Column: AYUBOWAN
บรรยากาศช่วงปลายฝนต้นหนาวหลังวันออกพรรษาคงทำให้ผู้คนในสังคมไทย เตรียมกายเตรียมใจเข้าสู่โหมดแห่งการเฉลิมฉลองหลังงานบุญใหญ่ไม่น้อยเลยนะคะ เพราะนอกจากจะมีงานกฐิน ลอยกระทง และวันคริสต์มาส ปีใหม่ ทยอยมาเข้าคิวรอแล้ว ดูเหมือนพี่ไทยของเราก็พร้อมจะร่วมสนุกได้ในทุกเทศกาลกันเลย
ความสนุกสนานบันเทิงเริงใจ ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ศาสนาเลยก็ว่าได้นะคะ เพียงแต่จะดำเนินไปในรูปแบบและด้วยท่วงทำนองสูงต่ำหนักเบาอย่างไรเท่านั้น และดูเหมือนว่าเครื่องดื่มที่มีดีกรีจะเป็นอีกปัจจัยที่ซึมแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเกือบทุกวัฒนธรรมก็ว่าได้
ความเป็นไปของเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยดีกรีนี้ หากพิจารณามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ก็คงพบว่าเครื่องดื่มนี้มีบทบาททางสังคมมาอย่างยาวนานย้อนหลังกลับไปได้ตั้งแต่ยุคหินหรือกว่า 10,000 ปีกันเลยทีเดียว
พัฒนาการของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เริ่มจากการหมัก มาสู่การบ่มและกลั่น กลายเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ความก้าวหน้าในวิทยาการแขนงหนึ่งของมนุษยชาติ และผู้คนในแต่ละสังคมส่วนใหญ่ก็จะอาศัยพึ่งพาวัตถุดิบหรือผลผลิตที่มีอยู่ในพื้นถิ่นนั้นมาเป็นต้นทางในการหมัก บ่ม ให้ได้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใจต้องการ
แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีกิจกรรมหมักบ่มเพื่อประกอบเป็นสุราเมรัย อาจจะกำเนิดเกิดขึ้นและเป็นกิจกรรมในครัวเรือน แต่ด้วยเหตุที่สังคมขยายใหญ่และรัฐจำเป็นต้องแสวงหารายได้ กิจกรรมหมักบ่มสุราเมรัยในหลายประเทศจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมผูกขาดที่ปิดกั้นและลดทอนคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ล่มสลายไปโดยปริยาย ภายใต้เหตุผลและเงื่อนไขว่าด้วยการดูแลสุขภาพ ควบคุมคุณภาพและจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชากร ซึ่งฟังดูน่าขัน ควบคู่กับการรณรงค์ลดละเลิกที่ดำเนินไปอย่างเอิกเกริก
ไม่นับรวมถึงกรณีหน่วยงานที่นำเงินภาษีสรรพสามิตจากอุตสาหกรรมสุรา ซึ่งถูกเรียกรวมว่า เงินภาษีบาป มาใช้รณรงค์ในกิจกรรมหลากหลายและกำลังเป็นกรณีวิพากษ์ในความถูกต้องโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
สำหรับศรีลังกาซึ่งมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักและมีหลักเกณฑ์ว่าด้วยการงดจำหน่ายสุราทุกชนิดในวันอุโบสถ Poya หรือวันที่พระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือน รวมถึงวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาอื่นๆ ในสังคมไม่ว่าจะเป็นฮินดู อิสลาม คริสต์ แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำถิ่นของศรีลังกาที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศในนาม Arrack กลับมีท่วงทำนองและความเป็นไปที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
เพราะแม้ Arrack จะเป็นสุราที่มีการผลิตอยู่ในพื้นที่ถิ่นอื่น ทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่กรรมวิธีและวัตถุดิบตั้งต้นก็แปลกแตกต่างกันออกไป โดยในบางพื้นที่ อาจใช้กากน้ำตาล หรืออ้อย มาบ่มกลั่น ซึ่งก็จะทำให้มีความใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแบบ rum ขณะที่บางถิ่นคำว่า arrack ก็มีความหมายโดยกว้างสำหรับเรียกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวม
แต่ Arrack ที่ผลิตในศรีลังกามีลักษณะเฉพาะและคงเอกลักษณ์จากการใช้น้ำจากดอกมะพร้าวมาหมัก บ่มและกลั่น โดยศรีลังกาถือเป็นผู้ผลิต Arrack จากมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีกำลังการผลิตรวมในแต่ละปีมากกว่า 50 ล้านลิตร และมิได้มีจำหน่ายจำกัดเฉพาะในศรีลังกาเท่านั้น หากกำลังเข้าไปสร้างตลาดในต่างแดนโดยเฉพาะในยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รวมถึงการเข้าไปเปิดตลาดในอเมริกาด้วย
กระบวนการผลิตที่เริ่มจากการใช้น้ำจากดอกมะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ Arrack ถูกตีความและใช้เป็นช่องทางเลี่ยงบาลี หรือคำสอนของบางศาสนา ที่ห้ามการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากการหมักบ่มผลไม้ หรือธัญพืชไปโดยปริยาย
ความแตกต่างของ Arrack จากศรีลังกาทำให้นักดื่มสายแข็งให้นิยามรสชาติของ Arrack ว่าเป็น “ส่วนผสมระหว่าง whiskey และ rum มีความคล้ายคลึง แต่ก็มีความแตกต่างอย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาเดียวกัน” ซึ่งคงยากที่จะบรรยายออกมาเป็นถ้อยความและตัวอักษร หากต้องพิสูจน์ลิ้มลองและเก็บรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเองมากกว่านะคะ
ช่วงชั้นและประเภทของ Arrack ในศรีลังกายังมีการจำแนกแยกย่อยตามคุณภาพและระยะเวลาการหมักบ่ม ซึ่ง Arrack ชนิดพรีเมียม (Premium Aged) อาจใช้เวลาตั้งแต่ 5-15 ปี เพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติของ Arrack จากน้ำดอกมะพร้าวละมุนละไม หรือแบบ Premium clear ที่จะไม่ผ่านระยะเวลาการบ่มแต่จะกลั่นหรือกรองหลายครั้งเพื่อปรับรสชาติให้นุ่มนวลขึ้น ขณะที่เกรดสามัญจะเป็นการนำ Arrack ไปผสมกับสุรากลั่นชนิดอื่นๆ
แม้ว่านักดื่มสายแข็งจำนวนไม่น้อยจะนิยมดื่ม Arrack แบบเพียวๆ เพื่อสัมผัสกลิ่นรสและความหนักแน่นจากการหมักบ่มอย่างพิเศษ แต่สำหรับนักดื่มทั่วไปการผสม Arrack เข้ากับ ginger beer เครื่องดื่มประเภทโซดายอดนิยมของศรีลังกา ก็เป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ของประสบการณ์การดื่ม Arrack แบบศรีลังกา
ขณะเดียวกัน การผสม Arrack กับน้ำ โซดา หรือเครื่องดื่มประเภทโคลา รวมถึงการนำ Arrack ไปผสมกับน้ำมะนาวหรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยว ก็เป็นวิถีที่ไม่มีใครปฏิเสธ ขณะที่การนำ Arrack เข้าไปทดแทนสัดส่วนของ rum และ whiskey ในเครื่องดื่ม cocktails ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดื่ม Arrack นี้
ท่ามกลางกระแสการบริโภคน้ำมันมะพร้าวชนิดสกัดเย็น ที่มีสรรพคุณและประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ในห้วงยามที่ความตื่นตัวเรื่องสุขภาวะกำลังขึ้นอยู่ในกระแสสูง บางทีเรื่องราวของ Arrack ซึ่งมีที่มาจากน้ำดอกมะพร้าวอาจจะดูขัดกันในท่วงทำนอง
หากแต่เมื่อเราท่านจะดื่ม Arrack สุรากลั่นจากน้ำดอกมะพร้าวกันอย่างพอสมควรและด้วยการประมาณ ภายใต้นิยาม “ดื่มเพื่อสุขภาพ” ก็อาจจะเข้าที่เข้าทางบ้างไหมคะ