วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ห้างญี่ปุ่นซุ่มกลยุทธ์ งัดแผนส่งท้าย-สู้ศึกปี 59

ห้างญี่ปุ่นซุ่มกลยุทธ์ งัดแผนส่งท้าย-สู้ศึกปี 59

 
กลุ่มทุนญี่ปุ่น ยักษ์ใหญ่ในสงครามค้าปลีกไทยกำลังส่งสัญญาณรุกตลาดครั้งสำคัญ  ทั้งการหวนคืนสมรภูมิศูนย์การค้าของกลุ่มอิออน โดยนำร่องเปิดตัว “อิออน ศรีราชา” โมเดลคอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกของอิออนในไทย ขณะที่ “โตคิว” เร่งปลุกปั้นสาขา 2 ในศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค เจาะทำเลกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก การเตรียมยกเครื่องของห้างอิเซตัน รวมถึง “ทาคาชิมาย่า” ที่จะเปิดตัวบิ๊กโปรเจ็กต์พร้อมๆกับ “ไอคอนสยาม” ในปี 2560 
 
ต้องถือว่าห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นเข้ามาบุกเบิกและฝังรากลึกในตลาดไทยอย่างยาวนานกว่า 50 ปี  เริ่มตั้งแต่ยุคไดมารู ประเดิมสาขาแรกในศูนย์การค้าราชประสงค์ หรือ “เซ็นทรัลเวิลด์” ในปัจจุบัน แต่ฝ่าด่านการตลาดแบบไทยๆ ไม่ได้และต้องปิดตัว แม้หนีไปเจาะทำเลใหม่ย่านศรีนครินทร์
 
จนกระทั่งปี 2528 ห้างยักษ์ญี่ปุ่นเข้ามาชิมลางตลาดพร้อมๆ กับ 3 ค่าย ประกอบด้วย “โซโก้” ที่เปิดยุทธศาสตร์สาขาแรกในอาคารอัมรินทร์พลาซ่า สี่แยกราชประสงค์ พื้นที่ 10,000 ตารางเมตร, “โตคิว” ปักหมุดในมาบุญครองเซ็นเตอร์ สี่แยกปทุมวัน พื้นที่ร่วม 12,000 ตารางเมตร และ “สยามจัสโก้” หรือ “อิออน” ในปัจจุบัน ซึ่งฉีกไปสร้างฐานย่านรัชดาภิเษก
 
หลังจากนั้น “อิเซตัน” จึงเข้ามาปักหมุดภายในโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ และยึดฐานที่มั่นสาขาเดียวในไทย ขณะที่ “เยาฮัน” เปิดสาขาแรกในฟอร์จูนทาวน์และเป็นสาขาเดียวในไทยก่อนปิดตัวหลังเจอวิกฤตการณ์การเงินปี 2540 จนล้มละลาย
 
ช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนค้าปลีกแดนอาทิตย์อุทัยอยู่ในจังหวะซุ่มเก็บประสบการณ์ ทบทวนบทเรียนและหากลยุทธ์สู้เกมตลาดแบบไทยๆ ปี 2557-2558 ดูเหมือนเป็นโอกาสการกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะ “อิออนกรุ๊ป” กลายเป็นกลุ่มที่ประกาศแผนและเป้าหมายเชิงรุกอย่างชัดเจน 
 
มาซามิสึ  อิกุตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า วงการค้าปลีกในเมืองไทยมีผู้เล่นอยู่หลายค่าย หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “อิออน” ซึ่งเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเป็นเวลานาน โดยหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อิออน ไทยแลนด์ จำกัด และหันมาโฟกัสธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ “แม็กซ์แวลู” เปิดสาขาแรกที่ถนนนวมินทร์เมื่อปี 2550 จนปัจจุบันมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 77 สาขา แบ่งเป็นแม็กซ์แวลูซูเปอร์มาร์เก็ต 27 สาขา และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต แม็กซ์แวลู ทันใจ 50 สาขา รวมทั้งตั้งเป้าขยายครบ 500 สาขาภายในปี 2563 แบ่งเป็น แม็กซ์แวลู 100 สาขา และแม็กซ์แวลู ทันใจ 400 สาขา
 
ส่วนโครงการ “อิออน ศรีราชา” โมเดลคอมมูนิตี้มอลล์  ใช้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า NSC (Neighborhood Shopping Center) และ JAPANESE Style ทำให้การออกแบบ แม็กเน็ต ร้านค้าและสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นรูปแบบญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งตามแผนระยะ 3-5 ปี จะขยายเพิ่มปีละ 1 สาขา 
 
“บริษัทมีการพัฒนาตลอดเวลา ทั้งการจัดการ บริการ และการกระจายสาขา เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยวางยุทธศาสตร์เชิงรุก ยกเครื่องร้าน สินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการบริหารพื้นที่เช่า เพื่อรับมือการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงยิ่งขึ้นและมีแผนกระโดดลงมาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในเซกเมนต์คอมมิวนิตี้มอลล์  ก่อนขยายสู่โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในอนาคต” มาซามิสึ  อิกุตะ กล่าว 
 
ด้าน “อิเซตัน” ปักหลักในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ แม้ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารเคยระบุว่า มีแผนขยายธุรกิจในไทย เปิดสาขาแห่งที่ 2 แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชัดเจน ขึ้นอยู่กับโอกาสและความเหมาะสม  ซึ่งจนถึงขณะนี้อิเซตันยังไม่มีข้อสรุป เพราะปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองของไทย 
 
ที่ผ่านมา อิเซตันเน้นกลยุทธ์ปรับโฉมโดยทยอยยกเครื่องพื้นที่ทั้ง 7 ชั้น 27,000 ตร.ม. ตั้งแต่ปี 2555 เริ่มจากแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกแฟชั่น เครื่องสำอาง แอ็กเซสซอรี และโซนพื้นที่ร้านค้า เช่น ร้านอาหาร รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น เปิดตัวบัตรสะสมแต้มที่ใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าได้ทันที และปลายปีนี้วางแผนจะปรับพื้นที่รอบใหญ่อีกครั้ง รวมทั้งอัดแคมเปญส่งท้ายปี เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายช่วงเทศกาล 
 
สำหรับ “โตคิว” เมื่อเร็วๆ นี้ ทุ่มงบลงทุน 400 ล้านบาท เปิดห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์พาร์ค พื้นที่ 13,000 ตารางเมตร จำนวน 2 ชั้น ภายในศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค โดยเน้นการออกแบบ การดิสเพลย์สินค้าและพื้นที่ภายในที่เน้นความสะดวก สดใส มีสีสันตามสไตล์ญี่ปุ่น สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น เช่น แบรนด์ Miss KYOKO รองเท้าเพื่อสุขภาพ, ร้านเดนิมและรองเท้าแฮนด์เมด about 79 และสินค้าแฟชั่นและแอ็กเซสซอรีสำหรับสตรี plus plus  
 
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาไม่ถึงปีของโตคิวสาขา 2 อาจต้องใช้เวลาปลุกตลาดย่านศรีนครินทร์ ในฐานะห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียม เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบี หากเปรียบเทียบกับโตคิว สาขาแรกในเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งชอปปิ้งสตรีทหนาแน่น สี่แยกปทุมวันต่อย่านราชประสงค์ มีเส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่า
 
แต่ที่กำลังจับตาและเป็นกลุ่มที่สร้างความตื่นเต้น กระตุ้นให้ยักษ์ห้างสรรพสินค้า ทั้งไทยและต่างชาติรีบปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ หนีไม่พ้นค่าย “ทาคาชิมาย่า” เนื่องจากทาคาชิมาย่าถือเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมที่ได้รับการยอมรับและยกย่องชื่นชมมากที่สุดห้างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมานานกว่า 180 ปี ขณะนี้มี 19 สาขาในประเทศญี่ปุ่นและอีก 3 สาขาอยู่ในสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และไทเป มียอดขายมากกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 300,000 ล้านบาท
 
ตามแผน ทาคาชิมาย่าจะเปิดสาขาในกรุงโฮจิมินห์ในปี 2559 และเปิดสาขาประเทศไทย พร้อมๆ กับอภิมหาโครงการริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม” ในปีถัดไป  พื้นที่ 7 ชั้น  36,000 ตร.ม. และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนขยายสาขาในไทย เนื่องจากตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะมีสาขาเจาะกลุ่มอาเซียน 5 สาขา
 
ทั้งหมดยังไม่นับรวมห้างสไตล์ญี่ปุ่นของทุนไทยอย่าง “เจพาร์ค ศรีราชา” ในเครือสหพัฒน์ และศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัยที่กลุ่มทีซีซีแลนด์สั่งเพิ่มแม็กเน็ต  “SNOW TOWN BANGKOK” เมืองหิมะจากประเทศญี่ปุ่นแห่งแรกในไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
เหนือสิ่งอื่นใด สงครามค้าปลีกกำลังโหมโรงอย่างร้อนแรงส่งท้ายปี 2558 และแนวโน้มจะดุเดือดยิ่งขึ้นในปีหน้า