วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > พีเอฟพีเปิดเกมรุก AEC ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง

พีเอฟพีเปิดเกมรุก AEC ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง

 
หลังจากที่ประมงไทยได้รับเทียร์ 3-ใบเหลือง จากคณะกรรมการจากสหภาพยุโรปไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 และให้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานการทำประมงไทย 6 เดือน ดังนั้นเป็นที่น่าจับตามองว่าระหว่างวันที่ 18-23 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานั้น การตรวจสอบเพื่อประเมินผลงานการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ฟิชชิ่ง อียูจะสรุปผลออกมาเป็นอย่างไร
 
ขณะที่บริษัทชั้นนำอย่าง พี.เอฟ.พี. ออกมาแถลงข่าวและตั้งเป้าหมายทิศทางการดำเนินงานทางธุรกิจว่าจะทำให้กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งโตขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมลุยตลาดอาเซียนอย่างเต็มตัวเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี
 
ทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี. ออกมายอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยสวยนัก พร้อมทั้งเข้าใจภาครัฐเพราะการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลยังอัดเม็ดเงินเข้าระบบซึ่งทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไป
 
ซึ่งในปีนี้บริษัทยังตั้งเป้ายอดขายรวมที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่มาพร้อมกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างให้ครอบคลุมและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยสัดส่วนการจำหน่ายภายในประเทศอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกต่างประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์ 
 
แต่ทั้งนี้ประมาณการณ์ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งตายตัว ซึ่งต้องอาศัยการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจและสภาพคล่องของตลาดเป็นหลัก โดยสัดส่วนตัวเลขดังกล่าวยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามที่เห็นสมควร
 
เมื่อดูคำอธิบายจากนายใหญ่ของ พี.เอฟ.พี. แล้วเห็นได้ชัดว่าลึกๆ แล้วก็ยังคงมีความไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหากจะมองหาประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงนั้นยากเต็มที
 
กระนั้นการทำตลาดต่างประเทศของ พี.เอฟ.พี. จะให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากกว่า เมื่อเห็นว่ามีช่องทางที่จะสามารถใช้ศักยภาพของบริษัทได้อย่างเต็มที่
 
ทั้งนี้ตลาดต่างประเทศของ พี.เอฟ.พี. จะเน้นที่ 3 กลุ่มหลักคือ ตะวันออกกลาง ที่มีรายได้ 2-3 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโตเป็นไปในแนวทางที่ดี ประกอบกับการได้มาตรฐานอาหารฮาลาลทำให้ง่ายต่อการเติบโต กลุ่มที่สองคือ จีนมีรายได้ 15 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มที่สาม CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ที่แม้จะมีสัดส่วนรายได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 250-300 ล้านบาท นอกเหนือจากนี้ตลาดต่างประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สเปน ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่มากเท่ากับตลาดในเอเชียก็ตาม 
 
โดยเฉพาะประเทศกัมพูชามีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างจะมั่นคง เป็นประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งภาพรวมของประเทศเวียดนามมีส่วนสำคัญที่ทำให้ พี.เอฟ.พี. มีความคิดที่จะลงทุนสร้างโรงงานการผลิตในเวียดนามด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศเวียดนาม 3 ราย และจะพิจารณาเลือก 1 ราย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายในช่วงเวลา 3-5 ปี พร้อมสร้างโรงงานนี้ให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปและอเมริกา
 
กระนั้น พี.เอฟ.พี. มีแผนที่จะปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่งจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท สำหรับการออกสินค้ากลุ่มใหม่ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนวัยทำงานที่มีความเร่งรีบตลอดเวลา 
 
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกรับประทานอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์ของการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในอาหารที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอยู่ในขณะนี้ Retort Pouch อาหารพร้อมทาน ซึ่งเป็นอาหารแห้งที่พร้อมทานโดยไม่ต้องแช่แข็ง ที่ถูกพัฒนาและวิจัยเพื่อรองรับตลาดสุขภาพโดยตรง
 
ทั้งนี้ช่องทางการจัดจำหน่ายสำหรับตลาดในประเทศที่ยังคงมุ่งเน้นที่ตลาดสดแต่จะเจาะลึกถึงระดับอำเภอ รวมไปถึงโมเดิร์นเทรด และกลุ่ม Horeca เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า 
 
และสำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัท พี.เอฟ.พี. จะแบ่งช่องทางการจำหน่ายออกเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ Super Market ในต่างประเทศ ร้านอาหาร รวมไปถึงผู้นำเข้ารายใหญ่ที่มีมากกว่า 21 ประเทศ และจะขยายตลาดใหม่ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV และประเทศในตะวันออกกลาง
 
นอกเหนือไปจากกลยุทธ์เรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้ว พี.เอฟ.พี. ยังจัดแคมเปญเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีขึ้นเพื่อตอบแทนลูกค้า อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นยอดขายรวมไปถึงสร้างการรับรู้และการจดจำในแบรนด์พีเอฟพีให้แก่กลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งการเดินหน้าเต็มสูบก็น่าจะทำให้ พี.เอฟ.พี. บรรลุเป้าหมายไม่ยาก
 
แม้ว่าหมุดหมายของ พี.เอฟ.พี. จะดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเต็มไปด้วยกลยุทธ์ หากแต่ยังต้องรอผลการประเมินจากอียู ว่าไทยจะได้รับการปลดล็อกเทียร์ 3-ใบเหลืองหรือไม่ และภาครัฐจะมีมาตรฐานใดๆ ออกมาเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว 
 
เพราะเสถียรภาพในเรื่องการส่งออกสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าทะเลแปรรูปนั้น จะสามารถสร้างความมั่นใจทั้งต่อนักลงทุนและผู้บริโภคได้ เนื่องจากยังมีห่วงโซ่การผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันซึ่งมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ผลกระทบจากการได้รับใบเหลืองจากอียูนั้น ไม่ใช่เพียงผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น หากแต่แรงกระเพื่อมยังส่งผลร้ายในมุมกว้าง ที่ไม่เพียงแค่ทำให้เป้าประสงค์ของ พี.เอฟ.พี. สั่นคลอนเท่านั้น หากหมายรวมถึงผู้ประกอบไทยรายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน