ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กกพ. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Fariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงเมื่อ 10 มีนาคม 2566 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายคาด 3 เหตุผลหลักที่ทำให้ศาลมีคำสั่งทุเลาว่า น่าจะปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ตามที่บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลฯ ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขึ้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ออกตามมติกพพ.หรือผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 13/2566 (ครั้งที่ 841) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เฉพาะส่วนที่ไม่มีรายชื่อของบริษัทฯหรือผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เชียวชาญทางกฎหมาย เห็นว่า การที่ศาลฯได้มีคำสั่งให้ทุเลาประกาศของสำนักงาน กกพ. มาจาก 3 ประเด็นสำคัญดังนี้
1. การดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับพลังงานลม พ.ศ.2565 ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
2. การดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าวที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย จากการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฯ จึงทำให้บริษัทฯ หรือผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามประกาศของสำนักงาน กกพ. ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566
3. สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การคัดเลือกดังกล่าวของ กกพ. ไม่ได้มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนน เกณฑ์การให้คะแนนเทคนิคขั้นต่ำผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) หรือเกณฑ์คะแนนคุณภาพ การให้น้ำหนักคะแนนมาก-น้อย ที่ใช้ในการคัดเลือก จึงอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีความโปร่งใสและยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้และจะผูกพันไปตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า โดยไม่อาจจะแก้ไขอย่างใดได้อีกตลอดระยะเวลา 25 ปี อันเป็นความเสียหายที่มิอาจเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง