วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “เทสโก้โลตัส” หนีตาย เปลี่ยนโหมดสู่ “ไลฟ์สไตล์มอลล์”

“เทสโก้โลตัส” หนีตาย เปลี่ยนโหมดสู่ “ไลฟ์สไตล์มอลล์”

 
แม้ยังไม่มีสัญญาณชี้ชัดจากบริษัทแม่ในสหราชอาณาจักร แต่ “เทสโก้โลตัส” ในไทยประกาศเดินหน้าปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การปรับโฉมสาขากลุ่ม “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” เข้าสู่โหมด”ไลฟ์สไตล์มอลล์” ที่มีจุดขายหลากหลายมากขึ้น เพิ่มแม็กเน็ตตามเทรนด์ใหม่ๆ ของกลุ่มลูกค้า หลังจากทุ่มงบพันล้านปรับโฉม “บางใหญ่ พลัสมอลล์” ผลักดันรายได้ของศูนย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ยอดขายสินค้า แต่รวมถึงค่าเช่าพื้นที่แบบพุ่งพรวด
 
แน่นอนว่า บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น จำกัด ในฐานะผู้บริหาร “เทสโก้โลตัส” ในประเทศไทย ต้องรีบสร้างผลการดำเนินงาน เพื่อหนีภาวะสุ่มเสี่ยงการตัดขายกิจการ ซึ่งล่าสุด บริษัทแม่กลุ่มเทสโก้ยังอยู่ฐานะ “หนี้ท่วม” และเพิ่งประกาศขายที่ดินที่เตรียมก่อสร้างซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 14 โครงการในอังกฤษให้กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ จำนวนเงินกว่า 250 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 13,500 ล้านบาท เพื่อนำมาปลดภาระหนี้สินและลดการขยายสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกันบางพื้นที่ 
 
ที่สำคัญ ยังเจอปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ปัญหาพฤติกรรมการจับจ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การหันมาใช้บริการชอปปิ้งออนไลน์และเลือกจับจ่ายสินค้าในร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ขณะที่ลดความถี่ในการเดินทางไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ นอกเมือง เหลืออาทิตย์ละครั้งและแนวโน้มจะลดลงอีก 
 
เทสโก้โลตัส จากอดีตยึดตำแหน่งเจ้าตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ผู้นำกลยุทธ์สินค้าราคาถูก ต้องปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ เร่งเจาะตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งบริษัทแม่อาจมีปัญหาใหญ่ เนื่องจากสะสมที่ดินเพื่อขยายไฮเปอร์มาร์เก็ตไว้จำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 49 โครงการ การขยายธุรกิจจึงผิดแผนพลาดเป้าทั้งหมด
 
สำหรับเทสโก้โลตัสในประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขาค้าปลีกรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800 สาขา แบ่งเป็นสาขากลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตและเอ็กซ์ตร้า พื้นที่  8,000-12,000 ตารางเมตร จำนวน 170 สาขา กลุ่มสาขาขนาดเล็กหรือ “เอ็กซ์เพรส” 1,500 สาขา ที่เหลืออีก 130 สาขาเป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น รูปแบบดีพาร์ตเมนต์สโตร์  รูปแบบสาขาคุ้มค่า รูปแบบโลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยมีการเปิดตัวและทดลองตลาด เพื่อหารูปแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้า 
 
บางรูปแบบเปิดและพับโครงการ เช่น ร้าน 365 ที่เดิมตั้งเป้าให้เป็นร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์เต็มรูปแบบ แต่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนกับสาขาเอ็กซ์เพรสและเจอความแข็งแกร่งของเจ้าตลาดอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” บวกกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งกลุ่มแฟมิลี่มาร์ทและลอว์สัน 108 ทำให้เทสโก้โลตัสต้องยอมถอย และกลับมาใช้โมเดลเอ็กซ์เพรสเป็นตัวบุกตลาด
 
ดังนั้น การปรับกลยุทธ์และถือเป็นทิศทางหนีตายเพื่ออนาคตจึงพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มไลฟ์สไตล์ในสาขาขนาดใหญ่ โดยลดพื้นที่ร้านเทสโก้โลตัส เพื่อเพิ่มพื้นที่เช่าและเติมแม็กเน็ตใหม่ๆ รองรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต “กิน ดื่ม เที่ยว” ขณะที่เร่งขยายสาขาเอ็กซ์เพรสในทุกชุมชนรองรับกลุ่มลูกค้าหลักที่ต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่สร้างช่องทางออนไลน์มากขึ้น 
 
