ปันบุญ โดยทีทีบี เสริมความรู้แก่มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล สร้างคอนเทนต์ ให้โดนใจผู้บริจาคยุคดิจิทัล เพื่อการระดมเงินบริจาคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปันบุญ โดยทีทีบี สนับสนุนมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลให้ปรับตัวรับยุคดิจิทัล จัดสัมมนา “รู้ทันการตลาดยุคดิจิทัล เข้าถึงผู้บริจาครายใหม่ให้โดนใจ” ให้แก่มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารทางการตลาดยุคดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมฟังประสบการณ์ตรงจากมูลนิธิที่ปรับตัวสู่โลกดิจิทัล เพื่อให้การระดมเงินบริจาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และองค์กรมูลนิธิเติบโตอย่างยั่งยืน
นางพาจนา รุจิเรข รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจทหาร องค์กรรัฐ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ด้วยรูปแบบของการทำบุญที่ปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล การบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์เป็นตัวเลือกสำคัญที่ผู้บริจาคใช้ เพราะสะดวกไม่ต้องเดินทาง อีกทั้งเรื่องของ e-Donation ที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี จึงนับเป็นวิธีที่ง่าย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเมื่อการบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยม สิ่งสำคัญที่มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ต้องเร่งพัฒนา นั่นคือการสร้างคอนเทนต์อย่างไร เพื่อดึงดูดใจผู้บริจาคให้มีการบริจาคอย่างต่อเนื่อง หรือบริจาคเพิ่มมากขึ้น ปันบุญ โดยทีทีบี จึงจัดสัมมนา “รู้ทันการตลาดยุคดิจิทัล เข้าถึงผู้บริจาครายใหม่ให้โดนใจ” เพื่อแชร์ความรู้ให้กับมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารทางการตลาดยุคดิจิทัล สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปรับการสื่อสารของมูลนิธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้มูลนิธิเป็นที่รู้จักและมีผู้บริจาครายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
เภสัชกรหญิงโสภา พิมพ์สิริพานิชย์ (โซอี้) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิตอล ช็อตคัต จำกัด กล่าวว่า มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมของคนในโลกออนไลน์ และเรียนรู้วิธีการสื่อสารทางการตลาดยุคดิจิทัลในแต่ละแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้องค์กรและแคมเปญเป็นที่รู้จัก ส่งผลให้มีผู้บริจาครายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ การใช้ “คีย์เวิร์ด” ที่เกี่ยวกับเรื่องทำบุญ หรือการบริจาค ซึ่งสามารถใช้กูเกิล เทรนด์ ในการเสิร์ชคำค้น คำนิยม เทรนด์ที่กำลังมา เพื่อนำมาสร้างคอนเทนต์ที่จะสื่อสารออกไป โดยเทคนิคที่สำคัญคือ การเขียนพาดหัวให้น่าสนใจและทรงพลัง รวมทั้งการใช้รูปภาพที่ดึงดูด เพราะจะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตา และนำมาซึ่งการติดตามคอนเทนต์นั้น ๆ ต่อไป คอนเทนต์ที่น่าสนใจจะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1.เนื้อหาของสิ่งที่อยากจะบอก ต้องพูดและสื่อสารในสิ่งที่คนอยากรับรู้และทำให้เกิดการติดตาม 2.บริบทหรือองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพ หรือเสียงเพลงจะต้องสอดคล้องกับเนื้อหาและดึงดูดให้น่าสนใจ ที่สำคัญต้องเสิร์ฟคอนเทนต์ในเวลาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
นางสาวจันทิรา สมบุญเกิด ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทุนและการสื่อสาร มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิ ฯ เริ่มต้นทำการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งในช่วงนั้นจะเน้นการบริจาคออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์ และในปี 2561 ได้เพิ่มช่องทางในการบริจาคโดยนำ “ปันบุญ” เข้ามาช่วยซัพพอร์ตให้มูลนิธิ ฯ เติบโตมากขึ้น ซึ่งนับว่าตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริจาคที่เปลี่ยนไปและสอดคล้องกับการระดมทุนในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และโปร่งใส โดยตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 มียอดการบริจาคผ่านช่องทางดิจิทัลเติบโตถึง 40% ซึ่งทางมูลนิธิ ฯ ได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยมีการปรับวิธีการในการใช้คิวอาร์โค้ดไปยังช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งทำให้มียอดกลับมาบริจาคซ้ำถึง 15%
นางสาวสิริอนันต์ เฉลียวสันติกุล ผู้จัดการฝ่ายระดมทุน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มูลนิธิ ฯ ได้ปรับตัวหันมาระดมทุนผ่านดิจิทัล โดยการพัฒนาเว็บไซต์ให้มีความทันสมัย ลดการใส่ข้อความที่มากจนเกินไป ปรับการเล่าเรื่องโดยใช้รูปภาพ และหันมาพัฒนาคอนเทนต์ที่ตรงใจและดึงดูดผู้บริจาคมากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มคิวอาร์โค้ด ทั้งในส่วนออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริจาค ซึ่งจากการพัฒนาเว็บไซต์ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาค้นหาข้อมูลการบริจาคและใช้เวลาอยู่ในหน้าเว็บไซต์นานขึ้น จะเห็นได้ว่าการสร้างคอนเทนต์เพื่อนำเสนอแคมเปญที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม แต่ละแพลตฟอร์ม มีความสำคัญมาก รวมทั้งการเพิ่มเนื้อหาที่ดึงดูดและบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ สามารถเพิ่มยอดการรับชม นำไปสู่ยอดเงินบริจาคที่มากขึ้นตามไปด้วย
ด้านนางกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ทีเอ็มบี ธนชาต กล่าวว่า นับเป็นความท้าทายของมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลกับรูปแบบกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลซึ่งมีผลต่อจำนวนผู้บริจาค ดังนั้น เพื่อให้มูลนิธิสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคได้มากขึ้นและง่ายขึ้น สอดรับกับเทรนด์ของการบริจาคที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ ทีทีบีได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “ปันบุญ” เพื่อเป็นโซลูชันที่เข้ามาช่วยมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลในการบริหารจัดการอย่างครบวงจร สามารถรองรับการรับบริจาคทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ด้วยช่องทางการบริจาคที่ครบ ง่ายและสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการสแกนคิวอาร์โค้ด, e-Wallet รวมถึงบัตรเครดิตที่รองรับได้ทั้งการบริจาคเป็นรายครั้งและรายเดือน ทั้งยังช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่มูลนิธิในการจัดการงานเอกสารหลักฐานการลดหย่อนภาษีและการทำบัญชีปันบุญ โดยทีทีบี จึงเป็นผู้ช่วยให้มูลนิธิดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืน