สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อหวังจะใช้ความสามารถในด้านเศรษฐศาสตร์มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้น
ปัญหาเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยอุดมไปด้วยนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นการเติบโต และกลยุทธ์ที่จะสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน กระนั้นการเข้ามาของ ดร.สมคิด ยังคงดำเนินไปในแนวทางเฉกเช่นเดิม
จนกระทั่งวันนี้ 23 พฤศจิกายน 2558 ครบรอบ 3 เดือนของการเข้ามาทำงานของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ โดยมีภารกิจที่สำคัญประการแรกคือ หยุดยั้งภาวะการทรุดตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย ภาวะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความมั่นใจของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลง
ซึ่งทันทีที่ ดร.สมคิดเข้ามาทำงานก็มีทั้งมาตรการและนโยบายออกมาอย่างชัดเจน แต่กระนั้นนโยบายที่ออกมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในแนวทางเดียวกันว่า “นโยบายประชานิยม” ทั้งมาตรการเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้าน จัดสรรเงินให้แก่ตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท และเร่งรัดการลงทุนโครงการที่มีขนาดต่ำกว่า 1 ล้านบาท มาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี และมาตรการสุดท้ายคือการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเบื้องต้นงบประมาณที่รัฐส่งเข้าระบบเศรษฐกิจสูงถึง 5 แสนล้านบาท และมีผลในการใช้จ่ายเศรษฐกิจถึง 2 เท่า
โดย ดร.สมคิดกล่าวถึงกรณีดังกล่าวอย่างน่าสนใจไว้ในปาฐกถาพิเศษ “ยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ Thailand’s New S-Curve” ว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ การมองว่าเป็นประชานิยมนั้นไม่มีตรรกะและไม่เป็นความจริง ตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี แต่ไม่ควรห่อเหี่ยว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นขึ้น แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้นไม่ใช่เพียงแค่อาศัยมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ทุกภาคส่วนจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือด้วย
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวดูจะได้ผลจนทำให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจใจชื้นขึ้นมาเมื่อสภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ของไตรมาส 3 ปี 2558 ว่ามีอัตราการเติบโต 2.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ตัวเลข GDP อยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งการขยับขึ้นแม้จะเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ ดร.สมคิดประมาณว่าเป็นดัชนีที่ชี้วัดความมั่นใจต่อเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาที่เงียบเหงาเช่นนี้ เพราะตัวเลขดังกล่าวถือว่าดีมากแล้วสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย
กระนั้นปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลให้ตัวเลข GDP ดีดตัวขึ้นมาอย่างแผ่วเบานี้ น่าจะมาจากเสถียรภาพที่ค่อนข้างจะมีความมั่นคงทางการเมือง และการยุติกิจกรรมกีฬาสีภายในประเทศ แต่เหตุผลดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอที่จะให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เม็ดเงินที่ภาครัฐส่งลงไปพร้อมนโยบายดังกล่าวนั้นจะลงไปถึงพื้นที่ทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งนี่เองที่ทำให้ ดร.สมคิดไม่กังวลมากนักกับไตรมาสสุดท้ายของปี อีกทั้งยังคาดหวังว่า มีความเป็นไปได้ว่า GDP ในไตรมาสหลังของปีนี้อาจจะโตได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีสถานการณ์ที่น่าจะเป็นห่วงจากจีนจนกระทบมาถึงไทย ถึงกระนั้นทีมเศรษฐกิจก็ยังไม่วางใจ
เดิมทีตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายตั้งความหวังคือ เรื่องการส่งออกและคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจจะมีนโยบายหรือมาตรการเพื่อกระตุ้นตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดมา หากแต่ในห้วงเวลานี้การส่งออกของไทยกลับเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้ค่า เมื่อมองไม่เห็นว่าจะมีหนทางใดที่จะทำให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้น เพราะผลพวงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
และตัวเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลออกมาตรการที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายในประเทศให้มากกว่าเดิม นับเป็นโจทย์หลักที่ทีมเศรษฐกิจต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมาการลงทุนในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง 7-10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ปีที่แล้วภาคการลงทุนโตเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่ามาจากความมั่นใจของนักลงทุนและการรอมาตรการกระตุ้นจากทางภาครัฐ
ทั้งนี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิดกลับมองว่า ปีหน้าต้องเป็นปีแห่งการลงทุน เมื่อรัฐบาลมีมาตรการออกมาแล้ว แต่หากไม่มีการลงทุนมาตรการต่างๆ คงไม่มีความหมาย ฉะนั้นถึงเวลาที่นักธุรกิจต้องอัพเกรดตัวเอง พัฒนาสินค้าให้แข่งขันในตลาดได้ เพราะอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องนั้น เพราะการที่สินค้าขาดคุณภาพ ไม่มีจุดแข็ง ดังนั้นทางแก้ที่จะนำความยั่งยืนคือต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เข้าใจความต้องการของตลาด อย่าปล่อยให้สินค้าล้าสมัย และต้องไม่อาศัยหรือรอคอยการอ่อนค่าลงของเงินบาท
นอกเหนือไปจากการลงทุนที่ภาครัฐคาดหวังให้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะเกื้อหนุนให้การลงทุนนั้นสัมฤทธิผลได้ดีขึ้น คือการพัฒนาสินค้า
มาตรการแต่ละอย่างที่รัฐบาลประกาศออกมานั้นจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานจะเป็นไปในแนวดิ่งระดับจังหวัด ถึงตำบล ถึงหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของสังคมท้องถิ่นในแนวระนาบ
จะเห็นว่ามาตรการที่รัฐบาลส่งออกมากระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและในส่วนกลางนั้นจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ดังนั้นคำถามที่ตามมาแบบอัตโนมัติคือ เงินที่รัฐบาลนำมาหมุนเวียนในระบบนั้นมาจากแหล่งใด
ซึ่งล่าสุด ดร.สมคิดกล่าวในงานเปิดเวทีสัมมนาเรื่อง “Thailand Economic Outlook 2016” ว่าเม็ดเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G นั้น บางส่วนจะนำมาใช้ยกระดับฐานรากการเกษตร ที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อย
ดังนั้นอาจจะพอสรุปความได้ว่ามาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้นมุ่งเน้นเพื่อให้เกิด Local Economy ซึ่งถูกละเลยมานาน
กระนั้นประเด็นสำคัญที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องการที่จะยกเครื่องใหม่นั้น คือ S-Curve ซึ่งคืออุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน หากแต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังถดถอย
ทั้งนี้บรรดานักลงทุนต่างชาติมองว่า ไทยต้องพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักเดิม โดยการสร้างเสริมนวัตกรรมใหม่ให้มีมากขึ้น เช่น การใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมการบินที่จะสามารถรองรับ AEC ได้, Medical Hub ส่งเสริมความเข้มแข็งทางการแพทย์ และยา, Bio Tech
อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิดยังอธิบายเพิ่มเติมว่าจะจัดตั้งกองทุนเพื่อคัดสรร เชิญชวน ต่อรองกลุ่มนักธุรกิจที่จะเข้ามาสร้างอุตสาหกรรมในไทย และจะต้องตรึงกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้อยู่ในไทยต่อไป เพื่อให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา
นอกจากปีหน้าจะเป็นปีแห่งการลงทุนแล้ว ทีมเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของไทย การเกษตรต้องมีคุณภาพมากขึ้น เปลี่ยน S-Curve ใหม่เพื่อสร้างอนาคตข้างหน้า สร้างระบบ Infrastructure ใหม่เพื่อการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งทุกอย่างต้องเร่งดำเนินการก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเพิ่มขึ้นจากรัฐบาล จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยขนาดไหน นโยบายใหม่ที่ให้กลับไปบำรุงฟันเฟืองเดิมนั้น จะช่วยให้ไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ไกลเพียงใด รวมไปถึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพียงไตรมาสสุดท้ายของปีคำตอบคงจะปรากฏให้เห็น