วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > MAHAVAMSA: ตำนานประวัติศาสตร์แห่งลังกาทวีป

MAHAVAMSA: ตำนานประวัติศาสตร์แห่งลังกาทวีป

 
Column: AYUBOWAN
 
เรื่องราวความเป็นไปและเหตุบ้านงานเมืองของแต่ละประเทศ นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สิ้นสุดและบ่อยครั้งที่ประวัติการณ์แห่งความเป็นมาจำเริญควบคู่กับเรื่องเล่าและตำนานที่ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ไปในคราวเดียวกันด้วย
 
ต้นทางแห่งประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างประเทศของทั้งชาวสิงหลในศรีลังกา หรือแม้กระทั่งความจำเริญของพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ก็ดำเนินอยู่ในบริบทที่ไม่ได้แตกต่างจากความข้อนี้มากนัก หากแต่เรื่องเล่าและตำนานความเป็นไปเหล่านี้ได้รับการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างดีให้ผู้คนในยุคหลังได้ศึกษาและสืบค้น
 
ตำนานแห่ง Mahavamsa หรือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยว่า “มหาวงศ์” ถือเป็นตำนานประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งของสังคมศรีลังกา เพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลไล่เรียงผ่านห้วงเวลาที่ยาวนานมาสู่ยุคของการสร้างบ้านแปงเมืองในอาณาจักรอนุราธปุระ ที่จำเริญอยู่นับตั้งแต่ 377 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศักราช 1017 กล่าวสิริรวมก็ถือว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวในช่วงกว่า 1,000 ปีของประวัติศาสตร์ศรีลังกายุคต้นไว้เลยทีเดียว
 
ความสำคัญของมหาวงศ์ ในฐานะที่เป็นอภิมหาลำดับเหตุการณ์ (Great Chronicle) ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติที่เล่าขานความเป็นไปของปรากฏการณ์ในยุคต้นของลังกาทวีป ที่ประกอบส่วนด้วยประเด็นทางการเมืองและการทูตกับอาณาจักรรอบข้าง การแข่งขันช่วงชิงในราชสำนัก หากแต่มหาวงศ์ยังเป็นบันทึกว่าด้วยความจำเริญของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และถือเป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ที่รจนาขึ้นในภาษาบาลีที่ได้รับการยอมรับว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งอีกด้วย
 
ต้นทางแห่งมหากาพย์ มหาวงศ์ ที่ยิ่งใหญ่นี้ เกิดขึ้นจากการรจนาของพระมหาเถระมหานามะแห่งอนุราธปุระ (Mahanama of Anuradhapura) เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 ในยุคสมัยของ Dhatusena ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองอนุราธปุระในช่วงคริสต์ศักราช 455-473 โดยอาศัยข้อมูลทั้งจากพงศาวดาร และตำราต่างๆ ในวัดมหาวิหาร ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มารจนาในรูปแบบคาถา หรือบทกวีที่มีฉันทลักษณ์พรรณนาเหตุการณ์ความเป็นไปกว่า 3,000 โศลก
 
ลำดับของเนื้อหาใจความของ มหาวงศ์ ไล่เรียงตั้งแต่เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเยือนลังกาทวีป ซึ่งความตอนนี้ถูกถ่ายทอดเป็นอรรถคาถาถึง 84 บท และครอบคลุมช่วงเวลารวมกว่า 8 ปี ควบคู่กับเรื่องราวการสังคายนาพุทธศาสนาในชมพูทวีปอีก 423 บท คลุมระยะเวลาอีก 35 ปี
 
เนื้อหาในมหาวงศ์ต่อจากนั้นเป็นเรื่องราวของเจ้าชายวิชัย ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 543-505 ปีก่อนคริศตกาล และได้อพยพผู้คนจากแผ่นดินใหญ่ในชมพูทวีปเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมถึงสถาปนาวงศ์กษัตริย์ ตัมพปาณี (Tambapanni หรือ Thambaparni) และถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติการณ์ชนชาวสิงหลบนแผ่นดินลังกาทวีปในเวลาต่อมา
 
โศลกในบทนี้ ไล่เรียงมาจนถึงการตั้งวงศ์กษัตริย์ อุปติสสะนุวระ (Upatissa Nuwara: 504-474 ปีก่อนคริสตกาล) และการตั้งวงศ์อนุราธปุระ โดยพระเจ้าปานฑุกาภัย (Pandukabhaya: 474-367 ปีก่อนคริสตกาล) ก่อนที่ พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ (Devanampiya Tissa) ซึ่งครองราชย์ระหว่าง 307-267 ปีก่อนคริสตกาล จะทรงรับพระรัตนตรัย และประดิษฐานพุทธศาสนาในลังกาทวีป รวมคาถาในบทนี้ กว่า 326 บท และคลุมช่วงเวลากว่า 310 ปี
 