แมทธิว สไควร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศูนย์การค้าเทสโก้ โลตัส บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กล่าวว่า เทสโก้โลตัสบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าหรือพื้นที่เช่าจากจำนวนสาขาทั่วประเทศ 1,800 แห่ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 731,000 ตารางเมตร ถือเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น และถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้เทสโก้ โลตัส จำนวนมาก
 
ทั้งนี้ ตามแผนในปี 2559 เทสโก้โลตัสเตรียมงบประมาณ 1,800 ล้านบาท  เพื่อปรับปรุงพื้นที่เช่า หรือ โซนศูนย์การค้า เพื่อขยายพื้นที่รองรับร้านค้าแบรนด์ไทยและต่างประเทศ และเฉพาะปีนี้ใช้งบ 800 ล้านบาท ทยอยปรับปรุงพื้นที่ในเทสโก้ โลตัส รูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 16 สาขา รวมถึง 5 สาขาที่เปิดใหม่ ได้แก่ ใน จ.สุรินทร์ 2 แห่ง นครศรีธรรมราช 2 แห่ง และสมุทรปราการ 1 แห่ง
 
ขณะเดียวกัน บริษัทวางกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างการเติบโต โดยเฉพาะการเพิ่มพันธมิตรและแบรนด์ใหม่ๆ ในมอลล์ จากปัจจุบันมีผู้เช่าพื้นที่จากแบรนด์สินค้าต่างๆ กว่า 2,000 แบรนด์ รวมจำนวนร้านค้า 8,500 ร้านทั่วประเทศ โดยวางแนวการบริหาร 3 หลัก 
 
คือ 1. แบ่งพื้นที่ในโซนอาหาร ทั้งร้านอาหาร-เครื่องดื่มแบรนด์ไทยและต่างประเทศ สัดส่วน 30-35% 2. โซนความสนุกในการใช้บริการ เช่น มีสนามเด็กเล่น สวนน้ำ โรงเรียนสอนทักษะต่างๆ โรงหนัง และ 3.โซนแฟชั่น ทั้งร้านเสื้อผ้าแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ซึ่ง 2 โซนหลังแบ่งสัดส่วนตามทำเล พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
 
“เราบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าในร้านค้าของเทสโก้ โลตัสทุกรูปแบบ ตั้งแต่ร้านค้าแบบเอ็กซ์เพรสที่บางแห่งมีร้านกาแฟขนาดเล็กเช่าพื้นที่ให้บริการลูกค้าและผู้เช่ารายย่อยประเภทอื่นๆ จนถึงสาขาที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ ซึ่งสามารถให้ร้านค้าต่างๆ เช่าพื้นที่ได้ และพลัส มอลล์ ซึ่งมีร้านค้าทุกรูปแบบครบวงจร เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด”
 
ล่าสุด บริษัทนำแบรนด์ดังระดับโลกที่ยังไม่เคยเข้ามาให้บริการให้ประเทศไทยอีก 2 แบรนด์ได้แก่ ดีแคธลอน ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬาประเภทต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดยดีแคธลอน จะเปิดร้าน 5 สาขาที่เทสโก้ โลตัส จากปัจจุบันมีร้านค้าทั้งหมด 850 สาขาใน 22 ประเทศทั่วโลก 
 
อีกแบรนด์ คือจาโตมิ ฟิตเนส ซึ่งเป็นฟิตเนสคลับจากประเทศโปแลนด์ มี 70 สาขาทั่วโลก และเข้ามาเปิดสาขาแฟลกชิปที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า พระราม 4  นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับแบรนด์ต่างๆ อีก 5 ราย ทั้งกลุ่มอาหารและสินค้าแฟชั่น  
 
แผนปรับกระบวนทัพของเทสโก้โลตัสถือเป็นสัญญาณและทิศทางใหม่ของกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต  แม้กระทั่งกลุ่มอิออนเพิ่งประกาศบุกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อสร้างจุดขายและจุดแข็งใหม่ 
 
มองด้านหนึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อหนีตาย แก้เกมพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ส่วนอีกด้านประกาศแนวรบรุกเข้าสู่สงครามค้าปลีกสนามใหม่ ทั้งศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์อย่างเต็มรูปแบบ