Column: AYUBOWAN
วันเวลาหมุนผ่านและแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเหลือเกินนะคะ ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวสวัสดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2559 ขอขอบพระคุณที่ติดตามและให้ความอนุเคราะห์คอลัมน์ AYUBOWAN และผู้จัดการ 360 ํ ด้วยดีตลอดมานะคะ
สำหรับศรีลังกา ขวบปีที่ผ่านมา ดำเนินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจเก่า-ใหม่ ด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Maithripala Sirisena ที่มีชัยชนะเหนือ Mahinda Rajapaksa ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2015 อย่างพลิกความคาดหมายของผู้สังเกตการณ์และผู้สันทัดกรณีทางการเมืองไม่น้อย
ขวบปีที่ผ่านมาของ Maithripala Sirisena เริ่มต้นด้วยความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกฎหมายให้สามารถรองรับกับพัฒนาการทางสังคมใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้มีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจและการคานอำนาจที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เพราะกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของศรีลังกาในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการประเมินว่าเปิดช่องทางให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือแม้กระทั่งขจัดคู่แข่งขันทางการเมือง การใช้อำนาจเอื้อหรือแสวงประโยชน์จากกลุ่มทุนที่กำลังรุกคืบเข้ามาในศรีลังกาผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ยังไม่นับรวมถึงความพยายามที่จะส่งผ่านและสืบต่ออำนาจในกลุ่มเครือข่ายที่ใกล้ชิดนักการเมืองด้วย
ความคาดหมายของสาธารณชนต่อบทบาทและผลงานของ Maithripala Sirisena มิได้จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นว่าด้วยการกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมของศรีลังกามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
แผนการปฏิรูป 100 วันของ Maithripala Sirisena ที่ประกาศหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ล่าช้าผิดเป้าหมายไปท่ามกลางความกังวลว่าถึงที่สุดแล้ว การสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ให้กับศรีลังการวมถึงคำมั่นสัญญาหลากหลายที่ Maithripala Sirisena ได้ประกาศในช่วงรณรงค์หาเสียงอาจกลายเป็นเพียงสายลมพัดผ่านที่ไม่สามารถจับต้องได้
Maithripala Sirisena อาจเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามแผนปฏิรูปที่วางไว้ได้ช้าไปสักหน่อย เพราะผู้คนที่เคยคุ้นชินกับระบอบเดิมต่างไม่แน่ใจว่าหนทางใหม่ที่ Maithripala Sirisena กำลังนำพาไปนั้นจะดำเนินไปสู่หนทางไหน และทำให้ Maithripala Sirisena ต้องใช้เวลาในช่วงหกเดือนแรกปรับแต่งและทำความเข้าใจกับกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ก่อนที่จะประกาศยุบสภาและเริ่มกระบวนการปฏิรูปด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม 2015 ที่ผ่านมา ล่าช้ากว่ากำหนดตามแผนปฏิรูปเดิมที่ระบุไว้ในเดือนเมษายน ออกไปถึง 4 เดือนทีเดียว
กระนั้นก็ดี ผลการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2015 ดูจะเป็นภาพสะท้อนความต้องการของสังคมศรีลังกา และเป็นประหนึ่งฉันทามติให้ Maithripala Sirisena เดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ได้ประกาศไว้ และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งหยุดชะลอการลงทุนในช่วงก่อนหน้ากลับเข้าสู่วิถีที่พร้อมเร่งระดมหนุนนำเศรษฐกิจครั้งใหม่
ภาพของโครงการลงทุนน้อยใหญ่เริ่มผุดขึ้นและสร้างความคึกคักครั้งใหม่ให้บังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของศรีลังกาอีกครั้ง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ดูจะสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ขณะที่ประเด็นว่าด้วยการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเริ่มถอยห่างออกไปจากความสนใจของผู้คนในสังคมเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี หมุดหมายที่ Maithripala Sirisena เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการหลังผ่านพ้นเวลาไปกว่า 1 ขวบปีบนตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศก็คือกรณีว่าด้วยการช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อผู้ประสบภัยจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนาน แม้ว่าสงครามกลางเมืองที่ว่านี้จะสิ้นสุดลงไปกว่า 6 ปี แล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจการเมืองของศรีลังกาที่มีความสำคัญก่อนการก้าวเดินสู่อนาคตครั้งใหม่ไม่น้อยเลย
ข่าวดีรับปีใหม่ที่ Maithripala Sirisena ได้ส่งถึงประชาชนชาวศรีลังกาในช่วงต้นปีนี้อยู่ที่การระบุว่าเขากำลังจัดตั้งกลไกเพื่อดำเนินการส่งมอบที่ดินให้แก่ประชาชนมากถึง 100,000 ราย ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้บรรดาผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศทั้งหมดจากผลพวงของสงครามกลางเมืองที่ได้ชื่อว่านองเลือดและยาวนานที่สุดของภูมิภาคเอเชียใต้ได้มีโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
เป็นการส่งสัญญาณตามคำประกาศที่ Maithripala Sirisena ได้ให้ไว้ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชาวทมิฬและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในสังคมศรีลังกาไม่น้อยเลย แต่ในด้านกลับกัน เขาก็ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากกลุ่มชาวพุทธสิงหลชาตินิยมหัวรุนแรงไปพร้อมกันด้วย
แม้ว่า Maithripala Sirisena จะได้รับการชื่นชมจากการที่เขาเริ่มเดินหน้าส่งคืนที่ดินทำกินบางส่วนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง แต่ Maithripala Sirisena ก็ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติต่อความล่าช้าในการผลักดันกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในประเทศ ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่ยังคงหยั่งรากลึกในสังคมศรีลังกาในปัจจุบัน
ภายใต้แผนการส่งมอบที่ดินให้กับผู้ประสบและรับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศแล้ว ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับมอบที่ดินสำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนจากรัฐบาลศรีลังกาในครั้งนี้ ยังรวมถึงผู้อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองที่เขตชายฝั่งเมือง “Puttalam” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าการรับมอบที่ดินจากรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงกลางปีนี้
การส่งมอบที่ดินให้กับผู้ประสบภัยสงครามทั้งในภาคเหนือ ที่มี Mannar และ Jaffna เป็นหัวใจหลักรวมถึงในภาคตะวันออกที่มี Trincomalee เป็นเมืองสำคัญ หรือแม้กระทั่งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่มี Puttalam เป็นหัวเมืองใหญ่ กำลังบ่งบอกทิศทางการพัฒนาครั้งใหม่ของศรีลังกาที่มีนัยความหมายอย่างยิ่ง และอาจเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจอุตสาหกรรมและโครงสร้างทางสังคมของศรีลังกาไปด้วยอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา
หรือหากกล่าวอย่างถึงที่สุด ศรีลังกากำลังวางเข็มมุ่งสู่การพัฒนาครั้งใหม่ที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ซึ่งหาก Maithripala Sirisena สามารถดำเนินการปฏิรูปทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตามที่เขาได้ประกาศไว้ เมื่อถึงวาระครบรอบ 70 ปีของการเป็นประเทศเอกราชในอีกสองปีข้างหน้า บางทีเราอาจได้พบเห็นศรีลังกาในมิติที่แตกต่างออกไปจากบริบทของวันนี้อย่างสิ้นเชิง
ขวบปีของ Maithripala Sirisena บนตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปีนี้ ดูจะเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นผู้นำที่จะนำความเปลี่ยนแปลงและปรองดองให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินที่อุดมด้วยทรัพยากรแห่งนี้ และเวลาที่เหลืออยู่กำลังจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จล้มเหลวบนบทบาทที่ว่านี้