เรื่องราวถัดจากนั้นเป็นการบันทึกทั้งความเป็นไปราชวงศ์กษัตริย์และความจำเริญแห่งพุทธศาสนาควบคู่กันไปในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าหญิงเหมมาลี (Hemamali) อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานที่ลังกา รวมถึงการที่พระสังฆมิตตะเถรี (Sanghamittra) พระธิดาของพระเจ้าอโศกและพระน้องนางเธอของพระมหินทะเถระ นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาถึงลังกาและเป็นผู้เริ่มคณะภิกษุณีในลังกาด้วย
 
ความเป็นไปในมหาวงศ์ไม่เพียงแต่บันทึกเรื่องราวความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของกษัตริย์ลังกาในยุคต้นเท่านั้น หากในบทต่อๆ มายังได้กล่าวถึงการช่วงชิงอำนาจภายในราชสำนักและการต่อสู้แข่งขันให้ได้มาซึ่งอำนาจระหว่างกษัตริย์ชาวสิงหลกับกษัตริย์ชาวทมิฬ เหนือดินแดนลังกาทวีป 
 
โดยเรื่องราวในมหาวงศ์สิ้นสุดการบันทึกไว้ถึงการเสด็จสวรรคตของพระเจ้ามหาเสนะแห่งอาณาจักร อนุราธปุระ (Mahasena of Anuradhapura) ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 277-304 และหลังจากนั้นเรื่องราวความเป็นไปของลังกาทวีปก็ถูกบันทึกในรูปของพงศาวดารที่เรียกว่า จุลวงศ์ (Chulavamsa) เป็นลำดับต่อมา
 
แม้มหาวงศ์ หรือ Mahavamsa จะอยู่ในฐานะตำนานประวัติศาสตร์ที่รจนาจารึกขึ้นหลังเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปนับพันปี และยังอุดมด้วยข้อถกแถลงถึงความถูกต้องของข้อมูล แต่ด้วยเหตุที่ลังกาทวีปตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ในเส้นทางสายไหม (Silk Road) ทำให้เรื่องราวในมหาวงศ์ แผ่กว้างออกไปสู่การรับรู้ของสังคมชาวพุทธแห่งอื่นๆ อย่างกว้างขวาง และยังส่งผลให้ศรีลังกากลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวรรณคดีในภาษาบาลีอีกด้วย
 
ขณะเดียวกันการแปล Mahavamsa เป็นภาษาอังกฤษ George Turnour นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเมื่อปี 1837 และการแปลจากต้นฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาเยอรมันโดย Wilhelm Ludwig Geiger ในปี 1912 ซึ่งกลายเป็นต้นทางให้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา ได้ส่งผ่านความรู้และเรื่องราวความเป็นไปของมหาวงศ์และศรีลังกาออกไปสู่วงกว้างยิ่งขึ้นอีก
 
นอกจากนี้ ความสำคัญของมหาวงศ์ในมิติประวัติศาสตร์ ยังไม่ได้ผูกพันอยู่เฉพาะในมิติทางศาสนา หากแต่ยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าชาวสิงหลมักอ้างถึงมหาวงศ์ ในบริบทที่พยายามชี้ให้เห็นว่าดินแดนลังกาทวีปนี้เป็นดินแดนแห่งศาสนาพุทธและเป็นของชาวสิงหล ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนสองชาติพันธุ์ขึ้นสู่จุดตึงเครียดและแตกหักมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930 
 
ข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การถกแถลง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเอ่ยอ้างของชาวสิงหลเท่านั้น หากในทางกลับกันชนชาวทมิฬจำนวนหนึ่งก็ประเมินว่า กษัตริย์ของลังกาทวีปในยุคต้น ทั้งเจ้าชายวิชัย และอีกหลายพระองค์ต่างมีพื้นฐานเป็นชาวทมิฬที่อพยพมาจากชมพูทวีป และเป็นความชอบธรรมที่ชาวทมิฬจะพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้
 
เรียกได้ว่าบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับนี้ ส่งผ่านอิทธิพลทางความคิดมาสู่รูปแบบปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมศรีลังกาในยุคสมัยหลังที่ผ่านพ้นกาลเวลามานับพันปีไม่น้อยเลย ก่อนที่ปมปัญหาทางชาติพันธุ์จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานนับ 3 ทศวรรษ
 
ถ้อยความที่ระบุว่าประวัติศาสตร์เป็นประหนึ่งบทบันทึกที่จารึกโดยผู้ชนะ อาจมีส่วนจริงอยู่บ้างในกรณีที่ว่านี้ หากแต่ในความสูญเสียและขมขื่นจากการที่มนุษย์กระทำต่อกัน บางทีการระบุว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะย่อมอยู่โพ้นออกไปเกินกว่าที่จะกำหนดได้
 
หวังเพียงแต่ว่าประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราทั้งหลายสามารถเก็บรับบทเรียน และไม่ผลิตซ้ำห้วงเวลาของความโหดร้ายแห่งประวัติศาสตร์ให้ต้องเกิดขึ้นเป็นโศกนาฏกรรมต่อกันอีกนะคะ