วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > วังขนายจับมือคูโบต้า พัฒนาฟาร์มมิ่งไร่อ้อยอินทรีย์

วังขนายจับมือคูโบต้า พัฒนาฟาร์มมิ่งไร่อ้อยอินทรีย์

 
ท่ามกลางกระแสข่าว พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายในแง่ของผลกระทบต่อเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก
 
กระทั่งมีการรวมกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะเนื้อหาสำคัญของพระราชบัญญัติที่เปิดช่องให้เจ้าของจีเอ็มโอได้รับอนุญาตให้สามารถปล่อยพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดตามมา
 
ซึ่งพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงชีวิตเกษตรกรและเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของไทยอย่างไม่อาจประเมินค่าได้
 
ทั้งที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อภาคเกษตรของไทยพยายามอย่างหนักในการรณรงค์และสนับสนุนให้เกษตรกรของไทยหันมาปลูกพืชที่ใช้สารเคมีน้อยที่สุด หรือการทำเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อป้องกันปัญหาดินเสื่อมและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
 
แต่ในห้วงเวลานี้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันกลับเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป แอฟริกา และเอเชียบางประเทศ ต่างออกมาต่อต้านพืชที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรม เพราะตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมา มากกว่าผลดีที่จะตกแก่นายทุนบางรายเท่านั้น
 
กระนั้นยังมีความพยายามจากกลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย จับมือกับสยามคูโบต้าที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำโครงการวังขนาย-คูโบต้า พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
 
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร เพราะโครงการดังกล่าวจะช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ลดปัญหาด้านแรงงาน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด
 
ปัจจุบันกลุ่มวังขนายผลิตน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการจัดจำหน่ายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกต่างประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับน้ำตาลออร์แกนิคกลุ่มวังขนายสามารถผลิตได้ถึง 15,000 ตัน แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศ 75 เปอร์เซ็นต์ และส่งออก 25 เปอร์เซ็นต์ โดยส่งออกไปยังทวีปเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โอเชียเนีย นิวซีแลนด์ 
 
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดปี 2011 ปริมาณการผลิตน้ำตาลออร์แกนิคทั่วโลกมีอยู่ 339,133 ตัน โดยมีไร่อ้อยที่ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่ออร์แกนิคจำนวน 369,625 ไร่ โดยที่กลุ่มวังขนายมีพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ในขณะนี้ 30,000 ไร่ และมีเกษตรกรในโครงการจำนวนกว่า 1,000 ราย 
 
หมุดหมายของกลุ่มวังขนายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือการเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 
 
ดูเหมือนเป้าประสงค์ของกลุ่มวังขนายทำให้หมดเวลาที่จะลองผิดลองถูกเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา การเปิดรับเทคโนโลยีจากสยามคูโบต้าจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในห้วงเวลาที่เทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม
 
“การนำเครื่องจักรที่เหมาะสมกับอ้อยบ้านเรามาใช้จะช่วยลดกำลังแรงคน โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่จะลดลงได้ถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต้นทุนเราถูกอยู่แล้วเพราะออร์แกนิคไม่ต้องพึ่งปุ๋ย ซึ่งผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในอนาคต” บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย ระบุ 
 
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มศักยภาพขั้นตอนการผลิตน้ำตาลออร์แกนิคนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดิน กระทั่งขั้นตอนการเก็บเกี่ยว โอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายให้เห็นถึงความพยายามในการร่วมมือกันที่จะพัฒนาเครื่องจักรการเกษตรที่เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์
 
การจัดการเกษตรแบบครบวงจรสยามคูโบต้าที่เรียกว่า KUBOTA Solutions ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคด้านการเกษตร หรือ Agriculture Solutions และการจัดการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร หรือ Machinery Solutions ที่สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในไร่อ้อยอินทรีย์ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะปลูก การฝังปุ๋ย การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว 
 
ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยมีการทดสอบประสิทธิภาพกับไร่อ้อยแปลงสาธิต ทั้งนี้โอภาศคาดการณ์ว่าจะสามารถพัฒนาและส่งมอบเครื่องจักรให้แก่กลุ่มวังขนายเพื่อให้ใช้ไร่อ้อยอินทรีย์ได้ในปี พ.ศ. 2560 
 
ระยะเวลาราวปีเศษที่กลุ่มวังขนายต้องอดทนรอ ดูจะคุ้มค่าเมื่อเครื่องปลูกอ้อยใช้แรงงาน 1-2 คน ซึ่งสามารถทำงานได้สูงสุด 20 ไร่ต่อวัน ซึ่งนอกเหนือไปจากการลดต้นทุนด้านค่าแรงแล้ว เครื่องจักรในการเตรียมดินจะสามารถช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ในดิน ลดมลภาวะที่เกิดขึ้นขณะเครื่องจักรทำงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่ป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจะมีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตน้ำตาลออร์แกนิคที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค แน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะดีขึ้น 
 
การร่วมมือกันของกลุ่มวังขนายและสยามคูโบต้าที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจแบบ S-Curve ที่ให้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ และการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ 
 
แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือความยั่งยืนที่หลายคนปรารถนา แต่การปล่อยผ่าน พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ที่สนับสนุนการดัดแปลงพันธุกรรมพืชนั้นแม้เบื้องต้นจะช่วยแก้ปัญหาพืชผลไม่แข็งแรงได้ แต่นี่เป็นเพียงทางออกที่จะแก้ปัญหาของเกษตรกรเพียงระยะสั้นเท่านั้น ผลสะท้อนกลับของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้านั้น ไม่อาจสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของประเทศได้
 
ห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคเอกชนอย่างวังขนาย และสยามคูโบต้าจะดำเนินนโยบายที่ไม่เพียงแต่หวังผลทางธุรกิจ หากแต่จะยังประโยชน์และร่วมสร้างรากฐานที่ดีต่อเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน