism is not a crime” หรือ “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของสังคม” ดูจะกลายเป็นการรณรงค์ที่ไร้น้ำหนักและถูกผลักให้ห่างจากสังคมโดยรวมออกไปไกลขึ้นทุกขณะ ไม่ต้องกล่าวถึงภาพลักษณ์โดยรวมของสื่อมวลชนไทยถูกเหมารวมจากประพฤติกรรมและท่วงทำนองที่กลายเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิของผู้อื่นเสียเองอีกต่างหาก
 
แต่สำหรับสังคมศรีลังกา เดือนมกราคมที่ผ่านมา วงการสื่อสารมวลชนที่นี่ได้จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งถูกคุกคามด้วยการลอบสังหาร อุ้มหาย และประทุษร้ายต่อชีวิต ในนาม “Black January” เพื่อกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความรุนแรงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบวิชาชีพนี้
 
เหตุที่คณะจัดกิจกรรมเลือกเดือนมกราคม มาเป็นหลักในการรณรงค์ให้ยุติการคุกคามเสรีภาพในการทำงานของสื่อก็เนื่องเพราะในช่วงเดือนมกราคมระหว่างปี 2008-2010 มีเหตุการณ์คุกคามสื่อรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประทุษร้ายต่อผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ Lal Hemantha Mawalage ในปี 2008 
 
ยิ่งไปกว่านั้น และเป็นกรณีที่หนักหน่วงและกระตุ้นความรู้สึกร่วมคงเป็นผลมาจากการลอบสังหาร Lasantha Wickrematunga บรรณาธิการ Sunday Leader เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2009 และการอุ้มหาย Prageeth Ekneligoda คอลัมนิสต์และการ์ตูนนิสต์การเมืองคนดังของศรีลังกา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2010
 
ความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อมวลชนศรีลังกา ในประเด็นที่ว่านี้ไม่ได้เป็นไปอย่างโดดเดี่ยวตามลำพังเฉพาะในระดับท้องถิ่นของศรีลังกาที่มี Free Media Movement Sri Lanka (FMM) เป็นองค์กรนำเท่านั้น หากยังแวดล้อมและได้รับการสนับสนุนร่วมมือในการกระตุ้นเตือนจากองค์กรแนวร่วมสื่อระดับนานาชาติ 
 
โดยเฉพาะ South Asia Media Solidarity Network (SAMSN) องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนในภูมิภาคเอเชียใต้ และจาก CPJ (The Committee to Protect Journalists) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก รวมถึง International Federation of Journalists (IFJ) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นว่าด้วยสวัสดิภาพ ความปลอดภัยและเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพของนักสื่อสารมวลชนทั่วโลกด้วย
 
กิจกรรมรณรงค์ “Black January” เพื่อปลุกสำนึกว่าด้วยสวัสดิภาพของสื่อนี้ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2012 จากความร่วมมือระหว่าง FMM กับ IFJ และ SAMSN หลังจากพบว่าสถานการณ์การคุกคามสื่อในศรีลังกามีแนวโน้มรุนแรงและเลวร้ายหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ โดยจากการสำรวจของ FMM ในช่วงตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมามีนักสื่อสารมวลชนโดนประทุษร้ายรวมกว่า 140 กรณี และมีสื่อมวลชนเสียชีวิตจากการถูกคุกคามนี้ 17 ราย
 
ที่สำคัญและเป็นประเด็นให้ต้องรีบสร้างความตระหนักรู้โดยด่วนก็คือทุกกรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาพิจารณาโทษได้แม้แต่รายเดียว และทำให้สังคมศรีลังกา ซึ่งถูกประเมินว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางอยู่ก่อนแล้ว ตกอยู่ในภาวะที่ถูกจับตามองมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดบังและไม่ให้ข้อมูลของเจ้าหน้ารัฐในประเด็นล่อแหลมเช่นนี้
 
กิจกรรมรณรงค์ “Black January” ดำเนินมาถึงปี 2016 ซึ่งถือเป็นปีที่ 5 ที่แม้จะได้รับความสนใจจากประชาคมนักสื่อสารมวลชนและประชาชนทั่วไปพอสมควร ขณะเดียวกันอัตราการคุกคามสื่อสารมวลชนในช่วงที่ผ่านมาก็ลดต่ำลง เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกลากให้ออกจากมุมอับที่เต็มไปด้วยเงามืด มาสู่แสงสว่างและการรับรู้ของสาธารณะมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงใจ
 
หากแต่ในมิติของการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของนักสื่อสารมวลชนที่สูญหาย รวมถึงการสืบค้นติดตามทางคดีเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กลับคืนดูจะเป็นประเด็นที่ห่างไกลออกไป
 
ขณะที่โปสเตอร์รณรงค์ภายใต้ข้อความ “Never Again Black January” แม้จะเป็นเครื่องเตือนความรู้สึกสำนึกได้ แต่ก็แฝงด้วยความหดหู่และการร่ำร้องที่ยากจะมีใครได้ยิน
 
บางทีประชาคมสื่อสารมวลชนและสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา อาจเป็นเพียงภาพสะท้อนเล็กๆ ที่ดำเนินไปในสังคมนั้นๆ ว่าก้าวเดินไปท่ามกลางกรอบโครงความคิดอ่าน และมีดุลยพินิจในการพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างไรได้เหมือนกันนะคะ